๘๘๘. การให้อภัย (Forgiveness)


การให้อภัย (Forgiveness)

การให้อภัย...เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมครอบครัว ในที่ชุมชน สังคมของการทำงานร่วมกัน...เพราะการอยู่รวมกันในสังคม สิ่งที่ทำให้เห็น นั่นคือ การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะคนเรามาจากพื้นฐานที่มีความคิดที่หลากหลาย แต่ถามว่าความคิดใครถูก ใครผิด...มิมีที่ใครจะผิด หรือถูกสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม เพียงแต่มีความคิดต่าง เมื่อคิดต่างย่อมมีความขัดแย้งกันเป็นธรรมดา เพียงแต่อย่ากล่าวหา หรือโทษว่าใครผิด ใครถูก...เพราะหากตัดสินแบบนั้นว่า ใครผิด ใครถูก จะกลายเป็นเรื่องขึ้นมาทันที ยิ่งถ้านำไปพูดกับคนอื่น เพื่อกล่าวหา จะทำให้อีกฝ่ายที่ถูกกล่าวหานั้น เกิดความเสียหายขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องระวังให้มาก ๆ 

ในปัจจุบันสิ่งที่ทำงานร่วมกัน นั่นคือ ความต้องการให้ทีมงานนั้นเข้มแข็ง และแข็งแกร่ง เพราะการทำงานนั้น สิ่งที่องค์กรต้องการ คือ ผลงาน ซึ่งผลงานนั้นต้องมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ...หากผู้ร่วมงานเกิดการอคติต่อกัน มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องระวังให้มาก ๆ...หากเปรียบเทียบกับการทำงานในสมัยก่อน สิ่งที่ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชา คอยสอน และบอกน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ หรือลูกน้อง นั่นคือ การสอนให้รู้จักคำว่า "ให้อภัย" ไม่มีอคติต่อกัน...ควรแยกแยะออกถึงเรื่องปัญหาส่วนตัว กับปัญหาในการทำงานออกจากกัน

ไม่ว่าการทำงานจะอยู่ในที่ประชุม หากมีการถกเถียงกันแล้ว ควรจบในที่ที่ประชุม เมื่อออกนอกห้องประชุมก็ควรจบเรื่อง ไม่ควรนำไปพูดต่อ...สิ่งนี้ ที่ผู้เขียนถูกสอนมาเสมอกับชีวิตของการทำงาน ร่วม ๓๓ ปี...และสิ่งที่สำคัญที่ฝึกให้ติดเป็นนิสัยของผู้เขียน นั่นคือ "การรู้จักให้อภัยผู้อื่นให้ได้ และให้เป็น"...เพราะจะทำให้ตนเองไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น สิ่งนี้ที่ผู้เขียนมองว่า เด็ก ๆ ยุคใหม่ ควรสร้างให้เกิดขึ้นในจิตใจให้มาก ๆ ว่า...ไม่มีใครที่คิดร้ายต่อคุณเอง หากแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานให้เป็น เพราะเรื่องงาน เมื่อจบจากการทำงาน นั่นคือ จบเรื่องของการทำงาน...

สมัยก่อนหลักสูตรที่สอนในเรื่องของการให้อภัย คือ เรื่องของการแข่งขันกีฬา...คือ วิชาพลศึกษา ที่สอนให้ทุกคนมีการแข่งขัน แต่การแข่งขันนั้นจะอยู่ภายใต้กฎ กติกาของการแข่งขัน สิ่งสำคัญในวิชานี้ คือ การรู้จักให้อภัยกัน หากเกิดเหตุการณ์กระทบ กระทั่งกันในการแข่งขัน...อีกวิชาหนึ่งที่สอน นั่นคือ วิชาศีลธรรม การสอนเรื่อง การรู้จักให้อภัยกันให้เป็น...หากเกี่ยวกับการใช้ชีวิต นั่นคือ การรู้จักอโหสิกรรมให้กัน...หากพิจารณาดู เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน...การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม จะเกี่ยวกับเรื่องของ "หลักธรรม" ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับบุคคลใดจะเข้าใจถึงเรื่องหลักธรรมจริง ๆ หรือไม่...

ความจริง ควรเข้าใจในเรื่องหลักธรรมตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ๆ ขึ้นอยู่กับสอนให้รู้จักคิดของผู้สอนว่า สอนตามหลักธรรมหรือไม่ เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง...เพื่อปลูกฝังให้ติดเป็นนิสัย ยามโตขึ้น เมื่อใช้ชีวิตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เข้ามาทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ควรที่จะเข้าใจถึงเรื่องของการรู้จักให้อภัยคนให้ได้ และให้เป็น...หากทำได้ จะทำให้จิตของผู้นั้น ไม่ผูกความอาฆาต พยาบาท และเพื่อมาเอาคืนในภายหลังได้ ซึ่งมิควรให้เกิดในสังคมของการทำงาน...การฝึกให้อภัย ควรฝึกให้ได้และให้เป็น เพราะแสดงถึงการเป็นคนที่มี "พรหมวิหาร ๔" ในตนเองให้เป็น...หากมีความเมตตา...กรุณา...มุทิตา...อุเบกขา เกิดขึ้นในจิตใจให้เกิดขึ้นตลอดเวลา จะทำให้สังคมไม่ว่าที่บ้าน หรือที่ทำงาน สงบสุขมากยิ่งขึ้น

***********************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

หมายเลขบันทึก: 690614เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2021 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2021 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท