ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑


ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑ 

http://mobile.nlt.go.th/readall/375624
สามารถดาวน์โหลดเป็นไฟล์ pdf 447 หน้า
https://tinyurl.com/jn6h5uua

ประกอบด้วย

๑. คัมภีร์กระษัย มี ๒ เล่ม ได้แก่

       คัมภีร์กระษัย เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๐๐)

         ว่าด้วยลักษณะกระษัย ตั้งแต่กระษัยลัน จนถึง กระษัยดาน (มียาแก้)

       คัมภีร์กระษัย เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๐๑)

         ว่าด้วยกระษัยทัน จนถึง ลักษณะกระษัย ๔ ประการ (มียาแก้)

๒. คัมภีร์ตักกศิลา มี ๒ เล่ม ได้แก่

       คัมภีร์ตักกศิลา เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๐๓)

         ว่าด้วยเมืองตักกศิลาเกิดความไข้ จนถึง ไข้ ๓ ฤดู

       คัมภีร์ตักกศิลา เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๐๔)

         ว่าด้วยประเภทไข้ทั้งปวง จนถึง ยาแก้ไข้ ตามนามปี

๓. คัมภีร์ธาตุวิภังค์ มี ๒ เล่ม ได้แก่

       คัมภีร์ธาตุวิภังค์ เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๐๖)

         ว่าด้วยลักษณะธาตุของบุคคล จนถึง อาการธาตุพิการตามฤดู

       คัมภีร์ธาตุวิภังค์ เล่ม ๒ (เลขที่ ๑๐๐๗)

         ว่าด้วยยาแก้พิษที่เกิดจากธาตุพิการ จนถึง เรื่องพิษยาตามฤดู

๔.คัมภีร์ประถมจินดา มี ๑๑ เล่ม (เล่ม ๑, ๓ - ๑๒ ไม่พบ เล่ม ๒) ได้แก่

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๑ (เลขที่ ๑๐๐๙)

         ว่าด้วยพรหมปุโรหิต จนถึง ลักษณะครรภ์ประสูตร

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๓ (เลขที่ ๑๐๑๐)

         ว่าด้วยลักษณะสตรีดีชั่ว ยาประจุ และยาบำรุงโลหิต จนถึง กำเนิดโรคซาง ๙ จำพวก (มียาแก้)

       คัมภีร์ประถมจินตา เล่ม ๔ (เลขที่ ๑๐๑๑)

         ว่าด้วยโรคของกุมารกุมารี แม่ซื้อ จนถึง กำเนิดซางน้ำนม (มียาแก้)

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๕ (เลขที่ ๑๐๑๒)

         ว่าด้วยกำเนิดซางสกอ จนถึง อาการไข้ของกุมารกุมารี (มียาแก้)

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๖ (เลขที่ ๑๐๑๓)

         ว่าด้วยยาซางสำหรับกุมารกุมารี จนถึง กุมารเกิดวันจันทร์ มีซางน้ำเป็นเจ้าเรือน

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๗ (เลขที่ ๑๐๑๔)

         ว่าด้วยลักษณะซางสกอ กำเนิดซางกระตัง จนถึง กุมารเกิดวันจันทร์ มีซางช้างเป็นเจ้าเรือน

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๘ (เลขที่ ๑๐๑๕)

           ว่าด้วยลักษณะซางฝ้าย จนถึง กุมารเกิดวันพุธ มีซางสกอเป็นเจ้าเรือน

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๙ (เลขที่ ๑๐๑๖)

         ว่าด้วยลักษณะซางช้าง จนถึง กุมารเกิดวันเสาร์ มีซางโจรเป็นเจ้าเรือน

       คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๑๐ (เลขที่ ๑๐๑๗)

         ว่าด้วยยาแก้ซางโจรตานขโมย

คัมภีร์กระษัย เล่ม ๑ - ๒

           คัมภีร์กระษัย เล่ม ๑ - ๒ แสดงความรู้เรื่องโรดชนิดหนึ่งเรียกว่า "กระษัย" มีอาการแตกต่างกัน จำแนกได้เป็น ๒๖ จำพวก

แต่ในคัมภีร์ ๒ เล่มนี้ บอกรายละเอียดของ "กระษัย" ไว้เพียง ๑๘ จำพวก และตอนท้ายกล่าวถึงโรคกระษัย ที่แบ่งตามลักษณะ ๔ ประการ

"กระษัย" ๑๘ จำพวก ได้แก่

     ๑. กระษัยล้น

     ๒. กระษัยราก

     ๓. กระษัยเหล็ก

     ๔. กระษัยปู

     ๕. กระษัยจุก

     ๖. กระษัยปลาไหล

     ๗. กระษัยปลาหมอ

     ๘. กระษัยปลาดุก

     ๙. กระษัยปลวก

     ๑๐. กระสัยลิ้นกระบือ

     ๑๑. กระสัยเต่า

     ๑๒. กระสัยดาน

     ๑๓. กระสัยท้น

     ๑๔. กระสัยเสียด

     ๑๕. กระสัยเพลิง

     ๑๖. กระสัยน้ำ

     ๑๗. กระสัยเชือก

     ๑๘. กระสัยลม

             ในตำราบรรยายถึงกระษัยแต่ละจำพวกตามลำดับ บอกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค กล่าวได้ว่า "กระษัย" เป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดจากธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น เจ็บปวดภายในช่องท้อง หรืออวัยวะภายใน เช่น ม้าม ตับ มีอาการเสียดแน่น บางครั้งถึงกับอาเจียน หรือลงท้อง เป็นต้น กระษัยบางจำพวกทำให้ระบบทางเดินอาหาร และระบบชับถ่ายผิดปกติ

            เมื่ออธิบายอาการของโรคแล้ว ก็แสดงตำรายาที่ใช้รักษาประมาณ ๒ - ๓ ตำรับ บางจำพวกก็มีตำรายามากกว่านี้ เช่น ยาแก้กระษัย  ยาตัดรากกระษัย ยาประจุกระษัย และกระษัยบางจำพวกมียารักษาที่ปรุงเป็นอาหารเรียกว่า แกงยา เป็นต้น

           ช่วงท้ายของคัมภีร์กระษัย เล่ม ๒ กล่าวถึงลักษณะกระษัย ๔ ประการ คือ เตโซกระษัย วาโยกระษัย อาโปกระษัย และ ปถวีกระษัย บอกถึงเหตุที่เกิด อาการที่เป็น และตำรารักษาโรคหรือแก้ไขอาการของโรคนั้นๆ ไว้ด้วย

คัมภีร์ตักกศิลา เล่ม ๑ - ๒

     คัมภีร์ตักกศิลา บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับโรคไข้นานาชนิด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้สายฟ้าฟาด ไข้ไฟเดือนห้า ไข้สังวาลย์พระอินทร์ ไข้ลากสาด ๙ ประการ ไข้กาล ๑ ประการ ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดาน้อย ไข้กำเดาใหญ่  ไข้ ๓ ฤดู ไข้สันนิบาต เป็นต้น

            ความรู้เรื่อง "ไข้" ในคัมภีร์ ไม่เพียงบอกชื่อชนิดไข้ สาเหตุที่ทำให้เกิด ลักษณะอาการ และยารักษาเท่านั้น แต่ยังมีเคล็ดวิชาเกี่ยวกับการเดินทางไปตรวจคนไข้ การวิเคราะห์อาการในเบื้องตัน เพื่อให้รักษาและวางยาได้ถูกต้อง ทั้งยังต้องตรวจสอบ วัน เดือน ปีเกิด ธาตุประจำตัว ภูมิประเทศ ที่อยู่ ของคนไข้ วัน - เวลาที่เริ่มเป็นไข้หรือที่อาการกำเริบจึงจะสามารถวิเคราะห์โรคไข้นั้นๆ ได้ถูกต้อง หากหมอตรวจไม่ละเอียด หรือไม่ครบถ้วนถูกต้อง แม่ให้ยารักษาไปก็อาจทำให้คนไข้มีอาการกำเริบถึงตายได้

คัมภีร์ธาตุวิภังค์ เล่ม ๑-๒

               คัมภีร์ธาตุวิภังค์ว่าด้วยโรคธาตุพิการ คือ มีอาการเจ็บไข้ เพราะความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย โดย ๑ ปี แบ่งออกเป็น ๔ ฤดู คือ

       ฤดูที่ ๑ - เดือน ๕ เดือน ๖ และเดือน ๗ หากเจ็บไข้ในช่วงนี้เรียกว่า "เดโซธาตุพิการ"

       ฤดูที่ ๒ - เดือน ๘ เดือน ๙ และเดือน ๑๐ หากเจ็บไข้ในช่วงนี้เรียกว่า "วาโยธาตุพิการ"

       ฤดูที่ ๓ - เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้าย หากเจ็บไข้ในช่วงนี้เรียกว่า "อาโปธาตุพิการ"

       ฤดูที่ ๔ - เดือน ๒ เดือน ๓ และเดือน ๔ หากเจ็บไข้ในช่วงนี้เรียกว่า "ปถวีธาตุพิการ"

              ตำรากล่าวถึงอาการเจ็บไข้ของธาตุพิการทั้ง ๔ จำพวก พร้อมทั้งยารักษาไว้ จากนั้นได้อธิบายเพิ่มเดิมถึงอาการผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ ที่กำเริบรุนแรงขึ้น จนเกิดลมอันเป็นโทษในกายและที่สุดจะกำเริบถึงธาตุแตก และถึงแก่ความดายได้

              ในคัมภีร์นี้บอกตำรายาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บไข้ที่เกิดจากโรคธาตุพิการ ธาตุแตก ยาแก้โรคธาตุพิการไว้หลายขนาน เช่น ยาเขียวมหาพรหม ใช้กินและพ่นแก้พิษไข้ ยามหาสมมิทธิ์ใหญ่ กินและชะโลมตัว รักษาไข้พิษ ยาเบญอำมพฤก ให้กินเพื่อชำระอาการปถวีธาตุแตก เป็นต้น

คัมภีร์ประถมจินดา เล่ม ๑, ๓ - ๑๒

              คัมภีร์ประถมจินดา เป็นตำราแพทย์ที่มีเนื้อหาความรู้ยาวกว่าคัมภีร์เรื่องอื่น ทั้งนี้ เพราะว่าโรคที่เกี่ยวกับเด็กทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องลักษณะการปฏิสนธิ ลักษณะครรภ์มารดา อาการเจ็บไข้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์หรือโลหิตระดูผิดปกติ ให้ตำรายาสำหรับประจุหรือฟอกโลหิตสตรี และยาบำรุงโลหิต เป็นต้น บอกลักษณะดีชั่วของสตรี ลักษณะน้ำนมมารดา จากนั้นบรรยายถึงกำเนิดและอาการของโรคซางประเภทต่างๆ เช่น ซางประจำเป็นเจ้าเรือนของเด็กตามวันเกิด ซางที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ซางจรต่างๆ เป็นต้น โดยบอกตำรายาแก้โรค และรักษาอาการของโรคไว้หลายขนาน

*หมายเหตุ : คัมภีร์ประถมจินดา ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงนี้ น่าจะมี เล่ม ๑ ถึง เล่ม ๑๒ แต่พบเหลือเพียง ๑๑ เล่ม ขาดเล่ม ๒ ไป

และที่จัดพิมพ์ใน "ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑ :"  ได้แก่ เล่ม ๑ ถึง เล่ม ๑๐  

ส่วนเล่ม ๑๑ และ ๑๒ จัดพิมพ์ต่อใน "ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒"

หมายเลขบันทึก: 690664เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2021 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2021 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท