มาตรการควบคุมเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณี อบต.


มาตรการควบคุมเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณี อบต.

20 พฤษภาคม 2564

 กรณีตัวอย่างศึกษา อบต.คีรีเขต

กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แผนงานงบกลาง งานงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ตั้งไว้ เพื่อจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากสาธารณภัยต่างๆ เช่น ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่ม ภัยแล้ง ภัยหนาว อัคคีภัย หมอกควัน โรคติดต่อ ไฟป่า ฯลฯ ​และองค์การบริหารส่วนตำบลได้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวหมดแล้ว

ตามมาตรการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-​19 (COVID-19) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สถานการณ์

​(1) รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เนื่องด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นคราวๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง 

(2) นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ประกาศ ลงวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยให้มีผลวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งได้กำหนดการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค

(3) นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2564 ซึ่งได้ตรวจสอบพบผู้ติดโรคจำนวนมาก สถานการณ์การระบาดของโรคจึงยังคงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มขนและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2564-31 พฤษภาคม พ.ศ.2564

(4) ประกอบกับคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดต่างๆ ที่มีอำนาจในแต่ละพื้นที่จังหวัดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เช่น ตามคำสั่งจังหวัดยะลา ที่ 28/2564 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยง และกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกเมษายน ในพื้นที่จังหวัดยะลา พบผู้ติดเชื้อย่างต่อเนื่อง และจากการติดตามการสอบสวนโรคพบว่า มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเกิดจากการสัมผัสบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก การสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนกลุ่มเครือญาติ และการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา จึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง และกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ จำนวน 5 มาตรการรายละเอียดตามประกาศ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 

(5) ซึ่งในการระบาดในช่วงนี้ ระลอกเมษายน 2564 เป็นระลอกที่ 3 (Wave 3) มาตรการในการควบคุมเฝ้าระวังการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จึงเข้มงวดกวดขันมากขึ้น เช่น การตรวจสอบไทม์ไลน์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19, การสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เกี่ยวกับประวัติกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ, การจัดตั้งสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตอาการ (LQ : Local Quarantine) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ตามประกาศของอำเภอ เรื่อง สถานที่กักกันเพื่อสังเกตการณ์เริ่มป่วย (Local Quarantine) ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งจัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อปท. โดยมี อปท.เป็นผู้รับผิดชอบ 

(6) นอกจากนี้ส่วนกลาง และหน่วยเหนือได้กำชับ การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แจ้งขอความร่วมมือ อปท. ดำเนินการจัดซื้อหน้ากากผ้าหรือจัดทำหน้ากากผ้า แจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วย

(7) รายงานสถานการณ์ของกรมควบคุมโรคl กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 เวลา 17.00 น. ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 55,460 ราย อาการรุนแรง 502 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งสิ้น 140 ราย

(8) เพื่อเป็นการป้องกันดำเนินการ ให้มีการป้องกัน การควบคุม การแพร่ และการระงับการระบาดของโรค โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ มีผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมากขึ้น  และอาจกระจายออกสู่บุคคลอื่นเป็นวงกว้าง ซึ่งถือเป็นเหตุสาธารณภัยฉุกเฉิน ที่ไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน อปท.อาจขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างในงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเร่งด่วนจากโรคโควิด 19 ได้

ข้อกฎหมาย ระเบียบ

(1) ​​เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67 (3) องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ (4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (19) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล 

​(2) ในกรณี อบต. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67 (3) องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ (4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (19) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล

​(3) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560

​ข้อ 15 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ดังนี้

​(1) ยา เวชภัณฑ์ และวัสดุที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางหรือหนังผ้าปิดปากหรือปิดจมูก รองเท้ายางหุ้มส้นสูงใต้เข่า (รองเท้าบู๊ต) หรือเสื้อกันฝน

​(2) เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด

​หมวด 7 การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชน ข้อ 18 กรณีเกิดสาธารณภัยฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายจากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยโครงการ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น

​(4) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

​ข้อ 6 กรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือไม่ก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น โดยฉับพลันทันที เพื่อการดำรงชีพ หรือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า หรือระงับสาธารณภัย หรือเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน หรือป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่ประชาชน ได้ตามความจำเป็น ภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการพิจารณา

​(5) หนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุดที่ กค 0402.4/ว160 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

​(6) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 91 ภายใต้บังคับข้อ 89 ในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น โดยให้คำนึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

​(7) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 79 วรรคสอง การซื้อหรือจ้างตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน และไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานนั้นดำเนินการไปก่อนแล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม

​(8) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุดที่ มท 0808.2/ว 1552 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

​(9) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุดที่ มท 0808.2/ว 1602 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 เรื่อง ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

(10) ​หนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0808.2/ว1727 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2563 เรื่องซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

​(11) หนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0211.3/ว1733 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2563 เรื่องมาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน

(​12) หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว115 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรื่องการดำเนินการกรณีการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

(​13) หนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุดที่ มท 0808.2/ว1992 ลงวันที่ 1 เมษายน 2563 เรื่องแนวทางการจัดหาอาหารในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

ข้อพิจารณา ข้อสังเกต ข้อเสนอ

​(1) การขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ตามระเบียบ มท.ฯ ข้อ 91 ผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อปท.)อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็น ภายในวงเงินตามกรอบค่าใช้จ่าย เพื่อดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างในงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเร่งด่วนจากโรคโควิด 19 ได้ โดยคำนึงถึงฐานะการเงิน การคลังของ อปท. และแต่งตั้ง

(1.1) คณะกรรมการการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ในการกำหนดรายการค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น 

(1.2) มอบหมายบุคคล เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 79 วรรคสอง 

NB :

ข้อสังเกตในนิยามคำว่า "สาธารณภัย" ตามกฏหมายใหม่ ด้วยเหตุว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
นิยาม"โรคติดต่ออันตราย" มีความหมายอยู่ในนิยาม "โรคติดต่อ" 
นิยาม"โรคติดต่อ" มีความหมายอยู่ในนิยาม"โรคระบาด"
นิยาม"โรคระบาด" หมายถึงโรคติดต่อฯ 
แล้วประกาศ ฉ.3 ว่าโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะอยู่ในนิยาม "โรคติดต่อ" อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพราะคำว่า โรคระบาดอยู่ในนิยาม สาธารณภัย 

(2) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) "เป็นสาธารณภัย" หรือไม่ ดู หนังสือ กระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2120 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 ในคำว่า"โรคระบาด" ตามนิยามของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตีความอย่างไรป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตีความอย่างไร

เพราะว่า โรคใดจะเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ต้องรอประกาศตาม พ.ร.บ.ที่บัญญัติ

ก่อนหน้าหนังสือ ว 2120 ได้ตีความว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) ยังไม่ใช่สาธารณภัย ซึ่งย้อนแย้งมาก 

(3) สถ.ร่อนหนังสือตอบ 7 ข้อหารือ จ.นครนายก กรณีช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 เป็นแนวทางให้ อปท.ทั่วประเทศ, 
23 พฤษภาคม 2563, 
https://poonamtongtin.com/a/%E...

(4) ใช้งบประมาณได้จากแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล โดยมี กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ
1. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด
2. กลุ่มเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน
3. กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน 
4. กลุ่มวัยทำงาน 
5. กลุ่มผู้สูงอายุ  
6. กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  
7. กลุ่มคนพิการและทุพพลภาพ 
8. กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง และผู้เกี่ยวข้อง  
9. สำหรับการบริหารหรือพัฒนากองทุนฯ [ข้อ 10 (4)]
10. กลุ่มอื่น ๆ (ระบุ)เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค  

(5) ตัวอย่างความเห็น comment ที่ดีมาก

วันนี้ จะทำความเข้าใจ พอสังเขป เกี่ยวกับประเด็น ที่เป็นข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ในเรื่องการช่วยเหลือ ประชาชน กรณีเกิดสาธารณภัย หรือ ไม่ใช่สาธารณภัย โดยเฉพาะ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีการถกเถียงกัน เป็นข้อกังขา ว่า คุณโควิด นายทีน นี่ เป็น สาธารณภัย หรือไม่...
เราจำเป็นต้องแยกประเด็น ของการช่วยเหลือประชาชน ออกจาก ประเด็นของการเป็นสาธารณภัยหรือไม่ ก่อนนะครับ
เพราะว่าการช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่จะช่วยเหลือได้เพียงกรณีเกิดสาธารณภัย เท่านั้น แต่หากมีความเดือดร้อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาธารณภัย ก็จำเป็นต้องช่วย โดยมุ่งที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของเขา เช่น กรณี เดือดร้อนเพราะเหตุความยากจน 
ความพิการ หรือถูกกระทำอื่น ๆ แล้วเดือดร้อน ช่วยตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องช่วยเหลือ ไม่ได้มุ่งที่ว่า เป็นสาธารณภัยหรือไม่ แต่มุ่งที่เดือดร้อนมากหรือไม่ เดือดร้อนจริงหรือไม่ แม้แต่เรื่องที่เดือดร้อนเพราะเหตุสาธารณภัย ก็ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศให้เป็นสาธารณภัย ถึงแม้ไม่ประกาศเป็นสาธารณภัย มันก็คือสาธารณภัย หากภัยนั้นทำให้ประชาชนเดือดร้อนหลาย ๆ คน
ไฟไหม้ ไม่ต้องประกาศว่า ไฟไหม้ มันก็คือ ไฟไหม้อยู่นั่นเอง 
คำว่า “สาธารณภัย “ เป็นคำนาม ที่เรียกเหตุการณ์ต่าง ๆ หากมันยังไม่เกิดในพื้นที่ใด ยังไม่มีใครเดือดร้อน ก็ยังไม่มีสาธารณภัย ณ ที่ตรงนั้น เหมือนเรียกลูกระเบิดลูกหนึ่ง ว่ามันคือระเบิด แต่ถ้าระบิดลูกนั้นยังไม่ได้ขว้างใส่ใคร ยังไม่ได้ถอดสลัก มันยังไม่มีใครเดือดร้อนใช่ใหม มันคือระเบิด แต่ยังไม่ระเบิด ก็ยังไม่มีคนบาดเจ็บล้มตาย
..ดังนั้น ..ประเด็นที่ผู้คนตั้งคำถามว่า คุณโควิด เป็นสาธารณภัยหรือไม่ คำตอบก็คือ 
ถ้าคุณโควิด มันอยู่ของมันเฉย ๆ ยังไม่ได้ไปอาละวาดลุกลาม ในพื้นที่ใด พื้นที่นั้น ก็ไม่ได้มีสาธารณภัย จากโรคติดต่ออันตราย ที่มีการระบาด ตามคำนิยามของคำว่า “โรคระบาด “ ในกฎหมาย โรคติดต่อ 
แต่หากพื้นที่ใด มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 แล้วติดต่อลุกลามไปยังคนอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คน แบบนี้ ถือว่า พื้นที่นั้น เกิดสาธารณภัยแล้ว แม้ไม่ประกาศเป็นสาธารณภัย มันก็เป็นสาธารณภัยในตัวของมันเอง..
..ทีนี้ มากล่าวถึงการช่วยเหลือ
ขอให้แยกแยะประเด็นของการใช้งบประมาณว่า จะต้องเป็นสาธารณภัยหรือ จึงใช้งบประมาณได้..
ไม่ใช่ครับ กรณีเงินสำรองจ่ายในงบกลาง ก็กำหนดไว้ว่า ใช้จ่ายกรณีแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยส่วนรวม
ทั้งกรณีเกิดสาธารณภัย และที่ไม่ได้เป็นสาธารณภัยด้วย (ความเดือดร้อนอย่างอื่น) สำหรับ กฎหมายจัดตั้ง อปท. กำหนดให้มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ 
สังเกตได้ว่า มีหน้าที่ในการ “ป้องกัน” คือยังไม่เกิดแต่คาดว่าจะเกิดก็มีหน้าที่แล้วในการเข้าไปดำเนินการป้องกัน... ไม่เฉพาะเกิดภัยแล้วเท่านั้น..
ทีนี้ ประเด็นการใช้งบประมาณ มีขั้นตอนการใช้จ่ายต่างกัน ในแต่ละกรณี 
หากเป็นกรณีป้องกันก่อนเกิดภัย ก็ใช้งบประมาณได้ แต่ใช้งบประมาณ ปกติในลักษณะ ไม่ได้เร่งด่วนฉุกเฉิน หรือหากว่าถ้าต้องป้องกันเร่งด่วนถ้าช้าจะเกิดความเสียหายก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง
แต่กรณีเกิดภัยแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ตั้งไว้กรณีฉุกเฉินเช่นงบกลางเงินสำรองจ่ายหรือเงินสะสม
และหลังเกิดภัยก็เข้าสู่การช่วยเหลือฟื้นฟู มันก็มีขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนฯ...
นี่คือประเด็นที่นำเสนอเพื่อพิจารณาว่า แต่ละพื้นที่ มีเหตุการณ์ การเกิดภัยแตกต่างกัน ไม่ได้เหมือนกัน แต่ละแห่งย่อมต้องพิจารณาดำเนินการไปตามสถานการณ์ของเขตความรับผิดชอบของใครของมัน ในส่วนของท้องถิ่น แต่รัฐบาลกลาง เขารับผิดชอบเขตประเทศ เขาจะทำทั้งหมดประเทศก็ทำได้อำนาจเขาครอบคลุมประเทศ จังหวัดก็เช่นกัน เขาทำได้ในภาพรวมของจังหวัด แต่การจะสั่งให้ท้องถิ่นทำเหมือนกันทุก อปท. ในจังหวัด โดยที่แต่ละตำบลไม่มีเหตุที่เหมือนกัน นับเป็นความไม่เข้าใจของจังหวัด
..ประเด็นนี้ ขอนำเสนอไว้เพียงเท่านี้ก่อน ถ้ามีเวลาจะเขียนเป็นบทความที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ มาให้อ่านกัน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ ต่อไป...
woothi pati.5/5/2563

มีข้อสังเกตอีกประการกรณีโควิด-19 คือภัยจากโรคระบาดแตกต่างจากภัยประเภทอื่นอีกด้วย ที่สามารถระบาดข้ามพื้นที่ของ อปท.ข้ามจังหวัด ข้ามพื้นที่ได้ทั่วโลก

(6) เป็นกรณีตัวอย่างศึกษา อบต.คีรีเขต

หมายเลขบันทึก: 690709เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2021 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2021 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท