ชีวิตที่พอเพียง 3829. ชีวิตที่ดี



บทความเรื่อง In Defense of the Psychologically Rich Life เขียนโดย Scott Barry Kaufman บอกเราว่าชีวิตที่ดีมีหลายแบบ    ในบทความระบุ ๓ แบบคือ

  1. 1. ชีวิตที่มีความสุข (happy life, hedonic well-being)
  2. 2. ชีวิตที่มีความหมาย (meaningful life, eudaimonic well-being)
  3. 3. ชีวิตที่มีสีสันเข้มข้น (psychologically rich life)   ซึ่งที่จริงจะว่าเป็นชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ทางอารมณ์ก็ได้    หรืออาจเรียกว่า ชีวิตที่เร้าใจ ก็น่าจะได้       

เขาอ้างถึงผลงานวิจัยของ Shigehiro Oishi และคณะ เรื่อง Happiness, Meaning, and Psychological Richness   ที่ศึกษาคนจำนวนมากใน ๙ ประเทศ  และพบว่า คนเราต้องการชีวิตแบบแรกมากที่สุด คือ ร้อยละ ๔๙.๗ - ๖๙.๙    แบบที่สองรองลงมา ร้อยละ ๑๔.๒ – ๓๘.๕   และแบบที่สาม ร้อยละ ๖.๗ - ๑๖.๘  

ตัวเลขนี้ขึ้นกับวิธีถาม    หากถามอ้อม ด้วยคำถามว่าเหตุการณ์ใดในชีวิตที่ตนเสียดายมากที่สุด จะพบว่าตัวเลขของชีวิตที่ดีแบบที่สามจะเพิ่มขึ้น  

ข้อสรุปก็คือ ชีวิตที่ดีมีหลายแบบ    แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน       

 นั่นคือมุมมองเรื่องชีวิตที่ดี จากมุมด้านจิตวิทยา   

มองจากมุมศาสนาพุทธ    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) บอกว่าความสุขมี ๕ ขั้น (๑)    คือ

  • ขั้นที่ ๑ ความสุขจากการเสพวัตถุ
  • ขั้นที่ ๒ ความสุขจากการเจริญคุณธรรม
  • ขั้นที่ ๓ ความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ
  • ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง
  • ขั้นที่ ๕ ความสุขเหนือการปรุงแต่ง

ผมเองมีวิธีฝึกตนเองให้มีชีวิตที่ดีง่ายๆ    คือฝึกให้มุ่งเป็นผู้ให้ จะทำอะไรก็คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นเป้าหมายหลัก    ฝึกฝนตนเองให้ลดละการถือประโยชน์ส่วนตนเป็นเป้าหมายหลัก    ทำแล้วสบายใจ รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย     และเข้าใจว่าช่วยสร้างบารมีโดยทางอ้อม    

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๖๓


      

หมายเลขบันทึก: 687167เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2020 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2020 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท