สะท้อนมุมมองการอ่าน "นวนิยายรางวัลซีไรต์" จากชายชรา(คนหนึ่ง)


         ช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดหนักรอบนี้ ผมได้สั่งซื้อหนังสือนวนิยายเรื่องหนึ่งมาอ่านชื่อ "พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดำ" ของวีรพร นิติประภา และเพิ่งอ่านจบ เหตุที่อยากอ่านเพราะความทึ่งในชื่อเรื่อง และเกียรติประวัติของผู้เขียนที่ไม่ธรรมดา เธอเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึง 2 เรื่อง 2 ปีซ้อน ทั้งยังได้รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รางวัลหนังสือดีเด่นของ สพฐ.อีกด้วย
      ประวัติส่วนตัวของเธอก็ไม่มีอะไรที่หวือหวาน่าพิสดารเท่าใดนัก  จึงเข้าใจว่า ความสำเร็จน่าจะมาจากพรสวรรค์และพรแสวงของเธอต่างหาก เธอเป็นนักอ่านมาตั้งแต่เด็ก หนังสือที่เธอชอบอ่าน เช่น วิถีแห่งเต๋า ปราชญ์เหลาจื๊อ  ขุนช้างขุนแผน  หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว น้ำหอม เป็นต้น ซึ่งหนังสือเหล่านี้มีส่วน ทำให้เธอ กลายเป็นนักประยุกต์ คิดค้นภาษาที่ไม่เหมือนใคร จนสามารถใช้ภาษาอักษรที่ลุ่มลึก งดงาม และพรรณนาเชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับยุคสมัยต่างๆด้วยเหตุการณ์ที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน   ภาษาใหม่ที่เธอสร้างขึ้นมา บางทีก็เอาคำท้ายมาเป็นคำหน้า ซึ่งคนรุ่นใหม่เห็นว่างดงาม  โดยเฉพาะคณะกรรมการตัดสินการประกวดฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการในแวดวงวรรณกรรม และนักเขียนรุ่นใหม่ๆ

     ผมขอยกตัวอย่างภาษาที่เธอเขียนมาบางท่อน เช่น

  "... อึกทึกครึกโครมด้วยชีวิตชีวา สรรพสำเนียง ความเคลื่อนไหว น้ำในแก้วบนโต๊ะกินข้าวจะสั่นกระเพื่อม ราวกับกำลังเดือดพล่าน กระจกลายพิกุลเขียวขุ่นมัว จะระรัวตัวเข้ากับกรอบช่องแสง กราวๆ ฝุ่นจะอวลลอยจากพื้นขึ้นส่องประกาย ระยิบระยับละล่องลอย เคว้งคว้าง ราวกับละอองกากเพชรหลงทาง..."

   " ...แต่แปลบปลาบเผินผิวไม่กี่นาทีก็ร้างหาย ไม่ลึกแรงรุนร้าวเท่าคราวนี้ ผ่านนาน จนเริ่มมีรื้นจาง ปรากฏรางๆ กลางทะเลและกระไอมหาสมุทรเริ่มเค็มเข้ม..."

   "... ก่อนคลื่นโถมจะปิดประกบบดบัง คือเมฆสีขาว ลอยคว้างเดี่ยวดายกลางท้องฟ้า ยังดารดาษด้วย แสงดาวระยิบระยับ..."

     ความที่เราไม่คุ้นชินกับภาษาและลีลาการเขียนแนวนี้  จึงยังรู้สึกประดักประเดิดที่จะชอบและยอมรับเท่าใดนัก แม้ชื่อเรื่องที่อ่านแล้วยังต้องแปลหลายตลบ "พุทธศักราชอัสดง กับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา" เริ่มเครียดตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว แต่ก็มีพลังประหลาดที่ยั่วยุให้อยากค้นหา เข้าใจแบบกระท่อนกระแท่นตามสติปัญญาของคนยุคโบราณอย่างเรา พยายามจดจ่ออ่านเพื่อปะติดปะต่อเรื่อง   ยอมรับและชื่นชมผู้เขียนว่าสามารถปะติดปะต่อเรื่องจากความทรงจำที่ซับซ้อน วุ่นวิ่น ให้เป็นเรื่องเป็นราว และใช้ภาษาที่งดงามตามลีลาที่เป็นจุดเด่นของผู้เขียน แต่ทำไมเราอ่านแล้วจึงเครียด ถ้าอ่านบันทึกเสียงก็คงสอบตกทุกบรรทัด แต่ก็ยังวางไม่ลงอยู่ดี เพราะอยากรู้  หลายเรื่องกล่าวถึงยุคสมัยที่ตรงกับเรา ก็พลอยเคลิ้มคล้อยตาม แต่เรื่องราวเศร้าจัง เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมของทุกคน ต่างเหตุ ต่างกรรม ของคนที่เข้ามาร่วมอยู่ในเหตุการณ์ทั้งคนรัก เพื่อนบ้าน ลูกจ้างและคนอื่นๆ ชื่อเรื่องมาเปิดเผยเอาในบทสุดท้าย หลังจากที่รออยู่นานว่า "ดาว"คือใคร  "แมวกุหลาบดำ"คืออะไร และ "ความทรงจำของความทรงจำ"คืออะไร เก่งจัง คิดได้ยังไง

     เราเคยตื่นเต้นกับภาษาที่หวือหวาของสามก๊กและราชาธิราช หรือนิยายหวานแหววของกฤษณา ดอกไม้สด ทมยันตี หรือภาษาชาวบ้านๆของคนรุ่นเก่าอย่างไม้เมืองเดิม... แต่นั่นก็ตอนวัยเด็กและวัยหนุ่ม แต่พอมาอ่านเรื่องทำนองนี้ ทำไมเราเครียดจัง

    หรือว่าเราชราและตกยุคไปแล้วจริงๆ(ฤา)


 

หมายเลขบันทึก: 691277เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2021 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2021 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท