สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ๖. กรอบปฏิบัติการที่ ๒ พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ (interactive settings)



บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุกนี้    เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)    กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม   และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๗ หัวข้อ Repertoitre 2 : Interactive Settings   และส่วนหนึ่งของ Appendix I    

อาจจำแนกเรื่องพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้แบบสอนเสวนา ออกได้ ๔ มิติ คือ  (๑) ด้านปฏิสัมพันธ์ (relations)  (๒) ด้านการจัดกลุ่ม (grouping)  (๓) ด้านเทศะหรือพิ้นที่ (space)  (๔) ด้านกาละหรือเวลา (time)

ด้านปฏิสัมพันธ์ (Relations)

ปฏิสัมพันธ์เชิงสอนเสวนาในชั้นเรียนจำแนกง่ายๆ ออกเป็น ๓ แบบคือ  (๑) ทั้งชั้น  (๒) กลุ่มย่อย  (๓) เรียนคนเดียว    ซึ่งเมื่อนำมาจัดการชั้นเรียน จะจำแนกได้เป็น ๕ แบบคือ

  • สอนรวมทั้งชั้น
  • ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยครูเป็นผู้จัด
  • ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยนักเรียนเป็นผู้จัด
  • สนทนากัน ๒ คน ระหว่างนักเรียนด้วยกัน
  • สนทนากัน ๒ คน ระหว่างนักเรียนกับครู   

 ด้านการจัดกลุ่ม

  • ขนาดของกลุ่ม    ส่วนใหญ่กลุ่มละ ๖ - ๘ คน   ขึ้นกับชิ้นงานที่จะทำ  และขึ้นกับพื้นที่ทางกายภาพของห้อง    หนังสือไม่เอ่ยว่าหากจำนวนสมาชิกมากเกินไปจะมีสมาชิกบางคนไม่ทำงาน    ผมเคยเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด จนได้ฟังเรื่องการจัดกลุ่มทำงานของนักศึกษาสาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ ๔ เทอมที่ ๒   จึงได้ตระหนักว่าหัวใจสำคัญของจำนวนสมาชิกกลุ่ม อยู่ที่ปริมาณงานที่จะต้องแบ่งกันทำ (๓)   
  • วิธีจัดสมาชิกกลุ่ม    จัดได้หลากหลายแบบ ทั้งให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันเอง  หรือใช้วิธีให้นับ ๑ ถึง ๖ (กรณีแบ่งเป็น ๖ กลุ่ม)   หรือวิธีอื่น    โดยมีหลักการว่าให้สมาชิกกลุ่มมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเท่าเทียมกัน     ไม่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งร่วมกันยึดอำนาจเนื่องจากสนิทกัน    รวมทั้งกลุ่มมีการทำงานแบบอิสระจากครูให้มากที่สุด    หนังสือเอ่ยถึงวิธีจัดกลุ่มแบบคละ   หรือแบบตั้งใจ (เช่นแยกเพศ    แยกเด็กเก่งกับไม่เก่ง) โดยไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่าหรือเหมาะกว่าในสถานการณ์ใด       
  • บทบาทของสมาชิกกลุ่ม   มีได้หลายแบบ เช่น ทุกคนทำงานเดียวกันแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน     แบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อผลงานชิ้นเดียวของกลุ่ม    ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลงานของกลุ่มชิ้นเดียว  

ด้านเทศะ

นี่คือการจัดโต๊ะนั่งในห้อง    ซึ่งควรเน้นความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ว่องไว     ขึ้นกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น    เช่นจัดเป็นแถวอย่างชั้นเรียนทั่วไป    ใช้ในกรณีครูเป็นผู้กำกับการเสวนาของทั้งชั้น    หรืออาจจัดเป็นรูปเกือกม้า ครูอยู่ด้านว่างของเกือกม้า     หรือจัดเป็นกลุ่มโต๊ะเพื่อการประชุมกลุ่มย่อย    

การจัดรูปเกือกม้าคล่องตัวที่สุด เพราะปรับเป็นคุยเป็นคู่ หรือสี่คนได้ง่าย   

ด้านกาละ (Time)

  • ความยาวของบทเรียน
  • สมดุลของกิจกรรมที่เน้นการพูด กับกิจกรรมที่เน้นการอ่านเขียน   รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม 
  • สมดุลของการพูดหลากหลายแบบ
  • ความเร็ว   เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะระหว่างความเร็ว กับผลลัพธ์ที่ได้    ซึ่งต้องแยกระหว่างการสอนเนื้อหาได้ครบถ้วน  กับการที่นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง    รวมทั้งต้องแยกแยะระหว่างความเร็วในการจัดการ  กับความเร็วในปฏิสัมพันธ์    และความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียน    ข้อพึงระวังคือ การเรียนรู้ต้องการเวลาคิด  

ข้อสรุปเชิงเตือนใจครูที่สำคัญที่สุดคือ  การจัดระบบการเรียนรู้ สำคัญต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนน้อยกว่าคุณภาพของการสานเสวนาในชั้นเรียน     

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เมษายน ๒๕๖๔

            

หมายเลขบันทึก: 690939เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2021 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2021 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I have been browsing online more than 4 hours today, yet I never found any interesting article like yours.

It is pretty worth enough for me. In my opinion, if all site owners and bloggers made good content as you did, the web will be a lot more useful than ever before.By the way, here is a link to wonderful site for earnings - casino unique

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท