เรามีโอกาสในการที่เราตื่นขึ้นมาแล้วยังมีลมหายใจ เราต้องคิดเสมอว่า "วันนี้เราจะทำอะไรให้แก่ใครบ้าง เราจะเสียสละอะไรบ้าง..?
ตามแนวทางตามหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ของท่าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ได้ยกไว้เป็นคำถามที่สำคัญว่าในการกระทำทุกอย่างของเรา ทั้งในส่วนปัจเจกบุคคล ในรูปแบบขององค์กร เรานำทฤษฎีวิชาการทั้งหมดมาหล่อหลอม เราทำ "เพื่อใคร..?"
นี้เป็นคำถามที่สำคัญ เพราะเป็นคำถามที่เรามุ่งคิดถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือบุคคลอื่น สร้างอุปนิสัยการเป็นผู้ให้ขึ้นในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ
เราต้องคิดซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ และ ซ้ำ ๆ ว่าทุกวันนี้เราทำอะไร "เพื่อใคร..?"
เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่แล้วมักจะคิดว่า เราทำอะไรทุกอย่างนั้น "เพื่อตนเอง..!"
การสร้างอุปนิสัยแห่งการให้การเสียสละนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการสร้างความคิดเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องให้แก่ตนเอง เพื่อเรามีความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติของเราก็ย่อมถูกต้องตามเหตุตามปัจจัย
เมื่อเราคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ๆ จิตใจของเราก็จะเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ความกรุณา มีความรัก ความเอื้ออาทรอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
เราจะรวบรวมสรรพความรู้ สรรพวิชาการ รวมรวบปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างไว้เพื่อให้ เพื่อเสียสละ
ทุกสิ่งที่อย่างนั้นเป็น "ปัจจัตตัง" รู้และเห็นได้ด้วยตนเอง
บุคคลที่ได้สัมผัสกับความอิ่มจากการให้นั้น ย่อมเกิดพลังกาย พลังใจ ที่จะให้อย่างสม่ำเสมอ
การได้กินข้าวสักจานหนึ่งที่กินแล้วอิ่มท้องของตนเองได้ชั่วครู่ ย่อมแตกต่างกับการนำข้าวจานนั้นไปให้แก่บุคคลที่ขาดแคลนและหิวโดย เพราะความอิ่มนั้นย่อมดำรงอยู่ได้ ไม่จำกัดกาล จำกัดเวลา..
การให้ การเสียสละ จึงเป็นหัวใจสำคัญของพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics)
เราจะรู้ในใจของตนเองว่า เรามีความสุขในการที่ได้อดทนทำเพื่อผู้อื่น มีความสุขที่จะตื่นแต่เช้ามาทำความดีเพื่อผู้อื่น มีความสุขในการให้ มีความสุขในการเสียสละ เมื่อการประพฤติการปฏิบัติของเราดำเนินไปด้วยวิถีแห่งพุทธะ เราจะละเสียได้ซึ่งความเห็นแก่ตัว อัตตา และตัวตน...
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนเกิดจากเหตุจากปัจจัย เมื่อเหตุดี ผลก็ย่อมดี เมื่อจิตใจของเราสร้างเหตุให้การให้ การเสียสละ เราย่อมละได้ซึ่งทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร
ทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารก็ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก
ที่เราต้องทุกข์เพราะพ่อแม่ ลูกญาติ ญาติพี่น้อง เจ็บไข้ได้ป่วย หรือมรณภัยมาดึงให้เกิดการพลัดพราก ก็เพราะว่าจิตใจของเราขาดตกบกพร่องในความดีที่เรามีต่อบุคคลผู้นั้น เรียกว่า จิตใจมีหนี้มีสินต่อกัน เราจึงต้องระทมทุกข์ทั้งคืนวัน ร่ำไป...
แต่หากว่าเราได้ทำสิ่งใด "เพื่อเขา" อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง
เราได้ดูแลพ่อแม่ยามที่ท่านแก่เฒ่าอย่างเต็มที่
เราได้ดูแลพ่อแม่ยามที่ท่านเจ็บป่วยอย่างเต็มกำลัง
เราได้เฝ้ารอดูลมหายใจสุดท้ายของพ่อแม่ตามที่ท่านหวัง
การประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เต็มกำลังนี้จะเป็นพลังให้เราต่อสู้ทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารอย่างมั่นคง...
จิตใจที่ไร้ซึ่งหนี้สินต่อสิ่งใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีพระคุณ หรือแม้แต่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ย่อมทำให้จิตใจของเราก้าวหน้าตามครรลองแห่งมรรคผล พระนิพพาน
การที่เราจะพ้นจากทุกข์ภัยแห่งวัฏฏสงสารได้นั้นคือการตัดเสียได้ซึ่งความเกิด... เพราะการเกิดทุกข์คราวเป็นทุกข์ร่ำไป
ครั้นเมื่อเราได้มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ชดใช้หนี้กรรม ต่อเจ้ากรรมนายเวรที่เคยค้างคาต่อกันทั้งในชาตินี้และทุก ๆ ชาติที่ผ่านมา
ดังนั้นหากเราตื่นมาแล้วยังมีลมหายใจ ก็ขอให้เราคิดเสมอว่า เรามีชีวิตอยู่วันนี้เราจะทำอะไรให้ใครได้บ้าง เราจะเสียสละอะไรแก่ใครบ้าง เราจะทำอะไร "เพื่อใคร..?"
ไม่มีความเห็น