ผีเสื้อราตรี


ผีเสื้อราตรี

มนุษย์มีความผูกพันกับผีเสื้อมาช้านาน ในวัฒนธรรมของหลายชนชาติ ผีเสื้อถูกเชื่อและนำมาอ้างอิงถึงเรื่องต่างๆ เช่น ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าผีเสื้อคือวิญญาณของผู้ตายที่มาสื่อสารบางอย่างแก่ผู้ที่ยังผูกพัน เช่น คนรัก หรือคนในครอบครัว มีบทกวีไฮกุบทหนึ่งที่กล่าวว่า " ข้าพเจ้าเห็นดอกไม้ลอยกลับเข้าหาต้น แท้ที่จริงแล้วเป็นผีเสื้อตัวหนึ่ง " นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้านของจีนที่กล่าวถึง ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มีนางไม้คู่แฝดมาหลงรักเขา โดยนางทั้งสองจะแวะเวียนมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อให้ฟังอยู่เสมอๆ นอกจากนี้แล้วในวัฒนธรรมร่วมสมัย ผีเสื้อยังมักถูกใช้เป็นรอยสักตามร่างกายส่วนต่างๆของมนุษย์

ธรรมชาติสร้างสรรค์สรีระของผีเสื้อได้อย่างลงตัว ผีเสื้อคู่ควรกับดอกไม้ เพราะทั้งผีเสื้อและดอกไม้ต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุสั้นเหมือนกัน ก่อนจะมาเป็นผีเสื้อที่สวยงาม เริ่มต้นจาก ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยหรือผีเสื้อ
วงจรชีวิตของผีเสื้อมีการเจริญเติบโตแบบโฮโลเมดาโบลัส (Holometabolous) คือ การเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ไข่-หนอน-ดักแด้-ตัวเต็มวัย
 

การเจริญเติบโตในแต่ละขั้นตอนผีเสื้อจะมีรูปร่างที่ไม่เหมือนกันเลย ข้อดีสำหรับการเจริญเติบโตแบบนี้ คือ แต่ละช่วงของวงจรชีวิตต้องการอาหารที่แตกต่างกัน และอาจอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีศัตรูต่างชนิดกัน ทำให้การเจริญเติบโตในแต่ละระยะมีอัตราการเสี่ยงต่อการถูกทำลายลดน้อยลง ผีเสื้อแต่ละชนิดมีอายุไม่เท่ากัน บางชนิดมีอายุเพียง 1 เดือน บางชนิดมีอายุถึง 1 ปี กิจกรรมหลักของผีเสื้อตัวเต็มวัย คือ การออกหาอาหารจากน้ำหวานของดอกไม้ น้ำตามพื้นดินพื้นทราย และการออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์สืบทอดเผ่าพันธุ์

ผีเสื้อแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผีเสื้อกลางวัน (butterfly) และผีเสื้อกลางคืน (Moth)โดยทั่วโลกมีผีเสื้อทั้ง 2 กลุ่ม รวมกันอยู่ 77 วงศ์ ประมาณ 225,000 ชนิด แบ่งออกเป็นผีเสื้อกลางวัน 20,000 ชนิด ที่เหลือเป็นผีเสื้อกลางคืนทั้งหมด

ผีเสื้อจัดว่าเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกัดกินใบไม้ในป่าไม่ให้มีมากมายหนาแน่นเกินไป จนแสงแดดส่องลงมาไม่ถึงพื้นด้านล่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นอาหารของนกและสัตว์อื่นๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่เรียกว่า ผีเสื้อ  เพศเมียจะกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ทำให้เกิดการผสมเกสร การกระจายพันธุ์พืช แล้วก็เป็นอาหารของนก กิ้งก่าและสัตว์อื่นๆ ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศและความยั่งยืนในธรรมชาติตลอดไป

ในประเทศไทยได้มีการสำรวจและจำแนกผีเสื้อไว้อย่างน้อย 40 วงศ์ แบ่งเป็นผีเสื้อกลางวัน 11 วงศ์ ผีเสื้อกลางคืน 29 วงศ์ ในจำนวน 11 วงศ์ของผีเสื้อกลางวัน จำแนกชนิดแล้วได้ 1,114 ชนิด

ข้อแตกต่างของผีเสื้อกลางวันและกลางคืน มีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้

ผีเสื้อกลางวันจะมีสีสันสวยงามสดใสกว่าผีเสื้อกลางคืน ปากมีลักษณะเป็นงวง มีลำตัวที่เรียวยาว ปีกไม่มีขนปกคลุม หรือถ้ามีก็จะบางมากๆเห็นไม่ชัดเจน เวลาเกาะปีกจะยกพับขึ้นตั้งฉากกับลำตัว ส่วนหนวดก็จะชูเป็นรูปตัววี โดยที่ปลายหนวดจะมีตุ่มเล็กๆคล้ายกระบองให้สังเกต

ผีเสื้อกลางคืนส่วนมากสีสันจะออกโทนเรียบๆ ไม่มีลวดลายเด่นชัดสวยงามอย่างผีเสื้อกลางวัน ลำตัวจะกลมและอ้วนกว่า ปีกจะมีขนปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นเส้นยาวๆมองเห็นได้ชัดเจน เวลาเกาะจะกางปีกขนานกับลำตัวพร้อมกับเอาลำตัวซ่อนไว้ใต้ปีก ส่วนหนวดจะมีขนเหมือนแปรงลวดหรือขนนก บางชนิดมีปากลดรูปไปจนไม่สามารถกินอาหารได้ เช่น ผีเสื้อยักษ์

คนทั่วไปจะคุ้นเคยกับผีเสื้อกลางวันมากกว่า เพราะเราสามารถมองเห็นได้ทั่วไปเวลาที่ผีเสื้อออกหากินตอนกลางวัน ผีเสื้อจำนวนนับแสนในโลกนี้ 90%เป็นผีเสื้อกลางคืน ที่เหลือเพียง10% เป็นผีเสื้อกลางวัน ทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น

ผีเสื้อเป็นแมลงสำคัญที่ช่วยในการผสมเกสรของดอกไม้ โดยดอกไม้ก็ตอบแทนผีเสื้อด้วยการให้น้ำหวานเป็นอาหาร ดอกไม้บางชนิดมีความสัมพันธุ์อย่างลึกซึ้งกับผีเสื้อ โดยดอกไม้ชนิดนั้นจะผสมเกสรได้ด้วยผีเสื้อชนิดเดียวเท่านั้น และผีเสื้อชนิดนั้นกินพืชนี้เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญพันธุ์ไป อีกอย่างก็จะสูญพันธุ์ตามไปด้วย เช่น ต้นYucca และ Yucca moth ผีเสื้อจึงเป็นตัววัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ได้ และนอกจากนี้ผีเสื้อยังเป็นสัตว์ที่ช่วยแต่งเติมสีสันที่สวยงามให้กับธรรมชาติอีกด้วย

ผีเสื้อกลางคืนตัวเล็กต่างจากผีเสื้อกลางวันทั่วไป ไม่ชอบแสงสว่างจึงออกหากินตั้งแต่หัวค่ำไปตลอดทั้งคืน ผีเสื้อกลางคืนตัวเล็กบินไม่เก่ง ดังนั้นจึงเห็นคลานไปตามใยผ้าและสิ่งที่พวกมันกัดกินอยู่ ผีเสื้อกลางคืนตัวเล็กจะกัดกินใยผ้า แต่ผีเสื้อกลางคืนที่โตเต็มวัยจะไม่กัดกินผ้า

สำนวน ผีเสื้อราตรี เป็นสำนวนที่มีที่มาจากผีเสื้อกลางคืนที่ออกหากินในเวลาค่ำคืน เป็นสำนวนที่หมายถึง ผู้หญิงที่มีอาชีพให้บริการในสถานบันเทิงในเวลากลางคืน
ตัวอย่าง
ผีเสื้อราตรีอย่างเธอ ยากนักที่จะพบคนรักจริง

สถานบันเทิงเหล่านี้ มีอยู่มากมายตามเมืองใหญ่ๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แหล่งที่มีสถานบันเทิงมากมายกระจายอยู่ทั่วเมือง เช่น ถนนข้าวสาร ถนนสีลม ซอยทองหล่อ เอกมัย สุขุมวิท อโศก ฯลฯ แต่ย่านที่มีสถานบันเทิงมากมาย และคึกคักเป็นพิเศษเห็นจะเป็นบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พอค่ำลงก็จะเปลี่ยนสภาพ มีแสงสีตื่นตาตื่นใจ เสียงเพลงกระหึ่มเร้าใจ…

...จะไปกับแสงสี
กับปีกที่สวยสวย
ให้เหมือนผีเสื้อราตรี
จะหยิบเอาสายฟ้า
มาเสียบเป็นสีสัน
แต่งแต้มหัวใจทั้งคืน...

ผีเสื้อราตรีบินว่อนท่ามกลางแสงสีที่ริมรั้วมหาวิทยาลัย

ขอบคุณภาพผีเสื้อสวยๆจากอินเทอร์เน็ต
 

 

หมายเลขบันทึก: 692476เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2021 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท