เมื่อศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (เรียนรู้คู่บริการผ่าน "กฐินสามัคคี")


ด้วยความที่เป็นนิสิต พวกเขายังเด็กและขาดประสบการณ์ ผลพวงของการประสานงานจึงขลุกขลัก ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บ้าง จนในที่สุดผมก็ก้าวเข้าไปคลี่คลาย ปรับจูนทีมแกนนำนิสิต รวมถึงการประสานชุมชนเพิ่มเติมด้วยตนเอง พร้อมๆ กับการไหว้วานศิษย์เก่า (ณัฐพล ศรีโสภณ : อดีตประธานและแกนนำจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ) เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของนิสิต เพราะเชื่อว่านั่นคืออีกหนึ่งกลไกในการ “สอนงานสร้างทีม” หรือการทำงานในระบบ “พี่สอนน้อง”

ในช่วงเทศกาลกฐินสามัคคี (วันที่ 25 ตุลาคม 2563) ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม(ทำดีเพื่อพ่อทำดีเพื่อแผ่นดิน)  ขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาในมิติเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชน ณ วัดชัยมงคล บ้านหนองขอน ตำบลคันธารราษฎร์  อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม  ประกอบด้วยกิจกรรมง่ายงามตามครรลองของชุมชน ได้แก่ โรงทาน ถวายผ้าป่าสามัคคีสมทบเข้าวัด –

ในทางวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักๆ คือ เรียนรู้กระบวนการทำงานด้านจิตอาสาในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ”อันหมายถึงเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต เรียนรู้ตัวตนของเพื่อนร่วมงาน และเรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน ตลอดจนการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชนผ่านเทศกาลหลักของชุมน หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “ฮีต 12 คอง 14”

ส่วนโมเดลของผมเรียกว่า “ฮีต 12 คองกิจกรรม”

นอกจากวัตถุประสงค์ข้างต้นแล้วยังจัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2563  



กลับไปยืนที่เดิม : แต่งเติมสายสัมพันธ์


การจัดกิจกรรม ณ ชุมชนดังกล่าว  จะว่าไปแล้วไม่ใช่ชุมชนใหม่ของนิสิต  เพราะเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เหล่าผู้นำองค์กรนิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เคยเดินทางไปจัดกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านมาแล้ว  ภายใต้ชื่อโครงการ "มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน" หรือ "มมส ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19"  ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ เช่น  มอบถุงยังชีพ มอบหน้ากากผ้า แจกโปสเตอร์รณรงค์ให้ความรู้ฯ  และการพบปะให้กำลังใจชาวบ้าน

กิจกรรมครั้งนี้ ผมไม่ได้ชี้นำให้นิสิตเลือกพื้นที่ดังกล่าว หากแต่กระตุ้นให้นิสิตคิดประมาณว่า “คิดอย่างไรกับเทศกาลกฐิน และคิดอยากทำอะไรบ้างเกี่ยวกับกิจกรรมกฐิน”



ผมมีเจตนาชัดเจนแค่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้บนกระแสหลักของสังคม  เพื่อให้นิสิตได้รู้ว่าห้วงเวลาดังกล่าวสังคมไทย หรือสังคมอีสานยึดโยงอยู่กับจารีตใด  รวมถึงในห้วงเวลากันเป็นช่วงก่อตั้งศูนย์ประสานงานฯ เหล่าสมาชิกควรทำกิจกรรมอะไรบ้าง

ใช่ครับ-เหมือนการบอกกล่าวกรายๆ ในทำนองว่า “พอถึงวันเกิด นอกจากเป่าเค้กวันเกิดแล้ว คิดอยากจะไปตักบาตร บริจาคสิ่งของ บ้างหรือไม่”

ผมคิดง่ายๆ แบบนี้จริงๆ คิดง่ายๆ โดยยึดเอาค่านิยมในชีวิตประจำวันมาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ กล่าวคือ ค่านิยมที่ว่าด้วยวันเกิด หรือวันก่อตั้งองค์กร และค่านิยมที่มีต่อกระแสหลัก คือเหตุการณ์หลักของสังคม นั่นเอง

กรณีการเลือกสถานที่จัดกิจกรรมนั้น  บอกตามตรงว่า  ผมรู้สึกดีใจอยู่มากเลยทีเดียวที่นิสิตเลือกกลับไปยังพื้นที่ที่เคยจัดกิจกรรมมาแล้ว เพราะนั่นหมายถึงกระบวนการของการกลับไปประเมินผลสิ่งที่เคยสรรค์สร้างไว้กับชุมชน ทั้งในแง่ของสายสัมพันธ์และประโยชน์อันเป็นวัตถุวิ่งของ

เช่นเดียวกับการมีความเชื่อว่า การกลับไปจัดกิจกรรมในพื้นที่อันคุ้นเคยนั้น  ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้กิจกรรมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เพราะนิสิตเข้าใจบริบทสังคม เข้าใจโครงสร้างชุมชน มีเครือข่ายทำงานในชุมชนฯ ฯลฯ

เลือกทีมเอง : ออกแบบกิจกรรมเอง : ประสานงานเอง


เมื่อนิสิตเลือกพื้นที่ด้วยตนเองแล้ว ผมก็ปล่อยให้นิสิตดำเนินการ 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยตนเอง นั่นคือ 1) สร้างแกนนำและมอบหมายภารกิจ 2) ออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชนว่าควรมีกิจกรรมอะไร 3) ประสานงานกับชุมชนด้วยตนเอง

ที่ผมไม่ลงไปฝังตัวทำงานเชิงลึกร่วมกับนิสิต ไม่ใช่ต้องการปล่อยปละละเลย หรือไม่มีเวลาใดๆ หรอกนะครับ แต่เพราะเจตนาให้พวกเขาลองทำอะไรๆ ด้วยตนเอง  อีกอย่างก็คิดว่า เมื่อเป็นพื้นที่ที่พอจะคุ้นเคยอยู่แล้ว หรือพื้นที่เองก็เข้าใจความเป็นมหาวิทยาลัยฯ อยู่แล้ว การทำงานย่อมน่าจะราบรื่น

สิ่งที่ผมทำได้ในช่วงแรกๆ คือชี้เป้าบุคคลสำคัญที่ต้องประสานงานชุมชน ทั้งในเชิงโครงสร้างของหมู่บ้าน อันหมายถึงเหล่าผู้นำหมู่บ้าน และกลไกที่หมายถึงคนอิสระที่รู้จักในฐานะเครือข่ายจิตอาสาที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ 

เช่นเดียวกับแนะนำให้นิสิตลงไปพูดคุยกับชาวบ้านถึงแนวทางการเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม  โดยเน้นย้ำว่าให้ยึดความต้องการ หรือกิจกรรมของชุมชนเป็นโจทย์หลัก มิใช่เอาความต้องการของนิสิตเป็นตัวตั้ง

ถ้าจำไม่ผิดแกนนำนิสิตลงไปประสานงานชุมชนด้วยตนเอง 2 ครั้ง  ซึ่งทั้งสองครั้งผมจะติดตามสอบถามถึงรายละเอียดที่หารือกับชาวบ้าน  โดยเห็นชัดว่าการประสานงานในชุมชนดูจะติดขัดอยู่มิใช่ย่อย  เช่น 

  • ความต้องการของชาวบ้านในบางกลุ่มอยากให้ซ่อมแซมบูรณะหอระฆัง 
  • ขณะที่อีกกลุ่มต้องการให้เป็นอีกหนึ่งสายบุญในการเป็นเจ้าภาพผ้าป่ามาสมทบกองกฐินที่ชาวบ้านจัดขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าว  ผมจึงแนะนำนิสิตให้ทบทวนถึงศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง  เพราะไม่อยากให้นิสิตต้องมาแบกภาระมากจนเกินไป

จนท้ายที่สุดก็มีมติจัดกิจกรรมสำคัญๆ เช่น  โรงทาน ถวายผ้าป่า ฯ  พร้อมๆ กับเน้นย้ำให้สื่อสารให้ชัดเจนกับชุมชนว่ากิจกรรมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมคืออะไร มิใช่เงียบเฉย จนชุมชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและคาดหวังกับนิสิตอย่างสูงลิบ

แน่นอนครับ การให้นิสิตได้ประสานอะไรต่างๆ ด้วยตนเอง คือการเรียนรู้อันสำคัญ เพราะมันหมายถึงทักษะที่ว่าด้วยหลักการทำงานและอยู่ร่วมกับสังคม (Soft skills) 

ผมเชื่อว่า  เมื่อให้นิสิตได้ลงมือทำอะไรๆ ด้วยตนเอง ย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่มากกว่าความรู้ นั่นคือเกิดทักษะอันหลากหลาย เช่น  ทักษะของการสื่อสาร หรือแม้แต่ทักษะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง หรือแม้แต่ร่วมกันแก้ไขอย่างเป็นทีม

แต่ด้วยความที่เป็นนิสิต พวกเขายังเด็กและขาดประสบการณ์ ผลพวงของการประสานงานจึงขลุกขลัก ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บ้าง จนในที่สุดผมก็ก้าวเข้าไปคลี่คลาย ปรับจูนทีมแกนนำนิสิต รวมถึงการประสานชุมชนเพิ่มเติมด้วยตนเอง พร้อมๆ กับการไหว้วานศิษย์เก่า (ณัฐพล ศรีโสภณ : อดีตประธานและแกนนำจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ) เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของนิสิต เพราะเชื่อว่านั่นคืออีกหนึ่งกลไกในการ “สอนงานสร้างทีม”หรือการทำงานในระบบ “พี่สอนน้อง”  

ซึ่งเป็นที่น่ายินดี เพราะในวันจัดกิจกรรม ศิษย์เก่าที่ว่านั้นก็ให้เกียรติลงพื้นที่ไปหนุนเสริมน้องๆ ด้วยเช่นกัน  - สิ่งนี้ก็ยืนยันได้ว่า นี่คือการบูรณาการเล็กๆ ที่ว่าด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตปัจจุบันกับศิษย์เก่า




ต่อยอดกิจกรรมเก่า : ผสมผสานกิจกรรมใหม่ๆ

ด้วยเหตุที่กิจกรรมครั้งนี้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากส่วนงานใด ผมจึงพยายามสังเกตว่านิสิตจะจัดหาทุนมาจากทิศทางใดบ้าง ซึ่งหลักๆ พวกเขาก็ประเมินจากต้นทุนที่มีอยู่และระดมขอรับบริจาคจากภายนอกพอเป็นพิธี

ขณะที่ผมในฐานะที่ปรึกษา ก็ถามทักเป็นระยะๆ รวมถึงเฝ้าสังเกตว่า นิสิตจะได้มาซึ่งสิ่งของและงบประมาณเช่นใด

จวบจวนใกล้วันจัดกิจกรรม ผมจึงนัดแกนนำเข้ามาหารือว่าด้วยความคืบหน้าของกิจกรรม จนพบว่างบประมาณและสิ่งของที่ได้มานั้นดูจะไม่มากนัก  ซึ่งนิสิตก็ออกอาการชัดว่าเป็นกังวล หรือเครียดๆ ในระดับหนึ่ง

สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนั้น คือการชวนให้นิสิตได้ทบทวนกิจกรรม “สอยดาว”หรือแม้แต่ “จำหน่ายสินค้าราคาถูก” ระดมทุนเข้าวัด เหมือนที่เคยจัดมาจากค่ายที่จังหวัดหนองคาย –

ผลของการเชื้อเชิญให้แกนนำนิสิตได้ทบทวนถึงกิจกรรมในอดีต จึงนำมาซึ่งการจัดกิจกรรมสองกิจกรรมหลักๆ เสมือนต่อยอดจากกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา คือ 1) จำหน่ายสินค้าราคาถูก 2) สอยดาว ซึ่งรายได้ทั้งหมดไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกบาททุกสตางค์รวบรวมเป็นผ้าป่าถวายวัด ส่วนกิจกรรมใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือการทำโรงทานนั่งเอง

ผมยืนยันว่า สิ่งที่แนะนำเช่นนี้  คือการสอนให้นิสิตได้รู้จักทบทวนการทำงานและนำชุดความรู้ในอดีตมาต่อยอด  เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร มิใช่ทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะนำความรู้มาใช้ต่อ หรือแย่กว่านั้น คือทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่เรียนรู้อะไรเลย

เช่นเดียวกับการชี้ชัดว่ากระบวนการ หรือกิจกรรมที่ว่านั้น ยังช่วยยกระดับกิจกรรมการบริจาคให้ดูมีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้น  ชาวบ้านที่เป็นผู้รับก็ภูมิใจในตัวเอง มิใช่แค่การ “แบมือรับสิ่งของ”  เพราะนี่คือกระบวนการมีส่วนร่วมอีกมิติหนึ่งของชาวบ้านที่มีต่อชุมชนของเขาเอง

และกระบวนการเรียนรู้ที่ว่านั้น ช่วยให้นิสิตมีเงินผ้าป่าสมทบถวายเป็นกฐิน จำนวน 5,220 บาท


ท้ายที่สุดแล้ว

เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ผมขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีเจตนาที่จะเขียนบันทึกนี้เพื่อชี้ให้เห็นเม็ดเงิน จำนวน 5,220 บาท หากแต่ต้องการสื่อสารในประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนิสิตในหลายๆ ประเด็น อาทิเช่น

  • แนวคิดการจัดกิจกรรมในมิติเรียนรู้คู่บริการ 
  • การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ทั้งในเชิงบุคคล และทีม
  • การเรียนรู้บนความต้องการของชุมชน
  • การบูรณาการความต้องการของชุมชนกับความต้องการ หรือศักยภาพนิสิต 
  • การประสานงาน หรือการทำงานร่วมระหว่างนิสิตกับนิสิต นิสิตกับชุมชน
  • การนำชุดความรู้เดิมมาต่อยอดคู่ไปกับการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ
  • การทำงานบนต้นทุน / ศักยภาพของตนเอง
  • ฯลฯ

เช่นเดียวกับการพยายามสื่อสารว่าด้วยเรื่อง “อาจารย์ที่ปรึกษา” ที่ต้องทำหน้าที่เป็น “โค้ช”  ที่ต้องหนุนเสริมการเรียนรู้ (Facilitator)  เพื่อให้นิสิตบรรลุผลการเรียนรู้ ซึ่งผมก็ทำในแบบฉบับที่ผมเป็น

ภาพ : ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม / พนัส ปรีวาสนา
เขียน : อาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2564

หมายเลขบันทึก: 690640เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2021 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2021 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท