เลิกเป็นเมืองขึ้นด้านวิชาการ


 

บทความเรื่อง Decolonial science : Towards more equitable knowledge practices (1)    นำผมไปสู่รายงานวิจัยที่ลงพิมพ์ใน Nature Ecology & Evolution   เรื่อง Decoloniality and Anti-Oppressive Practices for a More Ethical Ecology (2)    ที่ผู้เขียน ๒ คนอยู่ในประเทศอัฟริกาใต้  ๑ คนอยู่ในอเมริกา    ผมสนใจที่นักวิจัยที่เขียนบทความ (1) เป็นนักมานุษยวิทยา   และใช้มุมมองเชิงมานุษยวิทยาวิเคราะห์ระบบวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของโลก   

ระบบนิเวศทางวิชาการของโลกในปัจจุบัน อยู่ในสภาพไม่เท่าเทียม   ที่รายงานวิจัยใน Nature Ecology & Evolution (2) ใช้คำรุนแรง ว่าเป็นสภาพเมืองขึ้นและการกดขี่ทางวิชาการ   โดยที่ผู้เขียนใช้บริบทของอัฟริกาเป็นฐานในการเขียน    แต่ผมคิดว่าเป็นจริงต่อบริบทไทยด้วย 

เรื่องนี้สะท้อนมายาคติของวิชาการ   ที่ครอบงำโดยวิธีคิดของฝรั่งยุโรป-อเมริกา    ครอบงำทั้งวิธีคิดของคน  และระบบความรู้ในมิติต่างๆ    รวมทั้งระบบวารสารวิชาการ การให้น้ำหนักหรือคุณค่าของผลงานวิชาการ    ที่มีส่วนทำให้นักวิชาการตั้งโจทย์วิจัยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทและผลประโยชน์ของสังคมของตนเลย    เป็นโจทย์วิจัยที่เมื่อได้ตีพิมพ์ก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือในวงวิชาการ    แต่สังคมที่ตนมีชีวิตอยู่ไม่ได้ประโยชน์        

เป็นวิธีมอง ecology ทางวิชาการที่แหลมคมมาก   ชี้ให้เห็นว่าวิชาการในปัจจุบันส่วนหนึ่งบิดเบี้ยว    เนื่องจากระบบนิเวศทางวิชาการที่บิดเบี้ยว ครอบงำ กดขี่ และเอาเปรียบ (extracting)  

ที่น่าสนใจมากคือ เขายกเอาข้อมูลหลักฐานทางวิชาการมาอ้างอิง    จนสามารถเขียนบทความวิชาการเชิงเคลื่อนไหวได้    รวมทั้งวารสารวิชาการชั้นยอดอย่าง Nature Ecology & Evolution ก็รับลงพิมพ์เสียด้วย    โดยเขาเดินเรื่องเรียกร้องให้ดำเนินการ ๕ ด้านคือ (๑) ปลดปล่อยความคิดออกจากการถูกครอบงำในฐานะเมืองขึ้น,   (๒) รู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง,   (๓) ทำงานวิชาการเป็นทีมอย่างเท่าเทียมกัน,   (๔) ลดทอนความเป็นเมืองขึ้นด้านทักษะความรู้,   (๕) ลดทอนความเป็นเมืองขึ้นด้านการเข้าถึงความรู้ 

ในภาพรวมคือ นิเวศจริยธรรมลดทอนความเป็นเมืองขึ้น (decolonial ecological ethics)     

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 691383เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2021 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2021 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท