ค้นพบหลุมดำของคุณภาพการศึกษาไทย


 

ดังเล่าแล้ว ในบันทึกเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการปฏิรูประบบการประเมิน (๑)   ว่าระบบการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ระบบการศึกษาไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน น่าจะเป็นตัวฉุดรั้งคุณภาพอย่างร้ายแรง   

สำหรับผม วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงถือเป็นวันค้นพบ “black hole” ของระบบการศึกษาไทย    ที่ความตั้งใจดี  ออกแบบระบบวัดและประเมินผลการศึกษาอย่างดี    กลับเป็นตัวบ่อนทำลาย  

บ่อนทำลายคุณภาพการศึกษาเพราะทำให้ครูใช้การประเมินเพื่อรายงานหน่วยเหนือ    ละเลยคุณค่าของการประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ของศิษย์   ละเลยการฝึกศิษย์ให้ประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองเป็น   เพื่อพัฒนาตนเองสู่ผู้มีสมรรถนะกำกับการเรียนรู้ของตนเอง     เพื่อมีสมรรถนะของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต   

โปรดสังเกตว่า    ความผิดพลาดของระบบการวัดและประเมินผลการศึกษาของไทย มาจากวิธีคิดแบบชั้นเดียว และคิดแบบเส้นตรง (linearity)    ไม่คิดแบบซับซ้อน (complexity)    ในขณะที่การศึกษาหรือการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน   

เดิมเราเข้าใจว่า การสอน เป็นกิจกรรม OLE (objective, learning experience, evaluation) ตามลำดับ   แต่ต่อมาเรารู้ว่าแต่ละขั้นตอนของ OLE มันไม่แยกออกจากกัน    ตอนครูจัดกระบวนการเรียนรู้ (L)  ก็ต้องใช้ O  คือให้นักเรียนรู้และเข้าใจ O (objective) ของการเรียนคาบนั้น หรือช่วงนั้นอย่างลึก   ว่าเรียนไปทำไม มีคุณค่าต่อชีวิตในอนาคตของตนอย่างไร   เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนอย่างมีเป้าหมาย    และระหว่างจัดกระบวนการเรียนรู้ (L) ครูก็ใช้ E หนุน L    โดยแปลง E (evaluation) เป็น A (assessment)    ครูทำ formative assessment ต่อ L ของศิษย์   ตามด้วยการให้ CF (constructive feedback) แก่ศิษย์   เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้ก้าวหน้าหรือลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    โดยมีรายละเอียดใน หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ และ บล็อก ชุด การประเมินเพื่อมอบอำนาจ

E ไม่ใช่กิจกรรมสำหรับครูเท่านั้น    เป็นกิจกรรมสำหรับหนุนให้นักเรียนบรรลุ O ในระดับ “ติดตัวไปตลอดชีวิต”  คือสร้างความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต   ไม่ใช่แค่ประเมินเพื่อยกระดับการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ หรือกิจกรรมเรียนรู้นั้นๆ   

จะเห็นว่า ระบบการวัดและประเมินผลการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด    มีไว้เพื่อเน้นให้ครูและโรงเรียนรายงานผลการประเมินมายังส่วนกลาง   ละเลยการประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียนไปอย่างที่เรียกได้ว่า เกือบจะสิ้นเชิง    มีผลให้ครูละเลยคุณค่าของการประเมินส่วนที่ผมให้น้ำหนักคุณค่าร้อยละ ๙๐   คือประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน     หันไปเน้นการประเมินเพื่อรายงานหน่วยเหนือ ที่ผมให้น้ำหนักคุณค่าเพียงร้อยละ ๑๐   

 ระบบดังกล่าว ลดทอนคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นครูไปอย่างไม่ตั้งใจ    เราเห็นผลตำตาอยู่ในปัจจุบัน   

เป็นระบบที่แย่งความสนใจของครู    จากเน้นสนใจสนองการเรียนรู้ของศิษย์  ไปเน้นสนใจสนองนายหรือหน่วยเหนือ   ที่ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำเรื่อยมา     ผมเสนอแนวความคิดนี้ เพื่อช่วยกันหาทางฟื้นคุณภาพการศึกษาไทย    โดยที่ผมไม่รับรองว่า ความเข้าใจของผมจะถูกต้อง    เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ด้านการศึกษา            

มองจากมุมหนึ่ง นี่คือหลุมดำเชิงอำนาจ   ที่นักเรียนไร้อำนาจในการต่อรองเชิงระบบ   แต่คนในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจ เหนือโรงเรียนและครู   จึงจัดระบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของตนในนามของการจัดการระบบ     และลดทอนผลประโยชน์ด้านการประเมินเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยไม่ตั้งใจ   หากข้อวิเคราะห์นี้เป็นความจริง   ระบบการศึกษาไทยจะต้องปฏิรูประบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้เปลี่ยนเป็นระบบที่เอื้อนักเรียนเป็นหลัก   เอื้อหน่วยเหนือเป็นรอง 

ที่สำคัญคือ ต้องไม่ทิ้งคุณค่าของการประเมิน แนว formative assessment ไปโดยสิ้นเชิงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   

ขอขอบคุณวงประชุมคณะกรรมการอำนวยการการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เอื้อให้ผมมองเห็นหลุมดำนี้   

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๖๔

 

 



ความเห็น (2)

I think we have “homework” and “marking homework” as a common tool for assessment of students learning. Though the objects of learning are just subjects –impersonal rather than students’ learning –personal or development. This tool is used ‘mechanically’ focusing on ‘mapping’ or ‘memorization’, mostly without considerations for students’ learning. For example teachers would assess a homework by adding ticks on correct answers (from a list like 1. ก, 2. ค, … 9. x, …).

Some years back there are a lot of posts on Gotoknow on the results of ‘teaching research’ (conducted in pursuit of a higher classification) with very much the same ‘format’. These research showed high degrees of ‘imitation’ than ‘innovation’.

I had observed some ‘practices’ in the ‘public service’ (not just in education systems) and write about them in poems (links below). I think they are ‘cultural issues’ that may be helped by more ‘social networking’ ;-)

Surely without inefficiency, we’d meet our targetIn Time, At Cost and On SpecWith Pride, In Honesty and Thru’ Audit CheckSurely with that integrity, we’d pass standards set.…[Creating Efficiency 21C]https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/613534

ตั้งโครงการ งบประมาณ ประมูลจัดใช้ทางลัด จัดสรร ลดปัญหารีบรับของ เซ็นผ่าน ก่อนงานมาเรื่องราคา คุณภาพ ตามกาพย์กลอน…[ขอรับฉัน (เล่นคำตาย)]https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/435036

ถึงเวลา แดดเบา กลิ่นเหล้าคลุ้งงานไว้พรุ่ง เมาแล้วพลาด อาจขึ้นศาลไถลเลย ผิดลบ แค่หลบงานเลิกกลับบ้าน การกรม ล้มอีกวัน,,,[เสียงสดับ (ปรับแรง แกล้งวรรณกรรม)]https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/437600

เห็นด้วยกับอาจารย์ ระบบการศึกษาตอนนี้ เป็น “black hole” จริงๆ อาจารย์วิเคราะห์ตรงไปตรงมา ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยเป็นกระจกสะท้อนวงการศึกษาให้สังคมได้ห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท