สุขภาพทางปัญญา ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ ความสุขแก่นแท้ภายใน



สช. เชิญไปร่วมประชุมพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญาในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรมในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔   โดยมีผลงานวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มานำเสนอ    ผมติดงานอื่นจึงไปร่วมไม่ได้    แต่ก็ได้อ่าน Powerpoint นำเสนอในที่ประชุม    

อ่านแล้วเกิดปิติ ที่ สช. เอาใจใส่เรื่องสุขภาพในมิติที่ลึกเช่นนี้    และชอบคำจำกัดความของคำว่าสุขภาพทางปัญญา ที่ทีมวิจัยเสนอว่า ประกอบด้วย  1) การมีความหมายในชีวิต   2) การมีสติ 3) ความเข้าใจในกฏธรรมชาติ  4) ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น   โดยที่ทีมวิจัยได้บอกว่าคำจำกัดความของสุขภาพทางปัญญามีหลากหลาย   

ผมมีความเห็นว่า การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสู่การมีสุขภาพทางปัญญาต้องบูรณาการอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน,  การเรียนรู้ระดับสูงขึ้นไป,    และในการดำรงชีพตลอดชีวิต    คนแก่ใกล้ตายอย่างผมก็กำลังเรียนรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง    และจริงๆ แล้วในสังคมไทยก็มีโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิถีพุทธ    โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและโรงเรียนในเครือข่ายกว่า ๒๐๐ โรงเรียน  ฝึกทักษะนี้ให้นักเรียนอย่างเห็นผลชัดเจน     

ทีมวิจัยส่วนหนึ่งมาจาก Jai Center : The Center for the Minds ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาทางจิตวิทยา     

“โครงการนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพทางปัญญา ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ ความสุขแก่นแท้ภายใน โดยมีปัจจัยทางจิตวิทยาด้านความคิด อารมณ์และสังคม เป็นตัวแปรส่งผ่าน”   

“ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ในที่นี้คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็น ลักษณะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และพึงประสงค์ขององค์กรต่าง ๆ โดยแนวคิดภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะทางพฤติกรรมหลักสี่อย่าง ได้แก่ 1) อิทธิพลทางอุดมคติ (Idealised influence) หรือการเป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งส่งเสริมให้ผู้ตามประพฤติ ตนในเส้นทางที่ดีที่สุดมากกว่าเส้นทางที่ง่ายที่สุดสำหรับองค์กร (เน้นคุณภาพมากกว่ามุ่งทำงานให้เสร็จ ๆ ไป)  2) แรงจูงใจแบบดลใจ (Inspirational motivation) หรือพฤติกรรมที่สนับสนุนให้ผู้ตามคว้า เป้าหมายที่เหนือกว่าความคาดหมายโดยปกติที่ตั้งไว้  3) การกระตุ้นทางความคิด (Intellectual stimulation) คือ การส่งเสริมให้ผู้ตามมีความคิด สร้างสรรค์และคิดด้วยตัวเอง  4) และความเห็นใจในระดับบุคคล (Individualized consideration) หรือการที่ผู้นำให้ความสนใจ และการสนับสนุนต่อความต้องการในการเติบโตทางบุคคลของผู้ตาม”    เป็นมุมมองเรื่องผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ   

“ความสุขแก่นแท้ภายใน (Eudaimomic Well-Being) ในที่นี้คือ สุขภาวะของบุคคลตามแนวคิดของ Waterman อันเกิดจากการที่บุคคลพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตน และการใช้ศักยภาพนั้นเพื่อการบรรลุเป้าหมาย และทำในสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง เพื่อเป็นการเติมเต็มความหมายในชีวิตและเป้าหมายส่วนบุคคล (Waterman et al., 2010)    ทำให้นึกถึงบันทึก (๑)    ที่ผมได้บันทึกไว้ว่า ผมสมาทานแนวคิดนี้   

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลโมเดลเชิงสาเหตุของสุขภาพทางปัญญาและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยทางด้านจิตวิทยาเป็นตัวแปรส่งผ่าน ในกลุ่มตัวอย่างผู้ปฏิบัติงาน ๓ ด้าน คือด้านสาธารณสุข  ด้านการศึกษา  และด้านพัฒนาสังคมและมนุษย์    มีข้อมูลที่ผมคิดว่ามีค่ามาก    แต่ผมไม่ได้เข้าประชุม และไม่มีรายงานฉบับสมบูรณ์ให้อ่าน    จึงบอกไม่ถูกว่า ความหมายจากการวิเคราะห์ข้อมูลนี้สำหรับนำมาใช้ในหน่วยงานคืออะไร   

ผมมีข้อสงสัยด้านภาพใหญ่ว่า    การที่คนเราจะแสดงออกด้านการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะขึ้นกับปัจจัยภายในของบุคคล และปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น    บรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่ให้ความเป็นอิสระและเอื้อต่อการสร้างสรรค์ น่าจะมีอิทธิพลไม่ใช่น้อย    ในเอกสาร presentation เอ่ยเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาด้านสังคม    ไม่ทราบว่าเป็นอันเดียวกันหรือไม่   

สุขภาพทางปัญญา  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ ความสุขแก่นแท้ภายใน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก มีหลายมุม  และหลายระดับความลึก มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลากหลายซับซ้อนมาก   และไม่ใช่อยู่ในระดับบุคคลและหน่วยงานเท่านั้น   ยังอยู่ใต้กรอบใหญ่ของสังคมโดยเราไม่รู้ตัวอีกด้วย    ดังปัจจุบันเราตกอยู่ภายใต้การครอบงำของลัทธิเสรีนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม การบรรยายเรื่อง New Religions of the 21st Century  โดยศาสตราจารย์ Yuval Harari เมื่อ ๖ ปีที่แล้วที่ Google (๒)  สท้อนภาพการครอบงำแบบไม่รู้ตัวได้อย่างดียิ่ง    ผมจึงเชื่อว่า การเรียนรู้สู่อิสรภาพ รู้เท่าทันมายาคติที่ครอบงำสังคม และไม่ตกเป็นเหยื่อ น่าจะมีความสำคัญด้วย    และนี่คือ ส่วนหนึ่งของ “ปัญญา”

หากได้เข้าร่วมการประชุม หรือได้อ่านเอกสารรายงานวิจัยฉบับเต็ม ก็จะช่วยให้ความเห็นเพิ่มเติมได้อีกมาก    แต่ประเด็นสำคัญสำหรับ สช. คือ    ในเชิงนโยบาย จะเสนอมาตรการสร้างสุขภาพทางปัญญาเข้าไปในระบบสังคมอย่างไร    ผมขอเสนอให้ทีมวิจัยช่วยคิดมาตรการสำหรับ สช. นำไปใช้ได้โดยตรง

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 688896เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท