ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๗๒. Online PLC เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  และเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา 


 

ผมเขียนเรื่อง online PLC ไว้ที่ (๑)   นี่คือโครงการทดลองจัดวงเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน ที่เป็นวงเรียนรู้ ออนไลน์  ผ่านซูม    ที่ กสศ. ให้ทุนสนับสนุนให้ มูลนิธิสยามกัมมาจลดำเนินการ    เป็นกิจกรรมที่เริ่มเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ (๒)    และในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ ๑๒) และพิเศษตรงที่ไปเรียนรู้จากโรงเรียนเพลินพัฒนา   ในทำนองกิจกรรมเปิดบ้านของโรงเรียนเพลินพัฒนา     ตามคำเรียกร้องของสมาชิกในวง online PLC   เป็นกิจกรรมในช่วงวิกฤติโควิดระบาดใหญ่รอบสาม    ทำให้กิจกรรม ออนไลน์ กลายเป็นจุดแข็ง    ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง    รวมทั้งทีมจัดการของ SCBF ก็มีความชำนาญทั้งในด้านเทคโนโลยี และด้านการ facilitate กระบวนการ     ทีมงานร่วมซ้อมกับทีมของโรงเรียนเพลินพัฒนาล่วงหน้าอย่างจริงจัง   

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง PLC เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไว้ที่ (๓)     โดยเสนอเครื่องมือ online meta-PLC เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีสาเหตุที่ซับซ้อนหลากหลายมิติ    ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวและสังคม    อีกส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนและครู โดยที่มักเป็นสาเหตุซ่อนเร้น คือเกิดโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว    บันทึก Online PLC  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้  มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโรงเรียนและครู   

ผมกำลังลงบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก (๔) โดยมีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อหนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ห้องเรียนและโรงเรียนเป็นต้นเหตุ     

ที่จริงวิธีแก้ปัญหาการศึกษาไทยคุณภาพต่ำไม่ยากเลย    หากเราจับประเด็นได้ถูกต้อง    หรือมีวิธีคิดว่าด้วย change management ที่ถูกต้อง   

มีโรงเรียนและครูไทยจำนวนหนึ่ง ราวๆ ๑ พันโรงเรียน ที่จัดการเรียนรู้เชิงรุก   มีการจัดการระดับโรงเรียนที่เอาใจใส่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน (CLO – Core Learning Outcome) เป็นศูนย์กลาง (ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่เอาใจใส่การดำเนินการตามคำสั่งของส่วนกลาง และเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง)     โรงเรียนกลุ่มแรกน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”    ตามที่ผมเสนอไว้ที่โคราชเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔       

ต้องขอบคุณโควิด ที่ช่วยกระตุ้นให้มีการทดลองจัด online PLC เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  (๑)     คือตอนนี้เราทำเป็นแล้ว   และครูและผู้บริหารโรงเรียนจำนวนหนึ่งมีประสบการณ์เข้าร่วมและเห็นคุณค่าด้วยตนเอง       

 จึงเกิดความคิดว่า กระทรวงศึกษาธิการน่าจะพิจารณาการทำหน้าทื่ empower โรงเรียนและครูผ่าน online PLC     นักวิชาการในกระทรวงจะเปลี่ยนบทบาทจากการทำงานวิชาการโดยเน้นข้อมูลเชิงทฤษฎีจากตำรา รายงานผลการวิจัย และเอกสารวิชาการต่างๆ   ไปเน้นข้อมูลจากสนามปฏิบัติการ (คือโรงเรียน) มากกว่า    เอาข้อมูลเชิงทฤษฎีเป็นส่วนประกอบ    การดำเนินการแบบนี้ จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาตัวจริง     คือเปลี่ยนจุดสนใจจากอำนาจของกระทรวง ไปที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๔ 

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท