หลักสูตรฐานสมรรถนะ


 

ประเทศไทยมีการเตรียมการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะมาหลายปี   เวลานี้มีเว็บไซต์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะที่ cbethailand.com   นักการศึกษาที่ทำงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดคือ รศ. ดร. ทิศนา แขมมณี ราชบัณฑิต (๑)   ใน PowerPoint ชุดนี้ (๑) หน้า ๒๔ ระบุองค์ประกอบ ๗ ประการของสมรรถนะคือ (๑) ความรู้  (๒) ทักษะ (๓) คุณลักษณะ / เจตคติ  (๔) การประยุกต์ใช้  (๕) การกระทำ / การปฏิบัติ  (๖) งานและสถานการณ์ต่างๆ   (๗) ผลสำเร็จตามเกณฑ์ที่กำหนด 

    ในตอนท้ายของ ใน PowerPoint ชุดดังกล่าว  แตะบทบาทหรือสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ต่อการประยุกต์ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ    ซึ่งผมอดเสริมไม่ได้ว่า สมรรถนะสำคัญที่สุดในความเห็นของผมคือ สมรรถนะในการเรียนรู้ร่วมกันกับครูและโรงเรียน   และสมรรถนะการเป็น “ช่างเชื่อม” เชื่อมโยงวิธีการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่ทำได้ดีของแต่ละโรงเรียนที่ไปพบ ออกสู่วงการศึกษา   เพื่อช่วยกันชับเคลื่อนระบบการศึกษาภาพใหญ่   

ใน PowerPoint ชุดดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า สมรรถนะมี ๒ กลุ่ม คือสมรรถนะทั่วไป กับสมรรถนะเฉพาะด้าน     ความท้าทายอยู่ที่การจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะทั้งสองกลุ่ม ยกระดับขึ้นได้ในระดับที่น่าพอใจ   

สมรรถนะหลัก ๖ ด้าน 

จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการในคณะกรรมการการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ครั้งที่ 4/2564 วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564   เป็นที่แน่นอนแล้วว่า    จะมีสมรรถนะหลัก ๖ ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการตนเอง และสุขภาวะกาย-จิต 2) การสื่อสารด้วยภาษาต่างๆ อย่างฉลาดรู้   3) ความสามารถในการจัดการและทำงานเป็นทีม  4) การคิดขั้นสูง และความสามารถในการเรียนรู้   5) การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีคุณธรรม จริยธรรม และ 6) ความเข้าใจระบบธรรมชาติ วิทยาการและเทคโนโลยี      โดยจะต้องเชื่อมโยง ๖ สมรรถนะหลักเข้ากับสาระการเรียนรู้   ซึ่งในช่วงชั้นที่ ๑ (ป. ๑ - ๓) มี ๗ สาระ ได้แก่   1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) ภาษาอังกฤษ 4) ศิลปะ 5) สุขศึกษาและพลศึกษา 6) ประวัติศาสตร์หน้าที่พลเมืองและ ศีลธรรม และ 7) วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ 

นอกจากนั้น ยังกำหนดระดับการบรรลุสมรรถนะ ๔ ระดับคือ (๑) เริ่มต้น  (๒) กำลังพัฒนา  (๓) สามารถ และ   (๔) เหนือความคาดหวัง    รวมทั้งความเชื่อมโยงของแต่ละสมรรถนะเข้ากับสาระการเรียนรู้ไว้อย่างดีมาก   ทำให้เห็นภาพของความซับซ้อนของการเรียนรู้ที่ครูจะต้องจัดการเป็น   

สมรรถนะของครูในการจัดการความซับซ้อนของกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ คือประเด็นหลักในการจัดการหลักสูตรฐานสมรรถนะใน ๑๐ ปีข้างหน้า    การหนุนให้ครูพัฒนาสมรรถนะนี้ของตน ผ่านการปฏิบัติงาน เป็นหัวใจของฝ่ายบริหารระบบการศึกษา   

ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ มีการนำเสนอเรื่อง แนวทางวัดและประเมินผลการเรียนรู้    ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ที่เสนอนั้นดีมาก แต่เป็น summative evaluation ทั้งหมด   ซึ่งผมให้น้ำหนักเพียง ๑๐ ใน ๑๐๐  อีก ๙๐ ใน ๑๐๐ ผมเน้นที่ formative assessment    ที่เป็น assessment for learning    และ assessment as learning   คือต้องฝึกให้นักเรียนประเมินตนเองเป็น   รวมทั้งได้ฝึกประเมินเพื่อน (peer assessment) ด้วย    เรื่องนี้ผมเสนอไว้แล้วในบันทึก (๒)    ที่ทีมงานหลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องหาวิธีหนุนให้ครูมีสมรรถนะนี้    ขอย้ำว่า ต้องเน้นสร้างวัฒนธรรมหนุนครู ไม่ใช่อบรมครู   ต้องเน้นหนุนให้ครูพัฒนาสมรรถนะของตนเอง ๙๐ ใน ๑๐๐ ส่วน    ใช้วิธีอบรมครูเพียง ๑๐ ใน ๑๐๐ ส่วน    เพื่อมุ่งสร้างครูผู้ก่อการ    ตามที่เสนอไว้ในบันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ 

ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ มีการแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรฐานสรรถนะ (๓)   (๔)    ที่ผมมองว่า เป็นกระบวนการทางการเมือง    ที่ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสม    แต่ไม่ใช่ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด 

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือวิธีหนุนครูที่ทำงานในแนวพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว และได้ผลดีในระดับหนึ่ง   ให้ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ต.ค. ๖๔

 

   

   

หมายเลขบันทึก: 692879เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2021 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2021 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท