ชีวิตที่พอเพียง 3991. เศรษฐกิจไทยสมัย ร. ๔ และ ร. ๕


 

               หนังสือ สภาพเศรษฐกิจของไทยสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕  จากเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยของไทย  เขียนโดย กมลทิพย์ ธรรมกีระติ    เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศประวัติศาสตร์   ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ   เป็นเอกสารลำดับที่ ๒๗ 

เป็นเรื่องประวัติศาสตร์เมืองหลวง    จากเอกสาร ๕ ชุดคือ ราชกิจจานุเบกษาใน ร. ๔ และ ร. ๕   กฎหมายสมัย ร. ๕   หนังสือจกหมายเหตุสยามรีคอร์เดอร์ (ออกโดยหมอบรัดเลย์)   และจดหมายเหตุสยามไสมย (ออกโดยหมอสมิธ)   

ราชกิจจานุเบกษาเริ่มสมัย ร. ๔ เพื่อสื่อสารเรื่อราวของบ้านเมือง  ออกได้เพียง ๑ ปี  ๗ เดือน (พ.ศ. ๒๔๐๑ -   ๒๔๐๒) ก็หยุดไป   มาเริ่มใหม่สมัย ร. ๕  พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๒๒   และ ๒๔๒๗ – ปัจจุบัน 

หนังสือจดหมายเหตุสยามรีคอร์เดอร์ ออกครั้งแรกสมัย ร. ๓   (พ.ศ. ๒๓๘๗ - ๒๓๘๘)    แล้วออกใหม่สมัย ร. ๔ (๒๔๐๘ - ๒๔๑๐)   ที่ปิดกิจการเพราะขาดทุน และมีความขัดแย้งเรื่องข่าว แพ้คดีหมิ่นประมาทที่กงสุลฝรั่งเศสฟ้อง   

จดหมายเหตุสยามไสมย ออกสมัย ร. ๕  พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๒๔๒๙  

นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นทั้ง ๕ ชุด   เอามาให้ผู้อ่านเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในสองรัชกาล    ที่ประเทศสยามอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ถูกระรานจากประเทศนักล่าเมืองขึ้นในยุโรป   ต้องมีการพัฒนาประเทศขนานใหญ่   

การถูกบังคับให้เปิดประเทศ จากสนธิสัญญาเบาริง (พ.ศ. ๒๓๙๘) กับอังกฤษ   ต่อมาก็มีประเทศอื่นๆ เรียงแถวมาขอทำสัญญาทำนองเดียวกัน    เราต้องยอมให้เขามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต     และเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม    เกสารเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นว่า หลังปี ๒๓๙๘  กิจการค้าระหว่างประเทศของสยามเพิ่มขึ้นมากมาย   มีข้อมูลจำนวนเรือสินค้าระหว่างประเทศเข้าเทียบท่าและออกจากท่าเป็นรายวัน    มีข้อมูลสินค้าออก ซึ่งสินค้าหลักมี ๓ อย่างคือ ข้าว  ไม้สัก และดีบุก    นอกนั้นเป็นของป่า 

เท่ากับว่า ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นปีที่ประเทศสยามเริ่มเปิดออกสู่ตลาดโลก หรือ globalization    แบบถูกบังคับ    ทำให้ต้องปรับตัวมากมาย    โดยเฉพาะการหารายได้เข้าท้องพระคลัง เพราะฝรั่งขอเปลี่ยนอัตราภาษีสินค้าเข้า   จากภาษีปากเรือเป็นภาษีร้อนชักสาม   ทำให้รายได้ลดลงมาก    แถมยังต้องการเงินพัฒนาประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศล่าเมืองขึ้นหาเหตุเข้ายึกครอง   

ในสมัย ร. ๕ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อคนธรรมดามากที่สุดคือ  การเลิกไพร่ (ให้เป็นคนสามัญ)    การเลิกทาส  และเลิกขุนนางสืบตระกูล (น. ๕๔)     โดยที่ทรงพระปรีชาที่เปลี่ยนแปลงเป็นขั้นเป็นตอน   

ในหน้า ๕๙  ระบุว่า ปี ๒๔๑๔  ร. ๕ ทรงตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับลูกเจ้านายและข้าราชบริพาร    และในหน้า ๖๐ ระบุว่า ทรงตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรก พ.ศ. ๒๔๒๗ คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม   

ระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงมากอย่างหนึ่งคือระบบภาษีอากร    ที่หน้า ๑๕๙ – ๑๖๐ มีรายการภาษี    จะเห็นว่าอะไรที่เป็นสินค้าขายได้มีภาษีเป็นรายสินค้า          

 ขอขอบคุณ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้   

วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ค. ๖๔ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 691353เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2021 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2021 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท