กบในกะลา


กบในกะลา

กบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anura มีรูปร่างโดยรวม คือ เป็นสัตว์ไม่มีหาง เพราะกระดูกสันหลังส่วนหางได้เชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว กระดูกสันหลังลดจำนวนลงมาจากสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีไม่เกิน 9 ปล้อง มีขาหลังยาวจากการยืดของกระดูกทิเบียกับกระดูกฟิบูลา และของกระดูกแอสทรากากัส กับกระดูกแคลลาเนียม โดยมีบางส่วนเชื่อมติดกันและเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อแข็งแรง เพื่อใช้ในการกระโดด มีส่วนหัวที่ใหญ่และแบนราบ ปากกว้างมาก

กบในระยะวัยอ่อนจะมีลักษณะแตกต่างไปจากตัวเต็มวัยอย่างชัดเจน เรียกว่า ลูกอ๊อด มีรูปร่างคล้ายปลา มีส่วนหัวที่โตมาก มีหาง ไม่มีฟัน ในส่วนโครงสร้างของจะงอยปากเป็นสารประกอบเคอราติน หายใจด้วยเหงือกเหมือนซาลาแมนเดอร์ พฤติกรรมการกินอาหารของลูกอ๊อดจะแตกต่างกันไป อาจจะกินพืชและกินสัตว์ เมื่อเปลี่ยนรูปร่างเป็นตัวเต็มวัยจึงเปลี่ยนลักษณะการกิน รวมทั้งเปลี่ยนสภาพโครงสร้างของอวัยวะระบบย่อยอาหาร รวมทั้งระบบอวัยวะอย่างอื่น ซึ่งการเปลี่ยนรูปร่างของกบนั้นจะต่างจากซาลาแมนเดอร์เป็นอย่างมาก

(Salamander สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในชั้นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ)

การสืบพันธุ์ของกบนั้นมีหลากหลายมาก ส่วนการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นภายนอกตัว โดยทั้ง 2 เพศมีพฤติกรรมกอดรัดกันระหว่างผสมพันธุ์ กบส่วนมากจะป้องกันดูแลไข่ นอกจากบางชนิดเท่านั้นที่เก็บไข่ไว้บนหลัง ที่ขา ในถุงบนหลัง หนือในช่องท้อง หรือบางชนิดวางไข่ติดไว้กับพืชน้ำที่เติบโตในน้ำ หรือบนกิ่งไม้ของต้นไม้เหนือน้ำและเฝ้าไข่ไว้

การปฏิสนธิที่เกิดขึ้นภายในตัวจะพบเพียงกับกบบางชนิดเท่านั้น เช่น Ascaphus truei เป็นต้น และการเจริญของเอมบริโอภายในไข่และวัยอ่อนที่ออกจากไข่มีรูปร่างเป็นเหมือนตัวเต็มวัยเลย โดยไม่ผ่านขั้นการเป็นลูกอ๊อดเกิดขึ้นกับหลายสกุลในหลายวงศ์ เช่น สกุล Hemiphractus และ Stefania เป็นต้น

กบเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาแล้ว 200 ล้านปี และเป็นสัตว์ที่อยู่รอดพ้นมาได้จากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้เชื่อว่า เพราะกบเป็นสัตว์ที่หลบซ่อนตัวอยู่ใต้ดินได้เป็นอย่างดี และเป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศแบบใหม่ได้ดี 

จากการศึกษาพบว่า กบในยุคปัจจุบันราวร้อยละ 88 เป็นกบที่มีที่มาจากอดีตที่สามารถย้อนไปไกลได้ถึง 66-150 ล้านปีก่อน โดยศึกษาจากการตรวจสอบทางพันธุกรรมและเปรียบเทียบระดับยีนและโมเลกุลระหว่างกบในยุคปัจจุบันกับซากดึกดำบรรพ์ของกบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบว่า กบใน 3 วงศ์ที่พบในทวีปแอฟริกาและ Hyloideaที่พบในทวีปอเมริกาใต้ เป็นกบที่สืบสายพันธุ์มาจากกบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และปัจจุบันได้มีการสืบสายพันธุ์และแตกแขนงทางชีววิทยาไปทั่วโลก

กบพันธุ์พื้นเมืองของไทย ได้แก่

กบนา (Rana Rugulosa) เป็นกบขนาดกลางที่พบมากที่สุดในประเทศไทย พบได้ทุกภาค และนิยมเลี้ยงมากที่สุด

กบจาน ( Rana rugulosa wingman) เป็นกบขนาดใหญ่ มีความยาวของลำตัว 10-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักได้ถึง 250-600  กรัม รูปร่างทั่วไปจะคล้ายกับกบนา แต่กบจานจะมีสีน้ำตาลปนเขียว และมีแถบจางๆพาดบริเวณริมฝีปากที่ใต้คาง

กบทูด (Rana blithe) หรือ กบยักษ์ หรือ กบดง หรือ กบคลอง เป็นกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวได้ถึง 20-25 เซนติเมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 1.5-3 กิโลกรัม มีลักษณะทั่วไปคล้ายตะปาด หัวมีขนาดสั้น มีปากรูปทรงแหลม ตัวผู้มีเขี้ยวออกจากขากรรไกร ส่วนตัวเมียจะมีเหมือนกันแต่สั้นกว่า ริมฝีปากบนและล่างมีจุดสีดำ ลำตัวค่อนข้างยาว ผิวหนังเรียบ สีน้ำตาล หรือน้ำตาลแดงอมดำ ไม่มีตะปุ่มเหมือนกบนา ส่วนใต้คางและหน้าท้องมีสีน้ำตาลอ่อนปนสีครีม ส่วนขามีลายพาดสีน้ำตาล มีนิ้วของขาหน้าอันแรกยาวกว่าขาอันที่ 2 กบชนิดนี้พบได้เฉพาะบริเวณป่าเขาใกล้แม่น้ำ

กบบัว เป็นกบที่มีขนาดเล็กที่สุด ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณตัวละ 30-40 กรัม ผิวหนังลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลอ่อน

 

กบภูเขา หรือ เขียดแลว (Asiatic giant frog) กบภูเขาหรือเขียดแลวเป็นกบคนละชนิดกับกบทูด แต่มีขนาดใกล้เคียงกัน หรืออาจใหญ่กว่า น้ำหนักตัวอาจพบได้ถึง 3-3.5  กิโลกรัม รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายตะปาด แต่จะมีแถบลายดำในช่วงระหว่างตากับจมูก

กบบลูฟร็อก (Rana catesbeianashow) เป็นกบสายพันธุ์ต่างประเทศ มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาวได้ถึง 16-20 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 0.8-1.2 กิโลกรัม เป็นกบที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นกบที่เลี้ยงได้ดี แต่ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่ากบนากว่าจะจับจำหน่ายได้ ปัจจุบันไม่นิยมเลี้ยงหรือรับประทาน

เสียงร้องของกบ
มี 2 ลักษณะ คือ
1. เสียงร้องตอนผสมพันธุ์ จะร้องเสียง "อบ" "อบ" เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า "กบ" เสียงนี้จะใช้เพื่อเรียกหาคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะได้ยินบ่อยในช่วงต้นฤดูฝน ขณะฝนตก หรือหลังฝนตก เพราะกบจะออกมาบริเวณแหล่งน้ำขังเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่
2. เสียงร้องให้ช่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดจากความกลัว กบจะร้อง" แอ้บ" "แอ้บ" เป็นจังหวะ เช่น กบขณะถูกงูกิน กบที่กำลังถูกจับ เป็นต้น

สำนวน "กบในกะลา" หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย จำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ แต่สำคัญว่ามีความรู้มาก สำนวนนี้บางครั้งก็ใช้ว่า "กบในกะลาครอบ" มักใช้กับคนที่ทะนงกับฝีมือหรือความสามารถของตน โดยไม่ได้คิดเลยว่าความรู้ความสามารถของตนนั้นน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับผู้อื่น

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงกบที่อยู่ในกะลาซึ่งไม่เคยออกไปพบเห็นโลกภายนอก ดังนั้นจึงมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญอยู่ในกะลา พื้นที่แคบๆของตนเท่านั้น

ตัวอย่าง
วันนี้โรงเรียนได้พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ต่างจังหวัด เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ นอกห้องเรียน จะได้ไม่เป็นกบในกะลา

เธออยู่แต่ในบ้าน โทรทัศน์ก็ไม่ดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่ชอบอ่าน เหมือนกบในกะลา

ไม่เปิดใจดูโลกกว้างเป็นอย่างไร
มโนไปว่าตนเองเก่งหนักหนา
เปรียบเหมือนกบเฟอะฟะในกะลา
หลงคิดว่าตัวเองใหญ่หาใดเทียม
 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692650เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2021 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท