หมู เห็ด เป็ด ไก่


หมู เห็ด เป็ด ไก่

สำนวนไทยนั้นมีมากมายและมีความไพเราะด้วยเสียงสัมผัสคล้องจองกัน ซึ่งช่วยให้ออกเสียงได้ง่ายและสะดวกแก่การจดจำ แต่มีบางสำนวนที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยใช้กันผิดความหมายมาตลอด เช่น สำนวน " หมู เห็ด เป็ด ไก่ " เป็นสำนวนที่เรามักใช้เรียกสัตว์ และเข้าใจกันไปว่าใช้ในความหมายที่ตรงตามตัว แต่ความจริงแล้วเป็นสำนวนทั้งนี้เพราะไม่ได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ตัวใดเลยแม้แต่น้อย "หมู เห็ด เป็ด ไก่" เป็นสำนวนการท่องสูตรยารักษาโรคกษัยของคนในสมัยก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้ง ตัวเหลือง เท้าเย็น และหมู เห็ด เป็ด ไก่  ดังกล่าวก็มาจากชื่อของหญ้าสมุนไพร อันเป็นส่วนประกอบของยาขนานนี้นั่นเอง ได้แก่ หญ้าแห้วหมู ใบชุมเห็ดเทศ รากต้นตีนเป็ด และใบมะคำไก่ เมื่อนำมาต้มรวมกันเลยกลายเป็น "หมู เห็ด เป็ด ไก่" ตามที่พูดกันจนชินปากทุกวันนี้

หญ้าแห้วหมู หรือหญ้าขนหมู 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyperus rotundus เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์กก เป็นพืชจำพวกไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเป็นหัวกลม สั้น มีตาจำนวนมากและสามารถแทงไหลไปได้ไกลแล้วเกิดหัวใหม่เจริญขึ้นเหนือดิน ใบของหญ้าแห้วหมูเกิดที่ลำต้น โดยเป็นใบแบน ปลายแหลม กลางใบเป็นสันร่อง ผิวใบเรียบสีเขียวเข้ม กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร

ดอกของหญ้าแห้วหมูเกิดที่ปลายยอด ก้านช่อดอกเป็นรูปเหลี่ยมสีเข้มแทงขึ้นสูง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วแตกเป็นช่อย่อยอีกหลายช่อ ดอกย่อยสีน้ำตาลจำนวนมาก หญ้าแห้วหมูมี 2 ชนิด คือ แห้วหมูใหญ่และแห้วหมูเล็ก ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือความสูงของลำต้น แต่ทั้ง 2 ชนิดมีสรรพคุณใกล้เคียงกัน

แห้วหมูมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ซึ่งหัวมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้ขับลม ส่วนสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ตำรับยาอายุรเวทของๅ ใช้แก้ไข้ และความผิดปกติในทางเดินอาหาร ชาวอาหรับในบริเวณเลอวานต์นำหัวไปอบให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่บวม ตำราจีนเรียกเซียงฟู(ภาษาจีนกลาง) หรือเฮียวหู้(ภาษาจีนแต้จิ๋ว) รากใช้เป็นยาแก้ปวดแก้อักเสบ

ต้นชุมเห็ดเทศ 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : 
Sennaalata(L.)Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่วและอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง เป็นพรรณไม้ที่ไม่ต้องการการเอาใจใส่ดูแล ปลูกแล้วปล่อยทิ้งให้โตขึ้นเองได้ พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งบนที่ราบหรือบนภูเขาสูงจนถึง 1,500 เมตร

ใบของต้นชุมเห็ดเทศเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 8-20 คู่  เนื้อใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้ง โดนจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแคบๆ ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองทอง มีกลีบดอกละ 5 กลีบ ส่วนผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบนและเกลี้ยง ฝักมีขนาดยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร

สรรพคุณของต้นชุมเห็ดเทศ
รากใช้ผสมยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคตาเหลือง แก้กษัย และใช้เป็นยาถ่าย 
ใบชุมเห็ดเทศนำมาชงน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้เส้นประสาทอักเสบ  

นอกจากนี้ใบชุมเห็ดเทศยังใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆได้
ดอกและใบนำมาต้มน้ำเป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก และขับเสมหะ หลอดลมอักเสบ ส่วนเมล็ดช่วยแก้อาการท้องขี้น ขับลมในกระเพาะอาหาร

ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 12-20 เมตร อยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีถิ่นดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ทุกภาคในประเทศไทย และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และยังเป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไทในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ต้นตีนเป็ดมีเปลือกหนาแต่เปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็กๆสีขาวปนน้ำตาล กรีดดูจะมียางสีขาว ลำต้นตรงแตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี ประมาณ 5 - 7 ใบ ออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีกลิ่นฉุนรุนแรง ช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่นๆ ผลเป็นฝักเรียวยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกมีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลม ในฝักมีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมากติดอยู่กับขุยนั้น

สรรพคุณของต้นตีนเป็ด

เปลือกมีรสขมใช้เป็นยาช่วยให้เจริญอาหาร และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน นำเปลือกมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคมาลาเรีย โรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังใช้แก้หวัด แก้อาการไอ รักษาหลอดลมอักเสบ น้ำยางใช้หยอดหูแก้อาการปวดหูและใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟัน ใบอ่อนใช้ชงดื่ม ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน


มะคำไก่ หรือ ประคำไก่ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drypetes roxburghii(Wall.) Hurasawa ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
เป็นไม้ยืนต้น กิ่งก้านสีขาวนวล กิ่งทอดห้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรี สีเขียวเป็นมัน เรียงสลับ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ผลเป็นรูปทรงกลมสีขาวอมเทา เมื่อสุกจะมีสีดำ

สรรพคุณของต้นมะคำไก่
ต้นเป็นยาเย็นใช้เป็นยาระบายและขับปัสสาวะ ใบ ผล เมล็ด กินเป็นยาลดไข้ แก้หวัดและแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย รากมีรสขมเล็กน้อยใช้แก้กษัย แก้เส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ส่วนใบแก้ริดสีดวงทวาร แก้พิษฝีในกระดูก ปอด ตับ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ แก้กษัยและขับปัสสาวะ

ได้รู้จักความหมายอันแท้จริง ของ "หมู เห็ด เป็ด ไก่" ในสมัยโบราณกันแล้วนะคะ 
ในปัจจุบันนี้การใช้สำนวน "หมู เห็ด เป็ด ไก่" ใช้ในความหมายถึงอาหารอย่างดี ชุดใหญ่ ประกอบไปด้วยอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ เครื่องดื่ม แบบที่เรียกกันว่าจัดเต็ม

ตัวอย่าง

การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ที่ลูกหลานจีนจะต้องไหว้บรรพบุรุษด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว

ขอยคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692713เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2021 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท