การดำเนินงานประกันคุณภาพภายในโรงเรียน


การดำเนินงานจัดระบบการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน ประกอบไปด้วย

1. การประเมินคุณภาพภายใน เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษากระทำโดยบุคลากรของสถานศึกษาหรือโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษา ทั้งนี้เพื่อนำผลจากการประเมินไปใช้ในการวางแผนพัฒนากิจกรรม/โครงการพัฒนาที่สนองตอบต่อสภาพความจริง มีความเป็นไปได้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
2. การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและจัดทำรายงานการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาพร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการ เร่งรัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
3. การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นกระบวนการพัฒนาการศึกษาเข้าสู่คุณภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยมีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา การจัดระบบและโครงสร้าง การวางแผนและการดำเนินงานตามแผน รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้
1) กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
2) จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
3) จัดระบบบริหารและสารสนเทศ
4) ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
5) จัดให้มีการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
6) จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษา
7) จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน
8) จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

1. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
มาตรฐานการศึกษาเป็นข้อกำหนเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์ของสถานศึกษา และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ประเมินผลและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนสำคัญที่สุด
การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจึงเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ เอกลักษณ์ของสถานศึกษา มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ดังนั้นการดำเนินงานของสถานศึกษาคือ การมีมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ตลอดจนมีการขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การดำเนินงานนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาของศึกษานิเทศก์ คือ การตรวจสอบมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการประกาศใช้ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับทราบ ดังนั้นการดำเนินงานนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา จึงมีแนวทางดังนี้
1. มีมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับชาติ
2. มีมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับชาติ
3. มีอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับปรัชญา วิสัยทัศน์ คำขวัญ การจัดตั้งโรงเรียน
4. มีเอกลักษณ์ของโรงเรียน
5. ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6. ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนรับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุมาตรฐาน อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของโรงเรียน
( ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไปใช้มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2554 11 มาตรฐาน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 มาตรฐาน)
(ปีการศึกษา 2552 – 2553 ใช้มาตรฐานการศึกษาปี 2550 ระดับการศึกษาปฐมวัย 18 มาตรฐาน / ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 18 มาตรฐาน)ปีการศึกษา 2561 ระดับการศึกษาปฐมวัย 3 มาตรฐาน /ระดับการศึกษาข้้นพื้นฐาน 3 มาตรฐาน

2. จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
แผน เป็นเอกสารที่แสดงโครงการ/กิจกรรม วิธีการที่ได้ผ่านการคิดมาแล้วล่วงหน้า โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันคิด และพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ สำหรับเป็นเครื่องชี้นำการดำเนินการใด ๆ ที่สอดรับกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร ในสถานศึกษาโดยมีแผน 2 ประเภท คือ
1) แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาซึ่งเป็นแผนที่มีรอบระยะเวลาการพัฒนาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา อาจเป็นแผน 3 ปี แผน 4 ปี หรือแผน 5 ปี แล้วแต่ความเหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา แผนประเภทนี้จะสะท้อนกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่จะใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่วางไว้
2) แผนปฏิบัติการประจำปี เป็นแผนที่แตกมาจากแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อการดำเนินงานเป็นรายปี โดยแผนปฏิบัติการในแต่ละปีนนั้น ควรมีจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่ชัดเจน มีกิจกรรมการดำเนินงานตามกรอบเวลา สถานที่ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ มีกิจกรรม ปฏิทิน การติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานความก้าวหน้าของการดำเนินงาน การปรับปรุง แก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการรายงานโครงการเพื่อเป็นข้อมูลและสารสนเทศในการปรับปรุงและพัฒนาในปีต่อ ๆ ไป
การดำเนินงานนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาของศึกษานิเทศก์คือ การตรวจสอบให้ข้อเสนอแนะ เป็นที่ปรึกษา คุณภาพแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษาที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนรายงานการประเมินโครงการตามแผนปฏิบัติการในแต่ละปี ดังนั้นแนวทางในการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา มีดังนี้
1. มีแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน 3 ปี / 5 ปี ที่มียุทธศาสตร์สนองตอบต่อการพัฒนาผู้เรียนตามปรัชญา / วิสัยทัศน์ของโรงเรียน
2. มีแผนปฏิบัติการประจำปีสนองตอบต่อแผนพัฒนาการจัดการศึกษาย้อนหลัง 3 ปี (ปีงบประมาณ 2563 2564 2565)
3. แผนปฏิบัติการในแต่ละปีมีโครงการที่สนองตอบต่อจุดเน้นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ของโรงเรียน
4. ทั้งแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนและแผนปฏิบัติการประจำปี ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
5. ครูทุกคนรับรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการของโรงเรียน
(แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนและแผนปฎิบัติการต้องแยกให้เห็นภาพการดำเนินงานทั้งระดับการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

3. การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ
การจัดระบบบริหารและสารสนเทศของโรงเรียน มีการดำเนินงาน ดังนี้
3.1 การจัดระบบบริหารสถานศึกษา การจัดโครงสร้างการบริหารสถานศึกษาที่สอดคล้องกับโครงสร้างการแบ่งงานตามการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ประกอบไปด้วย การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ทั้งนี้ โครงสร้างการบริหารควรมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
3.2 การจัดระบบสารสนเทศ ระบบสารสนเทศมีความสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนั้น สารสนเทศของโรงเรียนต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ อันประกอบไปด้วย สารสนเทศของผู้เรียนรายคนที่เป็นปัจจุบันทุกภาคเรียน สารสนเทศการจัดการเรียนการสอนของครูประกอบไปด้วย วิธีการ/รูปแบบ/นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู การใช้แหล่งเรียนรู้ สารสนเทศการบริหารจัดการของโรงเรียนประกอบไปด้วย การบริหารจัดการโครงการ การสร้างความร่วมมือกับชุมชน ทรัพยากรการศึกษา ทั้งนี้ การจัดระบบสารสนเทศควรมีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบอาจจะจัดเก็บในรูปของแฟ้มเอกสารหรือใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ดังนั้น แนวทางการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา มีดังนี้
1. มีสารสนเทศผู้เรียนรายคนในระดับชั้นเรียนทุกภาคเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร จุดเน้นปฏิรูปการเรียนรู้
2. มีสารสนเทศการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของครูทุกปีการศึกษา
3. มีสารสนเทศการบริหารจัดการของโรงเรียน ในการเสริมสร้างศักยภาพการเรียนการสอนของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียน
4. มีโครงสร้างการบริหารจัดการโรงเรียนตลอดจนผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน
5. มีระบบการจัดเก็บสารสนเทศที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้และนำมาใช้ได้

4. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
แผนพัฒนาการจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นทิศทางสำคัญในการบริหารจัดการโรงเรียนสู่คุณภาพผู้บริหารโรงเรียนมีภาวะผู้นำทางวิชาการควบคู่กับการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพและระบบคุณธรรม จัดสิ่งอำนวยความสะดวก สนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ดูแล กำกับ ติดตาม และนิเทศงานของครู และผู้เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้ ให้ความสำคัญและการดำเนินงานปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กล่าวคือ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเป็นผู้นำในการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่กำหนดไว้ในแต่ละปีการศึกษา รวมทั้งมีการส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตามและให้ความช่วยเหลือแก่ครู ให้สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นแนวทางการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา มีดังนี้
1. มีปฏิทินการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม แต่ละปีการศึกษาที่ชัดเจน
2. มีการกำหนดผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการ/กิจกรรม
3. มีรายงานการประชุม ปรึกษาหารือ การดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง
4. มีรายงานการกำกับ ติดตาม นิเทศ การดำเนินงานตามแผนเป็นระยะ ๆ

5. การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นการตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดทำงานงานการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา โดยโรงเรียนมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศ การดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นแนวโน้มการปฏิบัติงานว่าดีขึ้นหรือกำลังถอยลง ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดบ้าง โดยการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา โรงเรียนควรกระทำทุกปี ทั้งนี้ การดำเนินงานตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และให้ความสำคัญกับคุณภาพผู้เรียนเป็นอันดับแรก และเชื่อมโยงถึงมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนในด้านอื่นๆ รวมถึง อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ของโรงเรียนด้วย ดังนั้น แนวทางการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาด้านการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มีดังนี้
1. มีปฏิทินการกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ การนิเทศภายในโรงเรียน
2. มีผู้รับผิดชอบตามปฏิทินชัดเจน
3. มีรายงานผลการประเมินโครงการตามแผนปฏิบัติการประจำปี
4. มีรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทุกปีการศึกษา
5. มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการนำผลไปใช้ในการปรับปรุงแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม/การสอน/หลักสูตร
6. มีการนำผลจากการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นสารสนเทศในการพัฒนาในปีต่อไป

6. การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
การประเมินคุณภาพภายในถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเพื่อให้ทราบขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาว่าบรรลุตามเป้าหมายหรือมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาหรือไม่ การ Evaluation) โดยสะท้อนภาพความสำเร็จใน 3 ด้านคือ
1) คุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่เกิดการเชื่อมโยงจากมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรสู่มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน โดยระบุถึงกลุ่มผู้เรียนที่ได้มาตรฐานและกลุ่มผู้เรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลจากการประเมินจะบ่งบอกถึงสภาพการจัดการศึกษาว่าบรรลุตามมาตรฐานหรือไม่ และมีสิ่งใดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
2) คุณภาพครูตามมาตรฐานการสอน เป็นการประเมินคุณภาพการสอนของครูว่าเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการเรียนรู้หรือไม่ มีสิ่งใดบ้างที่ต้องปรับปรุง
3) คุณภาพการศึกษาด้านการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นการประเมินคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาด้วยวิธีการอย่างหลากหลายอย่าง การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจสอบ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องในมาตรฐานผู้เรียนและการเรียนการสอน การดำเนินงานนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีแนวทาง ดังนี้
1. มีการประเมินมาตรฐานด้านผู้เรียน ทั้งในระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชั้นเรียน
2. มีการประเมินมาตรฐานครูผู้สอน ทั้งในระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. มีการประเมินมาตรฐานผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. มีผลการประเมินมาตรฐานผู้เรียน/มาตรฐานผู้สอน/มาตรฐานผู้บริหาร เป็นภาพรวมของโรงเรียน
5. มีแนวทางการพัฒนา/ข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน

7. การจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน
การจัดทำรายงานประจำปีเป็นเรื่องปกติที่สถานศึกษาต้องจัดทำหลังการจัดการศึกษาผ่านไปแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเปิดเผยต่อสาธารณะชน โดยรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษาจะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลและหลักฐานยืนยันการพัฒนาสถานศึกษาสำหรับการรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกด้วย โดยรายงานประจำปีจะประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ 1) ข้อมูลพื้นฐาน 2) แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา 3) ผลการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และ 4) สรุปผลการพัฒนาและการนำผลไปใช้ การนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา การจัดทำรายงานประจำปีเป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในมีแนวทาง ดังนี้
1. มีรายงานประจำปีระดับการศึกษาปฐมวัย
2. มีรายงานประจำปีระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. รายงานประจำปีผ่านความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. มีการเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด
5. มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชน

8. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นความยั่งยืนของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนบนพื้นฐานของข้อมูลสารสนเทศจากการประเมินตนเองและการจัดทำรายงานประจำปี โดยนำแนวทางการพัฒนามาปรับปรุงการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม/การเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ได้มาตรฐานการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นภาระงานปกติที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบผลที่เกิดร่วมกัน การดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียนทั้งสถานศึกษา ดังนั้น การนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องมีแนวทาง ดังนี้
1. มีข้อมูลสารสนเทศแนวทางการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนจากรายงานประจำปี
2. มีการประชุมสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคเรียนในการนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนปีการศึกษาใหม่
3. มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ตามข้อมูลสารสนเทศ

หมายเลขบันทึก: 690679เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท