การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต : Learn – Unlearn – Relearn



วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ  มหาวิทยาลัยศรีปทุม  มีรายวิชา EDA732 นวัตกรรมการบริหารการศึกษา และเชิญผมไปบรรยายเรื่อง การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต : Learn – Unlearn – Relearn ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง    นัดวันกันไว้ล่วงหน้าก่อนโควิดระลอกสอง ว่าเป็นวันเสาร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔    ถึงวันจริงจึงต้องบรรยายทาง ออนไลน์  ระหว่างเวลา ๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น.    ซึ่งในวันจริงตอบคำถามถึง ๑๒.๓๐ น. 

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รุนแรง และไม่แน่นอน การศึกษาต้องปูพื้นฐานให้เยาวชนเป็นคนรักเรียนและมีทักษะเรียนรู้    สำหรับนำไปใช้เพื่อชีวิตที่ดี ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต    สามารถเปลี่ยนชุดความรู้ ทักษะ ความเชื่อหรือคุณค่าที่ยึดถือใหม่ได้        นั่นคือเป้าหมายสำคัญของการศึกษายุคนี้   

มองจากมุมของกลไกการเรียนรู้ที่แท้จริง  การเรียนรู้คือการรับสิ่งใหม่เข้าไปผสมกับ ASKV (Attitude, Skills, Knowledge, Values) ที่มีอยู่แล้ว    เรียนรวมๆ ว่าเป็นการเอาความรู้ใหม่เข้าไปผสมผสานกับความรู้เดิม เกิดความรู้ใหม่    ทำให้ตัวตนเปลี่ยนแปลงไป    การศึกษาจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวตน    เป็นกระบวนการที่เกิดวงจร Learn – Unlearn – Relearn อยู่ตลอดเวลา  

การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดโดยธรรมชาติหากจัดกระบวนการเรียนรู้ถูกต้อง     คือไม่ใช้วิธีถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป    แต่เป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกัน ตามด้วยการสะท้อนคิด    โดยครูอาจารย์ทำหน้าที่ถามเพื่อไกด์การเรียนรู้ให้ลงลึกและเชื่อมโยง    เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้หลักการหรือทฤษฎีจากประสบการณ์ตรงของตน    ผู้เรียนจะตระหนักเป็นระยะๆ ว่าที่ตนเคยเข้าใจนั้นผิด   ต้องเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่  

ผู้เรียนจึงเป็นเจ้าของการเรียนรู้    และจะเรียนรู้ได้ดีต้องมีการเตรียมสมองให้มีความกระหายอยากเรียนรู้  เห็นคุณค่าของการเรียนรู้   นั่นคือหน้าที่ของผู้สอนและสถาบัน    ทำหน้าที่กระตุ้นความอยากเรียน    สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน   และจัดกระบวนการสะท้อนคิด (reflection) เพื่อให้ผู้เรียนสรุปประเด็นเรียนรู้ใส่ตัว    และเกิดวงจร Learn – Unlearn – Relearn เป็นระยะๆ

การเปลี่ยนแปลง   Learn – Unlearn – Relearn เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูง    มีการเปลี่ยนความเชื่อด้านกลไกการเรียนรู้ ว่าไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้    แต่ได้จากการสร้างความรู้ใส่ตัว    เปลี่ยนจากหลักการ instructionism   ไปเป็น constructivism     คนในวงการศึกษาไทยจึงต้อง  unlearn instructionism  และ relearn constructionism    เปลี่ยนบทบาทครู จากครูสอน ไปเป็นครูฝึกหรือโค้ช

นั่นคือ ครูและผู้บริหารสถาบันการศึกษาต้อง unlearn วิธีทำหน้าที่โรงเรียน และวิธีทำหน้าที่ครูแนวเดิม    หันมา relearn วิธีทำหน้าที่แนวใหม่    ซึ่งก็คือต้องเรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วย reflection    ตามหลักการและวิธีการ PLC นั่นเอง    เป็น lifelong learning สำหรับครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งผู้บริหารระดับอื่นๆ ด้วย

วงการศึกษาไทยอ่อนด้อยเรื่องนี้ คุณภาพการศึกษาของเราจึงถดถอย   

โออีซีดี จับประเด็นสำคัญคือ ชีวิตที่ดีในอนาคตต้องอยู่กับความไม่ชัดเจนไม่แน่นอน และความขัดแย้ง ได้    การศึกษาจึงต้องฝึกผู้เรียนให้เรียนในสถานการณ์นี้    ซึ่งหมายความว่า ครูอาจารย์ต้องมีทักษะทำงานในสภาพนี้    ระบบการศึกษาที่เน้นการควบคุมแบบรวมศูนย์อย่างของไทยจึงทำเรื่องนี้ได้ไม่ดี    เพราะครูไม่คุ้น     ประเทศที่ล้ำหน้าไปไกลคือฟินแลนด์    ที่ครูและโรงเรียนมีอิสระสูงมากในการทำงาน   เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายคนให้ได้     

ขอนำ PowerPoint มา ลปรร. ที่ ()  

วิจารณ์ พานิช

๖ มี.ค. ๖๔

          

Sripatum learning from Pattie Pattie
หมายเลขบันทึก: 690126เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2021 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2021 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท