เรียนมนุษย์ศาสตร์จาก Yuval Harari



ศาสตราจารย์หนุ่มที่อิสเรล รวบรวม เล็คเชอร์โน้ต เป็นหนังสือ Homo sapiens ทำให้กลายเป็นคนดังอย่างรวดเร็ว การบรรยายชั่วโมงครึ่งที่ Google เรื่อง  New religions of the 21stcentury / Yuval Harari / Talk at Google    บอกผมว่า สาระในการบรรยายคือบทสรุปวิชามนุษยศาสตร์ที่ดีเยี่ยม

เริ่มจากความหมายของปัจเจกบุคคล ที่แปลมาจาก individual    หมายความว่า แบ่งแยกไม่ได้    และมี “เสียงจากภายใน” (inner voice)  เรียกว่า วิญญาณ (soul)    เป็นวิธีตีความคำว่าวิญญาณที่ผมชอบมาก     วิญญาณของเราอยู่ในตัวเรา    และคอยพูดกัยตัวเราตลอดเวลา    และที่สำคัญเราฝึกวิญญาณของเราได้     นี่ผมว่าเองนะครับ     การศึกษามนุษยศาสตร์มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อฝึกวิญญาณของแต่ละปัจเจก         

เขาเริ่มที่ เสรีนิยม (liberalism) Liberal politics, liberal economics, liberal art, liberal ethics, liberal education    ฟังแล้วผมคิดถึงคำ มนุษย์นิยม   ซึ่งข้ามกับ เทวนิยม    ท่านบอกว่า แก่นของเสรีนิยมคือ อิสรภาพ (freedom)    ผมเดาว่าส่วนหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านการกดขี่จากหลากหลายตัวการ เช่นรัฐ ศาสนา

แนวคิดนี้นำไปสู่หลักการ human rights   

ตรงข้ามกับลัทธิเสรีนิยม คือลัทธิคอมมิวนิสม์    ลัทธิอิสลามสุดโต่ง (radical Islamism) และศาสนาสุดโต่งอื่นๆ     ลัทธิเทพเจ้าเทคโนโลยี (techno-religionism)

ผมชอบคำกล่าวเปิดของ Harari ว่าประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาประวัติการเปลี่ยนแปลงของความคิด    ว่าแนวความคิดต่างๆ มีที่มาที่ไปอย่างไรในอดีต    ซึ่งเป็นสาระทั้งหมดในการบรรยายนี้   

ทั้งหมดนั้น บอกผมว่า ไม่มีลัทธิใดที่ตายตัวคงที่ (อกาลิโก)    เมื่อการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นเคลื่อนไป สาระในบางลัทธิก็เสื่อมคลายความขลัง (relevance)    เปลี่ยนจากพลังสร้างสรรค์ (creative force)   กลายเป็นพลังต่อต้าน (reactive force)     Harari อธิบายพลังสองด้านนี้ช่วยให้ผู้ฟังอย่างผมได้เปิดกะโหลกมาก    

ท่านที่ฟังการบรรยายนี้ จะสังเกตพบว่า Harari กลายเป็นที่นิยมมาก เพราะท่านเป็นนักตั้งคำถามยากๆ    แล้วหาคำอธิบายลึกๆ ที่ยังไม่เคยมีใครอธิบายมาก่อน    โดยอาศัยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ เพื่อตอบคำถามนั้น   

นำไปสู่การชี้ให้เห็นจุดอ่อนของลิทธิเสรีนิยม    ท่านชี้ให้เห็นว่า จากความรู้แต่ละด้าน เช่นชีววิทยา อิสรภาพแท้จริงไม่มีในธรรมชาติ     ดังนั้นเสรีนิยมจึงไม่อยู่บนฐานของข้อมูลหลักฐานจากหลากหลายมุม   

คนที่จะบรรยายแบบนี้ได้  ต้องสั่งสมองค์ความรู้มาก    นำมาถกเถียงกับตนเอง     เวลาบรรยายนำมาเสนอจากหลากหลายมุมมอง    ไม่มองสิ่งใด แนวคิดใด ลัทธิใด แบบหยุดนิ่งตายตัว     โดยนัยยะนี้ ประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่ฝึกให้คนมีแนวคิดเชิงพลวัต    ไม่ใช่แนวคิดหยุดนิ่งตายตัว    

เกิดประเด็นต่อนักประวัติศาสตร์ อาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์    ว่าท่านจะสอนประวัติศาสตร์ที่เรียน fact เป็นเรื่องๆ จากมุมมองหนึ่ง    หรือจะสอนให้มองเชื่อมโยง facts   มองจากต่างมุมมอง    และฝึกตีความ fact จากการใช้ศาสตร์อื่นมาช่วย    ดังที่ Harari ใช้ความรู้ด้านชีววิทยามาช่วยตีความประวัติศาสตร์  

นำไปสู่ “วิญญาณ” ที่อยู่ใน algorithm  ไม่ใช่อยู่ภายในตัวปัจเจก    เป็นวิญญาณใหม่ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลของปัจเจกจำนวนมาก     ที่ผมคิดต่อว่า “วิญญาณ” แนวนี้มีมานานแล้ว     สร้างขึ้นโดยลัทธิศาสนา  หรือศาสดาของลัทธิ (เช่น ศาสนาคาทอลิค ในยุคกลาง,  เหมาเจ๋อตง สร้างลัทธิคอมมิวนิสต์จีน)    

ที่ยิ่งกว่านั้นคือ digital algorithm  สามารถสร้าง “วิญญาณ” ภายนอกให้แก่ปัจเจกได้ จากข้อมูลสารพัดด้านของบุคคลนั้น   คำว่า algorithm ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านดิจิทัลเท่านั้น    ยังมี biological algorithm, biochemical algorithm     อัลกอริธึม เหล่านี้ไม่มี consciousness อย่างปัจเจก    แต่เราก็มี consciousness ของกลุ่มชน เป็น collective consciousness    และถ้ามันอยู่ยาวนาน มันก็คือลัทธิ หรือความเชื่อ (ideology)  

ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ จำเป็นต้อง “โหน” สิ่งที่อยู่นอกตัว     คือ “เสียงจากภายใน” ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี    ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวภายนอก    และสิ่งยึดเหนี่ยวนั้นมี ๒ อย่าง คือ (๑) พระเจ้า  (๒) กฎแห่งธรรมชาติ    ท่านกล่าวว่าศาสนาพุทธ และเต๋า ยึดกฎแห่งธรรมชาติ   

ประโยคสุดท้ายคือ นักประวัติศาสตร์มีหน้าที่ describe reality, not to judge it    และเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามหรือเผลอตัดสิน  ความมืดบอด (อย่างน้อยก็ในบางมุม) จะตามมา  

หากนักมนุษยศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ชมการบรรยายนี้    ท่านคงจะตีความได้ดีกว่า ลึกกว่า การตีความของผมอย่างมากมาย          

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ม.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 688871เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2021 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2021 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท