ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๐๓. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๐๐) ทำงานเพื่อโชว์ กับทำงานเพื่อผลแท้จริง


 

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔  ผมร่วมประชุมหารือกับ ดร. สิริกร มณีรินทร์, รศ. ประภาภัทร นิยม, นพ. สุภกร บัวสาย     เรื่องยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงศึกษาธิการ   

ดร. สิริกร ได้รับการร้องขอจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง ให้เข้าไปช่วยผลักดันเรื่องนี้ และท่านนึกถึงคนที่เคยร่วมมือกับท่านสมัยท่านทำหน้าที่ รมช. ศึกษาฯ    จึงได้นัดหมายคุยกันว่าเป้าหมายคืออะไรแน่    เพื่อหารือยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ได้ผลที่ LO – Learning Outcome  แบบ holistic    ซึ่งก็คือ 21st century skills และผลลัพธ์การเรียนรู้ตาม “เข็มทิศ” สู่ ค.ศ. 2030  ของ OECD (๑) 

ประสบการณ์สอนผมว่า ในการเข้าไปทำงานใกล้ศูนย์อำนาจ ให้ระวังจะเปลืองชีวิตโดยไม่ได้ทำประโยชน์แก่สังคมอย่างจริงจัง     เพราะผู้มีอำนาจอาจมีเป้าหมายเพียงทำงานเพื่อโชว์     เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน    ไม่ได้ทำเพื่อผลลัพธ์ที่แท้จริง     อย่างกรณีกระทรวงศึกษาฯ ผลลัพธ์ที่แท้จริงคือ quality  และ equity ของระบบการศึกษา     คำแค่ ๒ คำนี้ ขยายความได้ยาวมาก    และเป็นหัวใจของบันทึกชุด ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นี้ (๒)     ที่บันทึกนี้เป็นอันดับที่ ๑๐๐ พอดี       

และในหลายกรณี หน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ก็ทำงานเพียงเพื่อโชว์ผลงานของตนเอง     หรือเพื่อสนองนาย  เอาตัวรอดไปวันๆ    ไม่ได้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่เพื่อสังคมหรือบ้านเมืองอย่างแท้จริง    ซึ่งกรณีเรื่องการศึกษา เป้าหมายต้องอยู่ที่เด็ก   ให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยไม่ถูกปิดกั้นจากความยากจน หรือจากพ่อแม่ที่ไม่เอาไหน    และเมื่อเข้าเรียนก็ได้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ครบด้านและคุณภาพสูง อย่างที่กล่าวแล้ว   

ดังนั้น ในการหารือกันในวันนี้ ผมจึงจ้องตรวจสอบเป้าหมายแท้จริง     เพราะผมแก่แล้ว มีเวลาไม่มาก และเรี่ยวแรงก็ถดถอย   ไม่อยากเปลืองชีวิตไปกับเรื่องที่สำหรับผมถือว่า “ไร้สาระ”     

ผมได้แจ้งแก่ ดร. สิริกร ว่า การขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะไม่ประสบผลสำเร็จหากทำแบบรวมศูนย์ อย่างที่ทางกระทรวงศึกษาธิการถนัด    ผมเสนอให้ใช้รูปแบบกระจายอำนาจ หรือเอื้ออำนาจ (empower) แก่โรงเรียนและครู     หากใช้ยุทธศาสตร์กระจายอำนาจ คือทำงานแบบเครือข่าย   ไม่รวมศูนย์อำนาจสั่งการ   ผมก็ยินดีเข้าไปรับใช้   ซึ่งหมายความว่า หากทำแบบรวมศูนย์อย่างเดิมๆ ผมไม่ถนัด      

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พ.ค. ๖๔  วันมงคล คือวันเกิดของท่านพุทธทาส 

  

 

หมายเลขบันทึก: 691689เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2021 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2021 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท