มายาคติเรื่อง “เด็กพิเศษ”


 

โรงเรียนไทยมีแนวโน้มจะตราเด็กว่าเป็น “เด็กพิเศษ” เกินความเป็นจริงหรือไม่    เป็นคำถามของผมมานาน   เพราะผมได้เรียนรู้ว่าหากเด็กคนใดถูกตราว่าเป็น “เด็กพิเศษ”    ก็จะไม่นับเข้าในสถิติผลโอเน็ต    เท่ากับว่าระบบการศึกษาไทยอนุญาตให้ทิ้ง “เด็กพิเศษ” ได้   ไม่ทราบว่าความคิดอย่างนี้ของผมตรงตามความเป็นจริงหรือไม่     ผมจึงลองค้นดู 

บทความเรื่อง We Need to Rename ADHD (๑) บอกเราว่า เด็กที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเด็กทั่วไป ไม่ว่าจะแตกต่างแบบใด  มักถูกตราไปในทางที่ทำให้เด็กเสียโอกาสเสมอ   

นพ. ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา แห่งสถาบันราชานุกูลเขียนเรื่อง เด็กพิเศษ ไว้อย่างดีมาก (๒) ว่าหมายถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ    อาจเป็นเพราะเขามีสมองดีเยี่ยมเป็นพิเศษ  หรือเพราะเขามีสมองบกพร่อง ก็ได้     ท่านบอกว่า  “เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
- เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
- เด็กที่มีความบกพร่อง
- เด็กยากจนและด้อยโอกาส” 

นิยามนี้น่าจะเตือนสติครูว่า ให้ระวังให้จงหนักว่า อย่าทึกทักเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นเด็กที่มีความบกพร่อง    และปฏิบัติต่อเขาผิดๆ   

และต้องเข้าใจเด็กพิเศษกลุ่มที่สาม ว่าเกิดจาก “สังคมทำ”  หรือ “พ่อแม่ทำ”   โดยที่ครูมีโอกาสช่วยปรับให้เขามีชีวิตปกติได้    นี่คือหน้าที่ และคุณค่ายิ่งใหญ่ของครู   

กลับไปที่เด็กกลุ่มแรก    คุณหมอทวีศักดิ์ บอกว่า วงการศึกษามักละเลยโอกาสส่งเสริมให้ความสามารถพิเศษนั้นงอกงาม และทำประโยชน์แก่โลกแก่สังคมได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก   

มีเว็บไซต์แนะนำวิธีหนุน gifted students ไว้ ๕ ประการ (๓) คือ  (๑) ทำความเข้าใจความคิดของเด็กเหล่านี้   (๒) มอบงานที่แตกต่างกัน  เหมาะต่อเด็กแต่ละกลุ่ม  (๓) จัดห้องสมุดในชั้นเรียนที่มีเอกสารหลายระดับ เพื่อให้ท้าทายนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ (๔) ใช้ประโยชน์ความสามารถพิเศษของนักเรียน  (๕) หาทางให้ได้ประยุกต์วิชาความรู้ในชีวิตจริง   

กลับมาที่เด็กกลุ่มที่สองของคุณหมอทวีศักดิ์    กลุ่มที่ระบุใน Scientific American (๑) คือกลุ่มที่ถูกตราว่าเป็น ADHD – Attention-Deficit, Hyperactive Didorders    ที่มีหลักฐานบอกว่า บริษัทผลิตยาจงใจกระตุ้นให้มีการวินิจฉัยเด็กที่เป็นโรคนี้เกินจริงถึง ๓ เท่า    คือในสหรัฐอเมริกา เด็กราวๆ ร้อยละ ๕ เป็นโรคนี้    แต่เด็กถึงร้อยละ ๑๕ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ (๔) ส่งผลให้มีการสั่งยาให้แก่เด็กที่ไม่ได้เป็นโรคจริง    เพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องตามคุณธรรมของบริษัทยา      

 เว็บไซต์ของ NIH ให้นิยามของ ADHD ไว้ที่ (๔)    และมีข่าวโจมตีบริษัทยาที่พยายามทำให้ ได้รับการวินิจฉัยในผู้ใหญ่ เพื่อขายยา (๕)     จากหากินกับเด็กสู่หากินกับผู้ใหญ่    ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใครนะครับ   

อย่างไรก็ตาม ADHD ของจริงมีอยู่    และ US CDC ให้คำแนะนำที่ดีมาก (๖)   และเป็นวิธีการที่ไม่ยาก   น่าที่จะมีเครือข่ายโรงเรียนไทยที่มุ่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเป็นตัวอย่างได้    และมีการสร้างศาสตร์บนฐานของการปฏิบัติขึ้นในบริบทไทย   

จะเห็นว่า เรามีโอกาสสร้างสรรค์วิธีการ และวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาเด็กพิเศษ ได้มากมาย    ที่สำคัญคือ ก่อคุณค่าแก่สังคมเหลือคณา    นักการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากการทุ่มเททำงานช่วยเหลือเด็กพิเศษท่านหนึ่งที่ผมรู้จักคือ รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ค. ๖๔

             

หมายเลขบันทึก: 691274เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2021 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2021 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท