ชีวิตที่พอเพียง 4072. ฝึกดำรงชีวิตเปี่ยมกรุณา


  

นักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่ง จะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง compassionate education (การเรียนรู้เพื่อสร้างจิตกรุณา)  และได้รับคำแนะนำให้ขอสัมภาษณ์ผม   โดยบอกว่าขอรบกวนเวลาเพียง ๑๕ นาที

ผมเคยประกาศไม่ให้สัมภาษณ์คนทำวิทยานิพนธ์โดยวิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ไว้ที่ (๑)  (๒)    แต่กรณีนักศึกษาผู้นี้แตกต่าง    เพราะแนบผลงานทบทวนวรรณกรรมมายาวเหยียด    และคิดแผนวิทยานิพนธ์ไว้หมดแล้ว     คือไม่ได้ติดต่อผมแบบจับเสือมือเปล่า    ผมจึงตอบรับนัด โดยกำหนดวันเวลาให้เรียบร้อย

ก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ ผมไม่ตอบนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสายศึกษาศาสตร์ ผู้ร้องขอสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล ๒ ราย  

อ่านเอกสารที่แนบแล้วผมเกิดความรู้สึกว่า ท่านผู้นี้ทบทวนวรรณกรรมมามากเกินไป   และอย่างไม่ได้กำหนดลำดับความสำคัญ    รวมทั้งมีการสังเคราะห์น้อยไป    และที่สำคัญ มองการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตกรุณาแบบเรียนรู้ระยะสั้น     ในขณะที่ผมเชื่อว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบค่อยๆ สั่งสมจากชีวิตจริง     ผ่านประสบการณ์จริง ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง (และในหลายกรณี อย่างเจ็บปวด)    พูดภาษาสมัยใหม่ว่า pain point เป็นบ่อเกิดของจิตกรุณา    หากผู้นั้น “คิดเป็น”  ในลักษณะของ critical reflection    

หนังสือ Twelve Steps to a Compassionate Life : The step-by-step guide to bringing more compassion into the world (2010)  เขียนโดย Karen Armstrong อดีตแม่ชีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง    บอกว่าจิตกรุณาเริ่มจากทักษะในการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”   หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่นยามเขามีทุกข์ (empathy)    แต่ที่ดียิ่งกว่าจิตกรุณา คือพฤติกรรมกรุณา   ที่หนังสือเล่มนี้บอกว่า เชื่อมโยงไปยังความเสียสละ (altruism) (แต่ผมคิดว่าพฤติกรรมกรุณาไม่จำเป็นต้องเสียสละเสมอไป ในหลายกรณีอาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม)     เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่การได้เอื้อจิตกรุณาและพฤติกรรมกรุณา นำไปสู่ความสุข  ความพึงพอใจในชีวิต   

พฤติกรรมกรุณาไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเสียสละมากมาย   เพียงถ้อยคำให้กำลังใจ ในกรณีที่ผู้อื่นกำลังไม่มั่นใจตนเอง ก็เป็นพฤติกรรมกรุณาที่ยิ่งใหญ่ได้   พฤติกรรมกรุณาแสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ    

หนังสือแนะนำวิธีฝึก ๑๒ ขั้นตอน ที่ในที่สุดแล้วฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา     คือเราปฏิบัติโดยไม่รู้สึกตัว    เมื่อเข้าสู่สภาพนั้น ก็หมายความว่าเราได้เกิด “การเปลี่ยนใหญ่” (transformation) ขึ้นภายในตัวเรา     โดยพึงตระหนักว่า กระบวนการนี้มีธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป   

ขั้นตอนแรกคือทำความเข้าใจ จากการอ่าน (สมัยนี้ดู YouTube ก็ได้ เช่นค้นด้วยคำว่า กรุณาภาวนา)    จะให้ง่ายขึ้นก็ชวนเพื่อนๆ มาตั้งวงอ่าน (ดู) แล้วเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ที่อาจเรียก COP หรือ PLC    ขั้นตอนที่สอง สังเกตจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว    มองสังคมด้วยแว่นกรุณาจิต ตั้งคำถามและทำความเข้าใจคุณค่าของจิตและพฤติกรรมกรุณา

ขั้นตอนที่สาม  ฝึกให้ความกรุณาแก่ตนเอง    คนเราจะมีกรุณาจิตต่อผู้อื่นได้ ต้องมีกรุณาจิตต่อตนเองเป็น    ผมตีความว่า มิติหนึ่งคือการให้อภัย ให้ความเห็นอกเห็นใจ  และมองเห็นจุดแข็งของตนเองเป็น   เพื่อจะมองเห็นจุดแข็งของคนอื่น   

ขั้นตอนที่สี่  ฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา   หรือเอาใจเราไปเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขา     เข้าใจความทุกข์ของเขา (empathy)   ซึ่งจะช่วยให้เราพร้อมที่จะช่วยเหลือ    ขั้นตอนที่ห้า  ฝึกเจริญสติ (mindfulness)  ให้จิตอยู่กับปัจจุบันขณะ  มีสติระลึกรู้ความคิดและความรู้สึกของตน ไม่วอกแวก   ซึ่งจะช่วยให้พุ่งความสนใจไปที่จิตกรุณาได้โดยง่าย   

ขั้นตอนที่หก   ฝึกปฏิบัติการให้เมตตาเล็กๆ น้อยๆ  เช่นรับฟังความคับข้องใจของเพื่อนร่วมงาน   ไปเยี่ยมผู้สูงอายุ       ขั้นตอนที่เจ็ด  เปิดใจรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น   คือฝึกความมีใจกว้าง เปิดรับความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากความคิดหรือความเชื่อของตนเอง 

ขั้นตอนที่แปด  ฝึกสนทนาด้วยไมตรีจิต   ให้ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคู่สนทนา หรือวงสนทนา    ซึ่งหมายความว่า เราต้องฝึกฟังผู้อื่น   เริ่มจากการฟังคนในกลุ่มเดียวกัน คิดคล้ายๆ กัน    ขั้นตอนที่เก้า รับฟังและเข้าใจคนกลุ่มอื่นที่แตกต่างจากเรา    ฝึกทำใจว่า ทุกคนควรได้รับความรักความเข้าใจจากเรา   

ขั้นตอนที่สิบ ฝึกมองสรรพสิ่งให้เห็นหรือเข้าใจครบทุกด้าน    ผมเข้าใจว่า จริตของการมองโลกในแง่ดี หรือมองให้เห็นด้านดีของสรรพสิ่ง จะช่วยได้มาก   ขั้นตอนที่สิบเอ็ด ใช้ความรู้และความกรุณานำไปสู่การมีปณิธานในชีวิต (personal mission)  หรือการค้นพบตัวเอง   

ขั้นตอนที่สิบสอง  จงรักศัตรูของท่าน    คือให้มีความกรุณาต่อศัตรูนั่นเอง    สมัยผมอายุสามสิบต้นๆ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้วสอนผมว่า “ศัตรูคือยาชูกำลัง” หลังจากนั้นอีกสี่ห้าปี ผมได้มีโอกาสฝึกวิทยายุทธนี้    มีผลเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรแท้จำนวนมาก  จากการที่ผมไม่ใช่เพียงให้ความกรุณาเขาเท่านั้น ยังให้ศรัทธา     คือมอบงาน หรือความรับผิดชอบสำคัญให้     

มนุษย์มีความกรุณาอยู่ในตนตามธรรมชาติ    อยู่ในระบบสมอง ที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์   ในท่ามกลางความซับซ้อนของชีวิต  ธรรมชาตินั้นอาจถูกบดบัง หรือถูกชักจูงไปในทางตรงกันข้าม    จากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นสมองด้านตรงกันข้าม    การฝึกให้มีจิตและพฤติกรรมกรุณา     จะช่วยให้มีชีวิตที่มีความสุข    และช่วยเปลี่ยนโลกให้เป็นดินแดนแห่งสันติสุข

ผู้สัมภาษณ์ส่งคำถามมาให้ล่วงหน้า ๖ ข้อ  และผมตอบดังนี้ 

๑.ในทัศนะของท่าน จิตกรุณาคืออะไร

จิตกรุณาคู่กับพฤติกรรมกรุณา ที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ    ที่เอื้อเฟื้อให้ความสุขความพอใจ แก่ผู้อื่น   มีความสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และช่วยลดความอึดอัดขัดข้องหรือความทุกข์ของเขา    เป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้อื่นได้    ทางพุทธถือว่าเป็นธรรมะหนึ่งในสี่ของพรหมวิหาร  เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา     ผมมองว่าเป็นเครื่องมือทางสังคม หรือจิตสังคม    เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น มีความสุขร่วมกัน        

๒.ในทัศนะของท่าน ท่านคิดว่าเมื่อคนเรามีความทุกข์หรือมีความเปราะบางทางจิตใจ อะไรที่ทำให้เขาสามารถปรับความคิด และทำให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

การมีสติระลึกรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง    แต่ไม่ตกเป็นทาสของความรู้สึกนั้น    อากาศร้อนก็รู้ว่าร้อน แต่ไม่ตกเป็นทาสของความร้อนนั้น    แยกผัสสะกับจิตตะออกจากกัน    ยกตัวอย่างเมื่อเริ่มแต่งงานผมฝึกนั่งเขียนรายงานวิจัยโดยทีวีเปิดอยู่ตรงหน้า เพราะภรรยาต้องการนอนดู ในห้องนอนเล็กๆ   ได้โอกาสฝึกสมาธิจดจ่อ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาจนปัจจุบัน   

๓.หากคนเราไม่มีจิตกรุณาจะเป็นอย่างไร

จะเป็นคนที่ชีวิตไม่เจริญ ไม่ก้าวหน้า สังคมไม่ดี   เพราะจิตกรุณาเป็น social tool อย่างหนึ่ง   

๔.ในทัศนะของท่าน ผู้มีจิตกรุณามีคุณลักษณะ/องค์ประกอบ เป็นอย่างไร

จิตกรุณาต้องอยู่เป็นชุด   คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา    เป็นคนน่าคบ สังคมดี   ตนเองมีความสุข    โดยต้องมีปัญญา หรือสัมมาทิษฐิ ประกอบด้วย   

๕.จากความคิดเห็นของท่านในแต่ละองค์ประกอบที่ท่านได้กล่าวมา ท่านคิดว่านักศึกษระดับอุดมศึกษาผู้มีจิตกรุณามีคุณลักษณะอย่างไร

ไม่ว่าจะเรียนสูงต่ำ คนมีจิตกรุณามีคุณลักษณะไม่ต่างกัน

๖. ท่านคิดว่า เราจะสามารถเสริมสร้างจิตกรุณาของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างไร

เราสร้างให้เขาไม่ได้    เขาต้องสร้างใส่ตัวเอง   เราช่วยได้โดยจัดระบบนิเวศที่เอื้อ    และช่วยฝึกโยนิโสมนสิการ หรือ critical reflection ใคร่ครวญไปในทางดี   โดยช่วยตั้งคำถามให้เขาใคร่ครวญในมิติที่ลึก และโน้มไปในทางกุศล       

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692944เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2021 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2021 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท