วงเสวนาสาธารณะ “Empowered Educators ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21”



บ่ายวันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๔ ผมได้รับเชิญเข้าร่วม วงเสวนาสาธารณะ “Empowered Educators ปั้นครู เปลี่ยนโลก : ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21” ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก (๑)    โดยมีวิทยากรตามในแผ่นโฆษณา ดังภาพ


มีการเตรียมการประชุมอย่างมืออาชีพ    สามวันก่อนงานผู้ประสานงานก็ส่งเอกสารประเด็นคำถาม และขั้นตอนของรายการ มาให้    ผมชมว่าเตรียมตัวดีมาก และขอพูดเป็นคนสุดท้ายในทุกรายการ ด้วย ๓ เหตุผลคือ ผมเป็นวิทยากรที่แก่ที่สุด  ล้าสมัยที่สุด  และรู้น้อยที่สุด    เพราะผมไม่ใช่นักการศึกษา    แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการตอบรับ    ผมก็ปล่อยเลยตามเลย    และข้อเขียนต่อไปนี้ส่วนใหญ่เป็นข้อความที่เตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ตอนพูดจริงได้พูดบ้าง ไม่ได้พูดบ้าง    และพูดในมุมอื่นบ้าง    ว่าไปตามสถานการณ์

ประเด็นแรก - ทำไม “ครู” จึงเป็นคำตอบของระบบการศึกษา

คำตอบของผมคือ เพราะการเรียนรู้ที่แท้เป็นกระบวนการทางสังคม (socialization process)  หรือกระบวนการที่เกิดจากมนุษย์สัมผัสมนุษย์    ไม่ใช่เกิดจากกระบวนการถ่ายทอดความรู้อย่างที่เข้าใจผิดกันมานาน    ครูทำหน้าที่สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์    ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้  เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ ให้แก่ศิษย์    แล้วออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้บูรณาการของตน     เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติหรือการกระทำตามด้วยการคิด ในลักษณะใคร่ครวญสะท้อนคิดจากข้อมูลที่สังเกตเห็นจากการปฏิบัติของตน ที่เรียกว่า reflection   

มองอีกมุมหนึ่ง เพราะการเรียนรู้ (หรือการศึกษา) เป็นการสร้างคุณภาพพลเมือง     และคุณสมบัติสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพลเมืองในปัจจุบันและอนาคต คือความเป็น “พลเมืองผู้กระทำการ” (active citizen)    หลุดพ้นจากการเป็น “พลเมืองผู้เฉื่อยชา” (passive citizen)  ผู้หวังรอความช่วยเหลือ     “ครูผู้ก่อการ” (agentic teacher) จึงเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างพลเมืองนักกระทำการโดยไม่รู้ตัว    ผ่านการเรียนแบบ “ลงมือทำ” (active learning) ที่กล่าวแล้ว    และผ่านการทำตัวเป็นแบบอย่าง 

ตอบเชื่อมโยงกับหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก ว่า เพราะตามในหนังสือดังกล่าว     ระบบการศึกษาคุณภาพสูงที่สุดในโลก ๕ ประเทศ  ๗ พื้นที่    ครูทำหน้าที่ ไม่เพียงจัดการเรียนรู้แก่ศิษย์ หรือพัฒนาศิษย์เท่านั้น    ยังทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้แก่ตนเอง และแก่เพื่อนร่วมโรงเรียนด้วย โดยกระบวนการที่เรียกว่า PLC    ครูจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาครูและการพัฒนาโรงเรียน    

ตามในหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก ครูทำหน้าที่ พัฒนาศาสตร์ว่าด้วยความเป็นครู     ผ่านการทำงานพัฒนาและวิจัยจากการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันของตน    ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ครูจึงต้องเป็นนักวิจัย    หลักสูตรผลิตครูในประเทศเหล่านี้จึงเน้นการฝึกทักษะการวิจัยด้วย  

ในหลายประเทศตามในหนังสือ ระบุว่า ครูต้องมีบทบาทพัฒนาผู้ปกครองนักเรียน และพัฒนาชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ด้วย   

เมื่อครูทำหน้าที่ พัฒนาศิษย์  พัฒนาตนเอง  พัฒนาเพื่อนครู  พัฒนาโรงเรียน  พัฒนาผู้บริหาร  พัฒนาศาสตร์  พัฒนาผู้ปกครองนักเรียน  และพัฒนาชุมชน (องค์แปดแห่งการพัฒนา หรือมรรคแปดในการทำหน้าที่ครู)    ครูจึงเป็นผู้นำในวิชาชีพ  ทำหน้าที่พัฒนาวิชาชีพครู    และพัฒนาระบบการศึกษา ด้วย     รวมเป็นมรรคสิบ  

ถึงตอนอภิปรายจริง คำตอบที่เตรียมไว้ข้างบนแทบไม่ได้พูด    เพราะวิทยากรท่านอื่นพูดดีมาก    ดร. ประวิตบอกว่า ครูต้องช่วยให้นักเรียนเชื่อมโลกจริงกับโลกเสมือนได้อย่างสมดุล    ดร. ดารณี บอกว่าครูยิ่งมีความจำเป็นยิ่งขึ้น เพราะต้องช่วยเป็นที่พึ่งทางใจ    และช่วยแก้ปัญหาแก่นักเรียนในกรณีที่มีปัญหา     ดร. ภูมิศรัณย์ชี้ว่า การศึกษาไม่ได้เรียนเฉพาะด้านวิชาการ ยังมีเรื่อง 21st Century Skills อีกชุดใหญ่  รวมทั้ง competencies สำคัญๆ

ประเด็นที่ ๒ - เรียนรู้นโยบายสร้างครูจากระบบการศึกษาชั้นนำของโลกในหนังสือ และย้อนมองนโยบายสร้างครูของระบบการศึกษาไทย

[ศ.นพ.วิจารณ์ / รศ.ดร.ดารณี] ในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการวิชาชีพครู บุคคลผู้มีศักยภาพจะเป็นครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร หรืออยาก ได้คนแบบไหนเข้ามาในวิชาชีพ    คำตอบของผมคือ  (๑) รักเด็ก มีความสุขจากการการได้เห็นการเติบโตและความสำเร็จในชีวิตของศิษย์  (๒) รักอาชีพครู  (๓) เข้ามาเป็นครูเพื่อเป็น “ผู้ให้” มากกว่าเข้ามาตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว   (๔) เป็นคนรักการเรียนรู้  รักการทำงานที่ท้าทาย ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา    ไม่ใช่ทำงานตามสูตรสำเร็จ   

การเสวนาก้าวสู่ประเด็นว่าทำไมจึงเกิดกรณีครูใหม่ที่มีไฟในการทำงานเต็มเปี่ยม    แต่เมื่อเข้าไปทำงานที่โรงเรียน ไม่ถึงปี ก็หมดไฟ     ที่ผมชี้ว่า ระบบการศึกษาคุณภาพสูงใน ๕ ประเทศตัวอย่าง     ระบบนิเวศของการทำงาน เอื้อ หรือส่งเสริมคนทำงานสร้างสรรค์    แต่ระบบของเราเอื้อต่อคนที่ทำงานในรูปแบบเดิมๆ     ต้องการดำรงสภาพเดิม    ใครมาทำงานสร้างสภาพใหม่ก็จะถูกกระแนะกระแหน  และขัดขวาง       

[รศ.ดร.ประวิต/ ศ.นพ.วิจารณ์] ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือคือ ครูในประเทศเหล่านี้มีเวลาว่างจากชั่วโมงสอนค่อนข้างเยอะ จึงมีเวลาพัฒนาการเรียนรู้และแสดงศักยภาพ แล้วครูไทยมีเวลาว่างจากชั่วโมงสอนมากน้อยแค่ไหน และเราควรสร้างโอกาสให้ครู ได้พัฒนาการสอนและศักยภาพของตนอย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนไทย    ผมต้องขออภัยที่ต้องตอบตรงๆ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของท่านผู้ฟังว่า โจทย์หรือคำถามนี้ผิด     คำว่า “มีเวลาว่างจากชั่วโมงสอนค่อนข้างเยอะ” มาจากวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่ผิด    คิดว่าเวลาทำงานของครูคือเวลาสอน    นอกนั้นไม่ใช่หน้าที่ครู    นี่คือความเข้าใจที่ผิด     ผมได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าหน้าที่ครูมี ๑๐ ประการ    เวลาทำหน้าที่ “พัฒนาการสอนและศักยภาพของตน” และหน้าที่อื่นๆ อีก ๘ ประการนั้น ถือเป็นเวลาของการทำงานทั้งสิ้น    ระบบการศึกษาคุณภาพสูงจึงต้องจัดเวลาให้ครูได้ทำหน้าที่เหล่านั้นอย่างเหมาะสม    รวมทั้งมีมาตรการ และทรัพยากร สนับสนุนด้วย    

แนวความคิดนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน 

การมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

[ศ.นพ.วิจารณ์ / รศ.ดร.ดารณี] ทุกวันนี้ครูมีบทบาทแค่ไหนในการตัดสินใจเรื่องการจัดการเรียนการสอน ทั้งประเด็นหลักสูตร เนื้อหา วิธีการสอน ตลอดจนนโยบายการศึกษาที่สำคัญ เช่น การเรียนการสอนในภาวะโรคระบาดโควิด-19    ที่จริงผมไม่รู้ความเป็นไปในระบบการศึกษาไทย    แต่เท่าที่สังเกต โรงเรียนที่ผู้บริหารและครูพร้อมใจกันทำเพื่อนักเรียน สามารถตัดสินใจได้โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก    ปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ผู้บริหารและครูส่วนใหญ่ ไม่มีสมรรถนะของ agentic headmaster  และ agentic teacher มากกว่า    รวมทั้งระบบการบริหารส่วนกลางก็ไม่เอื้อ หรือไม่กระตุ้น  

วงเสวนาเห็นพ้องกันว่า ข้อด้อยของระบบการศึกษาไทยคือ มีการจัดการแบบรวมศูนย์มากเกินไป    กำหนดให้ครูและโรงเรียนต้องปฏิบัติตามสูตรสำเร็จมากเกินไป   แต่ผมก็ให้ข้อสังเกตว่า ครูสามารถแสดงบทบาทกำหนดนโยบายของโรงเรียน และในห้องเรียน ในฐานะนโยบายเพื่อการปฏิบัติ เพื่อการบรรลุผลลัพธ์การศึกษาคุณภาพสูง    ในบริบทนี้ ผมคิดว่าครูไทยทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดกีดกั้น    แต่ก็ไม่มีการ empower ในระดับประเทศ อย่างในหนังสือ        

[ศ.นพ.วิจารณ์ / ดร.ภูมิศรัณย์] ด้วยบริบทของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน เราควรจะจัดสรรน้ำหนักอำนาจการตัดสินใจจากด้านบนหรือกระทรวงศึกษาธิการ กับอำนาจการตัดสินใจของครูในพื้นที่ต่างๆ อย่างไร    นี่คือประเด็นสำคัญที่สุดของระบบการศึกษาไทย    ที่ระบบของเรารวมศูนย์อำนาจมากไป    จนมีผลทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ    นานๆ เข้าทักษะในการคิดและตัดสินใจก็ฝ่อไป    ตามในหนังสือ ระบบการศึกษาคุณภาพสูงเอาใจใส่เรื่องการ empower ครูตามชื่อหนังสือทั้งสิ้น    แม้ในบางระบบจะคุ้นเคยกับอำนาจรวมศูนย์ทางการปกครอง เขาก็พยายามแก้ในระบบการศึกษา     ผมเคยได้ยินว่าในออสเตรเลีย บุคลากรส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการมีจำนวนเป็นร้อยเท่านั้น  ไม่ได้เป็นหมื่นอย่างของเรา    ไม่ทราบว่าเท็จจริงแค่ไหน  

ความเสมอภาคทางการศึกษา

[ศ.นพ.วิจารณ์ / ดร.ภูมิศรัณย์] แนวทางที่ประเทศไทยควรใช้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคืออะไร ทั้งเชิงนโยบาย และเชิงโรงเรียน    ผู้รู้คือ ดร. ภูมิศรัณย์ เพราะทำงานทั้งในกระทรวงศึกษาธิการ และใน กสศ.    ผมมีความเห็นกว้างๆ ว่า     สาระภาพรวมในหนังสือเล่มนี้บอกชัดเจนว่า ระบบการศึกษา  และระบบสมรรถนะครู ต้องตำนึงถึงสาเหตุของความไม่เสมอภาคหลากหลายด้าน    และมีวิธีทำงานเพื่อเอาชนะความไม่เสมอภาคนั้น    เพื่อให้นักเรียนทุกคนบรรลุผลลัพธ์ทางการศึกษาตามที่กำหนด    กล่าวง่ายๆ ระบบการศึกษา และตัวครูต้องมีวิธีให้แต้มต่อ หรือความช่วยเหลือพิเศษแก่นักเรียนที่ด้อยกว่าเพื่อนๆ    ดังกรณีฟินแลนด์มี “ระบบการศึกษาพิเศษ” ช่วยนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อน    นักเรียนในการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี ในภาพรวมร้อยละ ๓๐ เคยใช้บริการระบบนี้ (๓)     

แต่ในระบบการศึกษาไทย ความไม่เสมอภาคอยู่ในระบบการจัดสรรทรัพยากร    ที่โรงเรียนของเด็กจากครอบครัวฐานะดีได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่า     ตรงกันข้ามกับที่ระบุในหนังสือ ที่เขาจัดให้มากน้อยตามระดับความต้องการ  

พิจารณาภาพรวมระบบการศึกษาไทย   

[ศ.นพ.วิจารณ์] จุดเด่นหรือข้อดีของระบบการศึกษาไทยคืออะไร และข้อด้อยหรืออุปสรรคของระบบการศึกษาไทยคืออะไร    ขอย้ำว่าเป็นการมองเชิงระบบนะครับ     ผมมองว่าจุดเด่นหรือข้อดีกับข้อด้อยหรืออุปสรรคของระบบการศึกษาไทยอยู่ที่เดียวกัน    คือเรื่องทรัพยากรที่จัดสรรให้อย่างเพียงพอ    และบุคลากรมีคุณวุฒิสูง    นี่มองภาพใหญ่นะครับ    หากมองแจงย่อย เราก็จะพบว่าการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายบุคลากรไม่ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างที่ ๕ ประเทศในหนังสือเขาทำกัน  

แต่เมื่อมองในมิติที่ลึก  จะเห็นว่าวิธีใช้ทรัพยากรมีปัญหามาก    ไม่ก่อ productivity คือผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูงได้อย่างใน ๕ ประเทศตัวอย่าง    หนังสือที่ให้ภาพความอ่อนด้อยนี้ชัดเจนมากคือ World Development Report 2018 ของธนาคารโลก    ที่ผมตีความเอามาเผยแพร่ที่ (๔)   ซึ่งสรุปได้ว่า ในระบบการศึกษาไทย ทรัพยากรถูกเบี่ยงเบนเอาไปใช้ประโยชน์ของผู้อื่นเสียมาก  ตกไปถึงผลประโยชน์ของนักเรียนน้อย    ลองเข้าไปอ่านดูเถิดครับ  จะเห็นว่าการแก้ปัญหาการศึกษาไทยต้องการการปฏิรูป  หรือ re-engineering อย่างแท้จริง    ไม่ใช่ปะผุอย่างใน ๗ ปีที่ผ่านมา    

ข้อแตกต่างของระบบการศึกษาไทย กับระบบการศึกษาคุณภาพสูงสุดของโลก ๕ ประเทศ คือ ระบบความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเราไปผิดทาง     เอื้อแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวของครูและผู้บริหาร     ไม่เอื้อต่อการพัฒนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ระบบของเราแข็งตัวเกินไป  และการเลื่อนระดับขึ้นกับ “ผลงาน” หลอกๆ ไม่ยึดโยงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ดร. ประวิตบอกว่า กคศ. กำลังแก้ไขจุดอ่อนนนี้    

 

หนทางไปต่อของระบบการศึกษาไทย

[ถามทุกท่าน] ระบบการศึกษาไทยควรไปต่ออย่างไร ปัญหาที่เราควรแก้ไขในระยะสั้นคืออะไร และเป้าหมายของเราในระยะยาวของเราคืออะไร  มีแนวทางใดจากหนังสือเล่มนี้ที่น่านำมาปรับใช้    ควรทำ ๒ ระดับที่เชื่อมโยงกัน    คือระดับการจัดการระบบ ควรกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนและพื้นที่    และควรเน้นการสนับสนุนโรงเรียนมากกว่าควบคุมสั่งการ   

ในระดับโรงเรียน เราโชคดีที่มีโรงเรียนจำนวนหนึ่ง อาจจะเกือบๆ หนึ่งพันโรงเรียนจากจำนวนทั้งสิ้นสามหมื่น     ที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนและการทำงานในโรงเรียนตามแนวในหนังสือเล่มนี้    ที่ครูร่วมกันหาทางยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ active learning    ควรมีมาตรการค้นหาโรงเรียนเหล่านี้ และเข้าไปวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    เพื่อหาทางหนุนให้ครูและโรงเรียนบรรลุเป้าหมายที่ตนใฝ่ฝันได้ดียิ่งขึ้น   

ประเด็นหนึ่งที่ควรใส่เพิ่มเข้าไปในโรงเรียนเหล่านี้   คือการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับความท้าทายสูง     ครูและผู้เกี่ยวข้องช่วยหาวิธีหนุนให้นักเรียนทำได้สำเร็จ    จะเป็นการสร้างพลเมืองที่ “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก” (คำของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประยุทธ ปยุตฺโต)    เป็นพลเมืองคุณภาพสูง

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาจาก OECD บอกผมว่า ครูไทยใส่ความยาก หรือความท้าทายให้แก่บทเรียนน้อยไป    เพราะเกรงว่านักเรียนจะเครียด    ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด    ครูที่เก่งคือครูที่ให้ความคาดหวังต่อนักเรียนสูง  ท้าทายสูง  แล้วช่วยหนุนให้ทำสำเร็จ  และเกิดความสุขจากความสำเร็จ    ทำให้นักเรียนมีนิสัยชอบความท้าทาย ติดตัวไปเป็นพลเมืงที่เข้มแข็ง   

ในการประชุม ไม่ได้แตะประเด็นนี้

วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๖๔    ปรับปรุง ๕ เม.ย. ๖๔ 

   

 

หมายเลขบันทึก: 690537เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2021 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2021 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท