ยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการปฏิรูประบบการประเมิน


 

นี่คือข้อเสนอแบบเปลี่ยนกระบวนทัศน์   ที่ปิ๊งขึ้นมาระหว่างร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ   เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ 

ในการประชุมมีการเสนอร่างแนวคิดเรื่องแนวทางวัดและประเมินผลการเรียนรู้    ที่มีการปรับจากคำแนะนำและคำถามในการประชุมครั้งที่แล้ว    การนำเสนอจึงเป็นระบบดีมาก    ช่วยให้ผมเห็นภาพใหญ่ของ การประเมินในระบบการศึกษาไทยชัดเจน    ว่านี่คือจุดบอดสำคัญของคุณภาพการศึกษาไทย    คือระบบการประเมินเป็นระบบที่ไม่มุ่งหนุนการเรียนรู้ของเด็ก    แต่มุ่งหนุนรายงานผลงานของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในระบบการศึกษา     ตรงตามที่ระบุใน WDR 2018

การนำเสนอ ช่วยให้เห็นสัดส่วนน้ำหนักของการประเมินเพื่อเด็ก : การประเมินเพื่อระบบ  เท่ากับ ๑๐ : ๙๐   ในขณะที่สัดส่วนที่ถูกต้องควรเป็น ๙๐ : ๑๐    คือนักวิชาการในระบบการศึกษามองเห็นการประเมินเฉพาะส่วนของการประเมินเพื่อรายงานผลงานขึ้นไปตามลำดับเท่านั้น    ไม่เห็นการประเมินเพื่อเด็ก หรือประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ (assessment for learning)     และการประเมินในฐานะส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ (assessment as learning) 

ผมตีความว่า ผมได้ค้นพบ “ภูเขาน้ำแข็งของคุณภาพการศึกษาไทย”   หรือ “ความลี้ลับของความด้อยคุณภาพ” ของการศึกษาไทย   ที่หากดำเนินการแก้ไข   คุณภาพการศึกษาไทยจะกระเตื้องขึ้น   แต่หากละเลย ไม่แก้ไขอย่างจริงจัง   แม้จะดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างดี    คุณภาพการศึกษาก็จะไม่ดีขึ้น   

นี่คือจุดคานงัด ของคุณภาพการศึกษาไทย   

การประเมิน ต้องบูรณาการอยู่ในทุกขั้นตอนการทำงานของครู   คือเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายว่า ในบทเรียนนั้น (หรือชุดบทเรียนในสัปดาห์นั้น) มีเป้าหมายให้นักเรียนบรรลุสมรรถนะอะไรบ้าง  วัดหรือสังเกตได้อย่างไร    และใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างไรบ้าง (ออกแบบกระบวนการเรียนรู้)   แล้วครูทำความเข้าใจกับนักเรียนในเรื่องเป้าหมาย  ระดับของการบรรลุเป้าหมาย  และวิธีประเมินว่าบรรลุเป้าแค่ไหน    โดยต้องไม่ลืมทำความเข้าใจกับนักเรียนว่า การบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้นั้นมีคุณค่าต่อนักเรียนอย่างไร     ในระหว่างเรียนโดยทำกิจกรรม ครูชวนนักเรียนฝึกประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของตน (self-assessment)    และผลัดกันประเมินกับเพื่อน (peer assessment)    โดยเน้นประเมินระดับการบรรลุสมรรถนะ    ไม่ใช่แค่ประเมินว่าบรรลุหรือไม่บรรลุ   

เท่ากับกระบวนการประเมิน บูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง ที่เรียกว่า formative assessment หรือประเมินเพื่อพัฒนา   ครูฝึกศิษย์ให้ประเมินระดับการบรรลุเป้าหมายการเรียนของตนเป็น และมีทักษะ feedback แก่ตนเองให้มุมานะยกระดับผลลัพธ์การเรียนของตนเอง เพราะรู้ว่ามีคุณค่าต่อชีวิตของตน    กระบวนการนี้จะค่อยๆ พัฒนา “สมรรถนะในการกำกับการเรียนรู้ของตนเอง” ของนักเรียน    คือนักเรียนพัฒนาความเป็น self-directed learner ของตนเอง     สมรรถนะนี้จะเป็นส่วนสำคัญให้นักเรียนมีทักษะ lifelong learning   เป็นคุณต่อนักเรียนไปตลอดชีวิต   

จะเห็นว่า หากเอาใจใส่ “ระบบประเมินเพื่อนักเรียน” จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศในมิติที่ลึก และทรงพลัง    ที่วงการศึกษาไทยในปัจจุบันละเลยโดยไม่รู้ตัว   

ระบบ formative assessment + constructive feedback เพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน    ทั้งที่สมรรถนะตามเป้าหมายที่กำหนด    และที่การค่อยๆ พัฒนาความเป็นผู้มีสมรรถนะในการกำกับการเรียนรู้ของตนเอง ให้แก่นักเรียน    จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย    ให้หลุดจาก “หลุมพรางการศึกษาคุณภาพต่ำ”    รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ และ บล็อก ชุด การประเมินเพื่อมอบอำนาจ

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๖๔

     

       



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท