๑,๒๑๐ น้ำหมักจากมูลวัว..


"คำว่าผักปลอดสารพิษ หรือกินในสิ่งที่ปลูก และปลูกในสิ่งที่กิน สาระสำคัญมันอยู่ที่การได้ลงมือทำจริงๆ การได้รับความรู้แล้วแบ่งปันจึงเป็นความสุขของครู ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดให้เด็กรุ่นต่อไปได้อนุรักษ์ดิน น้ำและสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ที่คนไทยควรตระหนัก"

           ในปัจจุบัน..นโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศไทย ไม่ได้สอดคล้องกับสภาพสังคม ชุมชนและเศรษฐกิจ ผู้บริหารระดับสูงก็พยายามจะเน้นเทคโนโลยี เพื่อให้ได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่วัดคุณค่ากันที่คะแนนเฉลี่ย นับวันเด็กไทยจึงไปไม่ถึงฝัน และใช้ชีวิตประจำวันแบบที่พึ่งพาตนเองไม่ได้

           ผมพยายามมองว่า..การแก้ปัญหาปากท้องนั้นสำคัญที่สุด แล้วยิ่งในช่วงสงครามโควิด ที่เรายังรบไม่ชนะ ต้องยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไร ทำอย่างไรเด็กไทยทุกระดับ จะได้เรียนรู้ศาสตร์แห่งงานเกษตรขั้นพื้นฐาน ปลูกฝังเพื่อต่อยอดในครอบครัวของเขา

          เริ่มเรียนรู้ที่โรงเรียนก่อน..ไม่ต้องรอนโยบายจากเบื้องบน แล้วสักวันเมื่อเด็กเติบโตขึ้น เขาจะคิดได้ ทำเป็นและสร้างงานอาชีพในแบบของเขา ในฟาร์มของพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่มอบไว้เป็นมรดก นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า...

          ภาพตัวอย่าง..ที่เห็นผลงานง่ายๆและใช้วัสดุในท้องถิ่น ประหยัดและได้ประโยชน์ ที่ผมคิดว่าควรจะได้ถ่ายทอดให้นักเรียนป.๖ นำติดตัวไปเป็นที่ระลึก ผมจึงพาดูผลงานที่นักเรียนชั้นป.๓ ทำโครงงานปุ๋ยหมักแบบกลับกอง..ผมอธิบายให้ชั้นป.๖ เข้าใจกระบวนการทั้งหมด...

         จากนั้น..จึงให้ไปเขียนเล่าเรื่องทุกขั้นตอน..ก่อนที่จะมาเป็นปุ๋ยหมักสำเร็จรูปที่กองอยู่ตรงหน้า นักเรียนคงจะเชื่ออย่างสนิทใจ ถึงแม้จะไม่ได้ลงมือเอง ว่าผลิตผลอันนี้ดีจริง เพราะใช้เวลาเพียง ๒ เดือน ที่มูลวัวกับฟาง วางซ้อนกันแล้วรดน้ำทุกวัน กลับกองอาทิตย์ละ ๑ ครั้งเท่านั้น

         เมื่อดินดีปุ๋ยดี ก็ต้องมีน้ำหมักเข้าไปร่วมด้วย จึงจะเป็นเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์ ผมให้นักเรียนชั้น ป.๖ ทำน้ำหมักอย่างง่ายที่สุด แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย...รายการนี้นักเรียนต้องลงมือเอง จะได้เกิดแนวคิดที่อาจจะตกผลึกความรู้กันบ้างในอนาคต

         นักเรียนตัดตาข่ายที่มีลักษณะคล้ายผ้ามุ้ง จากนั้นก็เทมูลวัวลงไปพอประมาณ มัดให้แน่นเพื่อห่อหุ้มมิให้มูลวัวร่วงหล่นหรือกระจัดกระจายออกไปด้านนอกตาข่าย นักเรียนหาถังน้ำพลาสติกที่ว่างเปล่าแล้วเติมน้ำลงไปพอประมาณ ไม่ต้องให้ล้นถัง

        นำถุงตาข่ายที่ใส่มูลวัวไว้แล้ว แช่่ลงไปในถัง ให้น้ำในถังท่วมตาข่ายเพื่อจะได้เกิดการทำละลายได้อย่างทั่วถึง...เนื่องจากเด็กป.๖ จะจบแล้ว..ผมเลยต้องบอกขั้นตอนต่อไปว่า แช่ไว้นาน ๑๐ วัน มูลวัวจะละลายกลายเป็นน้ำสีดำ ส่วนในถุงตาข่ายจะเป็นกากจะนำไปใส่ต้นไม้ก็ได้

        น้ำจากมูลวัวที่ได้จากการหมักจะเป็นน้ำหมักชีวภาพอย่างดี มีสารไนโตรเจนสูง ช่วยลดการซีดเหลืองของใบ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชผักทุกชนิด นักเรียนบางคนแย้งว่า ที่เห็นมานั้นเขาแช่มูลวัวลงไปในน้ำเลย ในความเป็นจริงก็ทำได้เหมือนกัน....

        แต่เราต้องใส่น้ำซาวข้าว และผงชูรสลงไปด้วยตามสูตร จากนั้นต้องคนให้เข้ากัน แต่สูตรที่เราทำวันนี้ ไม่ต้องคอยคนให้ละลาย แช่ไว้เฉยๆก็ได้น้ำหมักอย่างดีแล้ว สะดวกและง่ายกว่า..

       ดังนั้น..คำว่าผักปลอดสารพิษ หรือกินในสิ่งที่ปลูก และปลูกในสิ่งที่กิน สาระสำคัญมันอยู่ที่การได้ลงมือทำจริงๆ การได้รับความรู้แล้วแบ่งปันจึงเป็นความสุขของครู ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดให้เด็กรุ่นต่อไปได้อนุรักษ์ดิน น้ำและสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ที่คนไทยควรตระหนัก

      ยังไม่สาย..ที่ผู้นำการศึกษาของไทย..จะหันมาสนใจเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน เน้นให้ครูสร้างงานให้เด็กลงมือทำ เพราะนี่คือกระบวนการสังเกต ปฏิบัติและทดลอง...เป็นเรื่องปากท้องที่จะประคับประคองอนาคตของชาติให้เข้มแข็ง ดีกว่าสร้างนโยบายรายวัน..ที่หันไปทางไหนก็มืดมน คนเจ็บ คนจน มากมายไปหมด


ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๗  เมษายน  ๒๕๖๔   

         

หมายเลขบันทึก: 689936เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2021 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2021 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท