พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา


พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา

สามก๊กเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีน แต่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคราชวงศ์หมิง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2345 ในรัชกาลที่1 นับเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง มีการแปลเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 10 ภาษา และมีการพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่อง สามก๊ก มาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง

โจโฉ บุรุษผู้ยอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้โลกทรยศตน ตำแหน่งสูงสุดคือมหาอุปราช เป็นผู้กุมอำนาจทั้งปวง อยู่เหนือฮ่องเต้ เดิมทำราชการอยู่ภายในราชสำนัก เป็นที่ยำเกรงแก่คนทั้งปวง ถูกแต่งตั้งให้ไปสกัดการโจมตีของกบฎโจรโพกผ้าเหลือง สุดท้ายแยกตัวหนีออกมาหลังจากลอบฆ่าตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ภายหลังจึงสะสมกำลังและแสนยานุภาพครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ จนได้รับเชิญมาเป็นมหาอุปราช ได้ใช้ความสามารถ การรู้จักใช้คนและเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์เป็นที่เลื่องลือ จนสามารถครอบครองแผ่นดินจีนไว้ มากที่สุด ได้ชื่อว่า วุยก๊ก เป็นหนึ่งในสามก๊ก ซึ่งได้แก่ จ๊กก๊ก มีเล่าปี่เป็นใหญ่อยู่ทางตอนกลาง ง่อก๊ก มีซุนกวนเป็นใหญ่อยู่ทางตะวันออก และวุยก๊กมีโจโฉเป็นใหญ่อยู่ทางตอนเหนือ

โจโฉไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถยอดเยี่ยมในเชิงยุทธ์และศิลปะเช่นจิวยี่ ไม่ใช่ผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศเช่นขงเบ้ง ไม่ใช่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่งเช่นกวนอู หากแต่โจโฉมีลักษณะของผู้นำที่ดี เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยม และที่สำคัญคือรู้จักเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ด้วยเหตุนี้โจโฉจึงชื่นชมผู้มีความสามารถและพยามทุกวิถีทางในการชักจูงคนที่มีความสามารถมาเป็นพวกของตน

"พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา" เป็นสำนวนที่มีที่มาจากวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก มีความหมายว่า เมื่อเรากำลังพูดถึงบุคคลใดอยู่ บุคคลนั้นก็มาถึงพอดี
ในขณะที่พระเจ้าเหี้ยนเต้กำลังวางแผนเพื่อหลบหนีจากกองทัพของลิฉุย กุยกี เพื่อกลับราชธานีเดิมคือเมืองลกเอี๋ยง ก็ปรึกษากันว่าจะขอให้ขุนศึกคนใดรีบยกทัพมาช่วยดี ในที่สุดก็สรุปว่าจะส่งจดหมายไปขอความช่วยเหลือจากโจโฉ ก็พอดีกับโจโฉมาเข้าเฝ้าและรับอาสาจะคุมทัพไปขับไล่กองทัพของลิฉุยและกุยกีเอง จึงเป็นที่มาของสำนวนว่า "พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา"

สำนวนที่มีที่มาจากวรรณคดีไทยและใช้ในความหมายเช่นเดียวกับ "พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา" คือสำนวนว่า "พูดถึงไก่ ไก่ก็มา" ซึ่งมีที่มาจากวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ

ปู่เจ้าสมิงพรายได้รับคำสั่งจากพระเพื่อน พระแพงแห่งเมืองสรองให้ใช้เวทมนต์นำพระลอแห่งเมืองแมนสรวงมาพบกับนางทั้งสองที่เมืองสรอง แต่เกรงว่าพระลอจะเดินทางมาถึงช้าจึงขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลือ ปู่เจ้าสมิงพรายจึงคิดจะใช้ไก่ป่าไปนำทางพระลอ

ปู่กระสันถึงไก่ในไพรพฤกษ์  ปู่รำลึกถึงไก่ไก่ก็มา บรู้กี่คณากี่หมู่ ปู่เลือกไก่ตัวงาม ทรงทรามวัยทรามแรง...

พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา 
คิดถึงไก่  ไก่ก็มา
เป็นสำนวนที่ใช้ในความหมายเช่นเดียวกัน

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691379เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2021 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท