การผุดบังเกิดภพภูมิใหม่ของ R2R – Department-Based R2R 


 

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผมเข้าร่วมประชุม R2R core team ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทางซูม ในท่ามกลางวิกฤติการระบาดรอบสามของโควิด ๑๙   แต่การประชุมให้ความสุขยิ่งนัก    เพราะได้เห็นชัดว่า โครงการ R2R ที่ผมมีส่วนริเริ่มเมื่อกว่าสิบห้าปีมาแล้ว    ได้กลายเป็น “ชาลา” (platform) สร้างโครงสร้างงานวิจัย R2R ในภาควิชา   

งานวิจัย R2R ที่ภาควิชามีระบบการจัดการ เป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพบริการผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ในเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูง    นำร่องด้วยงานวิจัยของภาควิชาวิสัญญีวิทยา นำโดย รศ. พญ. อรุโณทัย ศิริอัศวกุล เมื่อกว่า ๕ ปีมาแล้ว    ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านผู้สูงอายุที่มารับการผ่าตัด   

  การริเริ่มของ อ. หมออรุโณทัย ทำให้ทีมจัดการ R2R ของศิริราช ที่นำโดย อ. หมออัครินทร์ นิมมานนิตย์ เห็นโอกาสการทำงานส่งเสริม R2R ในรูปแบบใหม่    คือเดิมทีมจัดการ R2R มุ่งทำงานแบบ project-based ซึ่งก็ได้ผลดีมาก    แต่พอเห็นตัวอย่างการริเริ่มที่ภาควิชาวิสัญญีฯ    ทีมจัดการ R2R ก็เห็นโอกาสทำงานแบบ department-based ที่จะลงแรงน้อยกว่า แต่ก่อผลกระทบมากกว่า    จึงดำเนินการเดินสายไปคุยกับหัวหน้าภาควิชา หรือผู้นำด้านการวิจัยของภาควิชา เช่นรองหัวหน้าภาควิชาด้านการวิจัย   

ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ มี ศ. นพ. พรพรหม เมืองแมนเป็นพ่อยกด้านการวิจัย และมี  อ. นพ.ณัฐวุฒิ อัครานุชาต อาจารย์หนุ่มไฟแรง ที่เป็นอาจารย์เพียง ๓ ปี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์แล้วถึง ๘ ชิ้น    และปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น ๑๒   เป็นแกนนำดำเนินการในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง   

วันนี้ อ. นพ.ณัฐวุฒิ อัครานุชาต มาเสนอแนวคิดพัฒนางานวิจัย R2R ในภาควิชาศัลยศาสตร์  จับประเด็นการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วย ๒ เรื่องคือ แผลกดทับ  กับโรคบวมน้ำเหลือง    วิธีนำเสนอสะท้อนมุมมองเชิงระบบที่น่าชื่นชมมาก   ในวงประชุมมีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัย (รวมทั้ง อ. หมออรุโณทัย) ช่วยให้คำแนะนำในการตั้งตัวทำงานวิจัยต่อเนื่องระยะยาว ไม่ burn-out ระหว่างทาง   เมื่อต้องเผชิญแรงต้าน   

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายหน่วย R2R ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564  รศ. นพ. จตุรงค์ พรรัตนมณีวงศ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ก็ได้มาเสนองานวิจัย R2R ของภาควิชา เริ่มจากงานเปลี่ยนข้อเทียม (arthroplasty)    เป็นงานวิจัย R2R ระดับภาควิชาที่กำลังพัฒนาอีกภาควิชาหนึ่ง    

แน่นอนว่า ภาควิชาพยาธิวิทยา ที่มี รศ.พญ. อนัญญา พงษ์ไพบูลย์ (อดีตผู้อำนวยการหน่วย R2R และขณะนี้ก็ยังเป็นทีมงานของหน่วย R2R ด้วย) เป็นหัวหน้าภาควิชา ย่อมกำลังหาทางสร้างระบบ departmental R2R ของท่าน    และมีผลงานมานำเสนอไปครั้งหนึ่งแล้ว

เข้าใจว่า อ. หมออัครินทร์และทีมงาน มีภาควิชาที่กำลังเรียงแถวเข้ามาปรึกษา หาทางสร้างระบบ departmental R2R เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นำมาเล่าให้เห็นรูปแบบการจัดการ ที่หนุนการเรียนรู้และพัฒนาระบบวิจัยรูปแบบหนึ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินไทย   และกำลังมีวิวัฒนาการยกระดับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง    โดยมีการประชุม R2R core team เดือนละครั้ง เป็นกลไกขับเคลื่อนกลไกหนึ่ง นอกเหนือจากการทำงานของทีมงานของหน่วยจัดการ R2R 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ค. ๖๔

  

หมายเลขบันทึก: 691187เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2021 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2021 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะคะ ถึงแม้โควิดมา แต่ R2R ยังดำเนินต่อไปค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท