การดูแลอารมณ์ตัวเอง ตอนที่ 4...Self Talk


วันนี้จะมาแบ่งปัน วิธีการหนึ่ง ที่แม่ดาวนั้นใช้มาตั้งแต่เด็ก ใช้มาอย่างยาวนาน แต่ก่อนที่ยังไม่ได้เรียนรู้พัฒนาโลกภายในตัวเอง

ก็มีเผลอใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงทำร้ายใจตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว(ถ้ารู้ก็คงไม่ทำเนาะ)

+

Self Talk คือ เสียงภายในที่เรามักใช้สื่อสารกับตัวเองบ่อยๆ ค่ะ เคยได้ยินเสียงภายในตัวเองกันไหม? และเสียงส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยินเป็นอย่างไร? เขามักใจดี หรือใจร้าย? มีแนวโน้มไปทางดีต่อใจ? หรือ เป็นไปทางที่ทำร้ายบั่นทอนความรู้สึกที่ดีของตัวเอง? ชวนสำรวจใจตัวเองกัน

+

เข้าเรื่องกันเถอะ ในการดูแลอารมณ์ตัวเอง สมัยก่อนบ่อยครั้งมากที่ใช้วิธีการนี้กับตัวเอง คือ การพูดคุยกับตัวเอง โดย แม่ดาวมักจะเรียกชื่อจริงของตัวเองค่ะ เวลาที่จะใช้วิธีการนี้ เช่น

+

กรณีโกรธสามี แบบโกรธมาก ต้องประชุมภายในกับตัวเองยาวๆ

D1 : ชฎาพร ตอนนี้เธอเป็นอะไร? เธอกำลังรู้สึกอะไร?

D2 : ฉันรู้สึกโกรธมาก

D1 : ชฎาพร แล้วความรู้สึกโกรธตอนนี้มันส่งผลต่อร่างกายของเธออย่างไร?

D2 : ก็รู้สึกร้อนๆ แน่นๆ หน้าอก ลามไปที่หัวเลยจะออกหูแล้วเนี้ย

D1 : ชฎาพร แล้วเธอเห็นความคิดตัวเองไหม มีความคิดอะไรที่ทำให้เธอรู้สึกโกรธจนร้อนแน่นหน้าอกแบบนี้?

D2 : คิดว่า สามีไม่เคยจะเข้าใจ ไม่เคยจะรับฟัง แล้วยังชอบมากวนโมโหอยู่เรื่อย

D1 : ชฎาพร ความความคิดนี้ จริงๆ เหรอ? ลองคิดดี ๆ นะ มีครั้งไหนไหมที่สามีเธอเขาแสดงความเข้าใจ รับฟัง และทำให้เธอรู้สึกดี?

D2 : อืม....ก็มี

D1: ลองคิดแล้วเล่าให้ฟังซิ เขาแสดงความเข้าใจเธอเรื่องอะไร เขารับฟังเธออย่างไร แล้วเธอรู้สึกดีอย่างไร

D2 : (เล่าไป)

+

มาดูกรณี

จะไปขึ้นเวทีกับเหล่ากูรูคนดัง รับปากแบบไม่ทันคิดเพราะผู้ที่มาชวนเป็นคนต้นแบบในดวงใจ เป็นคนที่เคารพรัก เป็นผู้มีบุญคุญ พอตอบรับไป มาคิดเครียด กังวล

D1 : ชฎาพร เธอกังวล เครียดมากเลยใช่ไหม?

D2 : ใช่ดิ จะไม่กังวล เครียดได้ไง ต้องไปพูดร่วมเวทีกับกูรูมากมาย

(ขอข้ามขั้น เรื่องการถามการแสดงผลต่อร่างกายไปนะคะ ลดความยาว)

D1 : ชฎาพร แล้วที่เธอตัดสินใจรับปากไปอะ เธอรับปากไปเพราะอะไร

D2 : ก็......เป็นครูที่เคารพรัก เป็นผู้มีบุญคุณ ครูมาชวน ก็อยากตอบแทนบุญคุณครู อีกอย่างก็เรื่องราวประสบการณ์ของฉันก็อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้คน

D1 : ชฎาพรแล้วที่เธอรู้สึกกลัว กังวล เครียด เพราะอะไร? ในเมื่อเธอตั้งใจไปด้วยความรู้สึกดีๆ อยากตอบแทนคุณครู และปรารถนาดีต่อผู้อื่น

D2 : กลัวพูดได้ไม่ดี กลัวพูดไม่รู้เรื่อง ลึกๆ คิดว่าตัวเองเป็นแม่บ้านธรรมดา ไม่มั่นใจในคุณค่าที่ตัวเองมีอ่ะ แต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นดร. กันทั้งนั้น

D1 : เธอกำลังดูถูกตัวเองนะ อีกอย่างเธอก็กำลังดูถูกครูของเธอด้วย ครูเขาเห็นคุณค่าที่มีในตัวเธอ การที่เธอคิดแบบนี้ ครูจะเสียใจ ผิดหวังกับเธอไหม

เธอคิดว่า ถ้าเธออยากตอบแทนคุณครู หรือ อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์เธอจะทำอะไรได้บ้าง? เธอจะบอกกับตัวเองอย่างไร?

D2 : ฉันเป็นแม่บ้านที่มีประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น การไปบอกเล่าประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ของฉัน เป็นการยืนยันความรู้ที่ครูสอนมาไปส่งต่อกับผู้อื่นว่า การเลี้ยงลูกเชิงบวกเช่นนี้ดีต่อฉันลูกและครอบครัวอย่างไร

D1 : ชฎาพร เธอจะไปพูดด้วยความรู้สึกแบบไหน เอาพลังงานแบบไหนไปพูดบนเวที

D2 : ความรู้สึกขอบคุณ ความรักและความศรัทธา

+

มาดูอีกกรณี

โกรธที่มีคนแย่งที่จอดรถ ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง (เป็นจังหวะที่คาราคาซังกันอยู่ อีกฝ่ายก็ทิ่มเข้ามา ไอ้เราก็ทิ่มคาไว้ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย)

D1 : ชฏาพร เธอกำลังโกรธมากเลยนะ รู้สึกตัวไหม?

D2 : ใช่ แล้วไง ก็ดูมันทำดิ กำลังจะถอยจอดอยู่ ขับลัดตัดสวนเลนมาพุ่งจะเสียบเข้าซองเฉย

D1 : ชฎาพร แล้วเธอจะทำอย่างไร

D2 : ถอยจอดเลย ถ้าชนก็ชน ให้รู้ไปเลย ไอ้พวกหน้าด้าน ไร้มารยาท ไม่มีสามัญสำนึก

D1 : ชฎาพร ทำแล้วได้อะไร ? คุ้มกับสิ่งที่จะเสียไปไหม

D2 : ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องไง ได้ความสะใจด้วย

D1 : ชฎาพร เธอได้รักษาความถูกต้อง แต่อาจต้องไปทะเลากับคนอื่น และรถก็อาจจะถูกชน สามีเธอก็จะบ่น เสียเวลา เสียอารมณ์ด้วยนะ เพื่อแลกกับความถูกต้องที่เธอจะรักษานี้

D2 : เออ...ก็จริง ไม่คุ้มเลย

+

มาดูกรณียอดฮิต

เรื่องหงุดหงิดลูกที่ไม่รับผิดชอบงานบ้านที่ตกลงกันไว้

(ขอข้ามไปหลายขั้นลัดสั้นมาตรงนี้นะคะ)

D1 : ชฎาพร เธอคิดว่าลูกไม่มีความรับผิดชอบเลย จริงมั้ย มีครั้งไหนไหมที่ลูกเขาก็รับผิดชอบงานบ้านตามที่ตกลงกันไว้

D2 : ก็มีนะ มีหลายครั้งเลยแหละ เช่น.................................

D1.: แสดงว่าลูกเธอเขาก็มีความรับผิดชอบต่องานบ้านใช่ไหม ครั้งนี้ที่เขาไม่ทำ ไม่รับผิดชอบ เธอคิดว่าเพราะอะไร? เธอได้สื่อสาร ถาม ฟังลูกหรือยัง?

D2 : คิดว่าลูกมัวแต่เล่นเกม ไม่รับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้คุย ก็มันเห็นๆ เลยไม่คุย อารมณ์ขึ้นก่อน

D1. : ชฎาพร เธออยากเป็นแม่แบบไหน เธอจำเป้าหมายของเธอได้ไหม?

D2 : อยากเป็นแม่ที่เข้าใจลูก เป็นแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตของตัวเอง เป็นแม่ที่มีความรักอย่างไร้เงื่อนไข

D1 : แล้วตอนนี้เธอคิดว่าเธอจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้ได้เป็นแม่ในฝันที่เธออยากเป็น

D2 : ก็ดูแลอารมณ์ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปสื่อสารกับลูกด้วยการตั้งคำถามให้คิด และฟังด้วยใจ

+

อีกสักตัวอย่างเนาะ ท้ายสุด

รู้สึกผิดกับการเป็นแม่ รู้สึกแย่กับตัวเอง

D1 : ชฎาพร เธอกำลังรู้สึกผิด ตำหนิตัวเองอยู่รู้สึกตัวมั้ย?

D2 : ใช่ ก็ฉันมันแย่ อ่านหนังสือตั้งเยอะ อบรม เรียนรู้ฝึกฝนมาตั้งแยะ

ก็ยังทำได้ไม่ดีสักที ระเบิดอารมณ์ใส่ลูกอีกแล้ว

D1.: ชฎาพร เป็นธรรมาดาที่เธอกำลังรู้สึกแบบนี้ เธอทุ่มเท ตั้งใจ ฝึกฝนตัวเองมาก พอทำพลาดก็รู้สึกแย่มากเป็นธรรมดา เธอกดดัน คาดหวังตัวเองมากไปหรือเปล่า? ฉันเห็นเธอทำได้ดีตั้งหลายครั้ง ก็แค่วันนี้เธอเหนื่อยมาก ป่วยอีกด้วย แล้วยังทำงานอะไรสารพัด เป็นธรรมดาที่เธอจะน็อตหลุด

D2 : เออ...ฉันรู้สึกเหนื่อยมากจริงๆ

D1 : ลืมตัวอีกแล้วเนาะ คิดว่าตัวเองเป็นยอดมนุษย์ เป็น SuperWoman

D2 : เออ...จริง ลืมตัว

+

เอาจริง เคยแบ่งปันวิธีการนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ขำมาก

การพูดคุยกับตัวเอง หลังๆ ก็ไม่ได้ยืดยาวหรือใช้ทุกครั้งนะคะ บางครั้งก็แค่เห็นอารมณ์ ไม่ต้องทำอะไร มันก็หายไปเอง (อารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าเราไม่ไปเติมเชื้อให้มันเพิ่ม) พออารมณ์หายไป สมองส่วนหน้าก็พร้อมใช้ทำงานได้ดี สติมา ปัญญาก็เกิดแหละ ไม่ต้องมาเม้ามอย ประชุมภายใน Self talk อะไรกับตัวเองมากมาย

+

การเรียกชื่อตัวเอง เคยฟังเมื่อนไม่นานมานี้ว่า เป็นการถอดตัวเองออก ไม่จมไม่อินไม่ไหลไป เหมือนเราเป็นผู้ดู ไม่ใช่นักแสดง เราจะดูแลอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น ก็ถ้าตอบจากประสบการณ์การใช้ของตัวเองก็จริงค่ะ

+

แบ่งปันไว้ เผื่อเป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็อาจได้รอยยิ้มบ้างแหละเนาะ

หรือหากเพื่อนคนไหนเคยใช้ มาแบ่งปันกัน ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร?

+

ปล.ถ้าไม่อยากเหนื่อยคุยกับตัวเอง ชวนฝึกการรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันขณะบ่อยๆ ค่ะ แล้วเราจะลดการคุยกับตัวเองไปได้เยอะเลย

 

+

ขอขอบคุณศิลปินในดวงใจ แม่อ้อ ที่ช่วยวาดภาพประกอบบ่นความนี้ให้ค่ะ

ถ้าวาดเองก็จะบันเทิงกว่านี้ อาจไม่เข้าถึงอารมณ์บ่นความ แต่ได้อารมณ์ขำขันแทน

 

หมายเลขบันทึก: 691322เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2021 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2021 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจัง มีประโยชน์มาก เป็นการสะท้อนคิดและสรุป what next?

พยาบาลจะมีการแนะนำผู้ป่วยให้พูดกับตัวเองเหมือนกัน เพื่อให้ปรับตัวกับเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังเผชิญ ทำให้ลดความทุกข์ทรมานลงได้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท