ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๗๘. ชีวิตครู 


 

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ ผมเข้าร่วม online PLC (๑) ครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งพิเศษ    เพราะเป็นการเยือนโรงเรียนเพลินพัฒนา    ในลักษณะที่โรงเรียนเพลินพัฒนา “เปิดบ้าน” ให้เราเข้าไปเรียนรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่แต่เรียนรู้ What และ How เท่านั้น   ยังให้เราได้เรียน Why ด้วย   

ยิ่งกว่านั้น เราได้เรียนรู้ย้อนไปตลอดช่วงอายุ ๑๗ ปีของโรงเรียนเพลินพัฒนา    คือเป็นการเรียนรู้การพัฒนาโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมคุณภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศ    ว่าพัฒนาตนเองมาอย่างไร     เป็นความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง     

 ผมตีความจากการนั่งฟังตั้งแต่ ๙.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. ว่า    ครูไม่ได้มีหน้าที่แค่สอน    ต้องร่วมกันทำหน้าที่พัฒนาโรงเรียนด้วย    นั่นคือครูต้องร่วมกันพัฒนา ชาลาการเรียนรู้ (learning platform) ของโรงเรียน    ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาเล่าบทบาทนี้ของตนในช่วงเวลาหลายปีที่ตนมาเป็นครูที่โรงเรียนนี้ อย่างภาคภูมิใจ   

ภาคภูมิใจในการฟันฝ่าร่วมกันในกลุ่มเพื่อนครู และผู้บริหาร   

โรงเรียนที่ดี ชาลาการเรียนรู้ จะไม่มีวันหยุดนิ่งตายตัว     ไม่มีคำว่า “เสร็จแล้ว” “สมบูรณ์แล้ว”   

ชีวิตครูจึงต้องเป็นชีวิตที่ agile  ซึ่งหมายถึงว่องไว กระฉับกระเฉง ปราดเปรียว  ในการพัฒนาชาลาการเรียนรู้   เพื่อให้นักเรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเป้าหมาย   และตัวเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ก็ต้องมีการพัฒนา  ตามแนวคิด Double-Loop Learning   

คนที่ชอบชีวิตเฉื่อยชา รักสบาย ไม่ควรมาเป็นครู   เพราะชีวิตครูควรเป็นชีวิตที่ทำงานหนักเพื่อศิษย์    เหมืนอย่างที่เราได้เห็นที่โรงเรียนเพลินพัฒนา     และที่โรงเรียนอื่นๆ อีกจำนวนมาก   

ถ้อยคำในย่อหน้าบน  ควรอยู่ในการปฐมนิเทศนักศึกษาครู     หรือประกาศตอนรับสมัครครู  และรับสมัครนักศึกษาครู         

ชาลาการเรียนรู้ ของแต่ละโรงเรียนควรมี ๒ ชาลาที่มีส่วนซ้อนทับกัน และเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน    คือชาลาการเรียนรู้ของนักเรียน   กับชาลาการเรียนรู้ของครูและผู้บริหาร    ทั้งสองชาลาต้องไม่จำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น   ต้องเชื่อมโยงสู่ชาลาชีวิตจริงของผู้คนโดยรอบโรงเรียน     เพื่อช่วยเอื้อสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของนักเรียน ให้นักเรียนได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ในทฤษฎีเข้ากับชีวิตจริงผ่านการปฏิบัติ    ในกระบวนการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า PBL – Project-Based Learning   

PBL ของนักเรียน จะช่วยให้ครูได้เรียนรู้วิธีทำหน้าที่ครู ที่เชื่อมโยงความรู้ทฤษฎีเข้ากับความรู้ปฏิบัติของชาวบ้าน    ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของครูที่เรียกว่า PLC – Professional Learning Community    เอาเป้าหมาย วิธีการ และผลที่เกิดขึ้นจากการออกแบบการเรียนรู้แก่นักเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ซึ่ง จะเป็น PLC เชิงพิธีกรรม หรือเป็น PLC ที่ทรงพลังเรียนรู้ ขึ้นกับการตั้งคำถาม       

ชีวิตครูจึงควรเป็นชีวิตแห่งนักเรียนรู้วิธีตั้งคำถาม     ครูเรียนเป็นนักตั้งคำถาม   ซึ่งเรียนได้ตลอดชีวิต   และจะเป็นชีวิตที่สนุกมาก   อย่างที่ผมกำลังสนุกอยู่นี่แหละ 

ครูเป็นนักสร้างชาลาการเรียนรู้    และนักตั้งคำถาม    ทำไปเรียนรู้ไป    ทั้งเรียนรู้ทฤษฎีจากแหล่งต่างๆ (ซึ่งเดี๋ยวนี้หาง่ายมาก)  และเรียนจากภาคปฏิบัติ   

 ทั้งหมดนั้น เพื่อพัฒนาการรอบด้านของศิษย์    ชีวิตของ...ครูเพื่อศิษย์  

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๔ 

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท