ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๘๗. ระบบส่วยอีสาน


หนังสือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่นของระบบส่วยอีสาน พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๔๓  โดย วีระพงศ์ ยศบุญเรือง    เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศประวัติศาสตร์   ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ    ผมอ่านเพื่อจับความว่า ระบบส่วยสมัยโบราณเป็นอย่างไร 

คนสมัยนี้รู้จักแต่ส่วยราชการ โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งหมายถึงเงินติดสินบนข้าราชการเพื่อทำกิจกรรมผิดกฎหมายแล้วไม่ถูกจับ     ดังตัวอย่างบ่อนระยองที่เป็นแหล่งแพร่โควิดตอนปลายเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ (๑)   ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าธุรกิจผิดกฎหมายไม่ได้มีแค่บ่อนระยอง

สมัยผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว    มีการสนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจนอกกฎหมายและนโยบายสาธารณะในประเทศไทย” (๒)   ข้อมูลลามไปบอกว่า บ่อนซึ่งผิดกฎหมายอยู่ได้เพราะส่งส่วยให้ตำรวจ    โดยที่ตำรวจชั้นผู้น้อยเก็บเงินค่าส่วยจากบ่อนแล้วส่งต่อให้แก่ผู้บังคับบัญชาขึ้นไปเป็นทอดๆ    หัวหน้าโครงการส่วนนี้คือ ผศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น)    เมื่อออกข่าวผลงานวิจัย ก็โดนตำรวจลุกฮือจะเล่นงาน ว่าออกข่าวกลั่นแกล้งตำรวจ ทำให้เสื่อมเสีย    สกว. ต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นผลงานวิจัยที่มีข้อมูลอ้างอิง    สภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ ก็ออกมาปกป้องด้วย    ว่าเป็นงานวิชาการ ไม่ใช่การป้ายสี      

แต่ส่วยสมัยโบราณส่งให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน    เป็นส่วนหนึ่งของรายได้รัฐที่เรียกเก็บจากราษฎรที่เป็นไพร่    ซึ่งอาจเรียกเก็บเป็นเงินหรือสิ่งของก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของ    และส่วนใหญ่ส่งต่อเข้ามายังส่วนกลางของประเทศ    ระบบส่วยยุติลงในรัชกาลที่ ๖  โดยเปลี่ยนเป็นเก็บรัชชูปการแทน ซึ่งก็คือภาษีนั่นเอง

ส่วยสมัยโบราณคู่กับระบบไพร่    นอกกรุง ไพร่ต้องทำงานให้มูลนาย หรือมิฉะนั้นต้องเสียส่วย    ส่วยที่เรียกเก็บมักเป็นของมีค่าทางเศรษฐกิจ เอาไปขายต่างประเทศ   

ตามในหนังสือ ส่วยเป็นที่มาของความไม่พอใจของผู้คน    และเกิดกบฏขึ้น    เพราะโดนเรียกเก็บมากเกินไป   

เมื่ออ่านหนังสือบทที่ ๒  หน้า ๕๙ – ๖๐ ก็พบความเชื่อมโยงระหว่างส่วยสมัยโบราณกับส่วยปัจจุบัน    ว่าสมัยก่อนเจ้าเมืองและข้าราชการไม่มีเงินเดือน    มีรายได้จากส่วยที่ไพร่นำส่ง    รวมทั้งรายได้จากการประกอบอาชีพเช่นทำนา  ค้าขาย  ก็ได้อาศัยส่วยในรูปของแรงงาน หรือเข้าหุ้นกัน    โดยที่ในสมัยนั้น ศาลาว่าราชการ และจวนเจ้าเมืองก็เป็นสิ่งที่เจ้าเมืองต้องจัดหาเอง และถือเป็นสมบัติของเจ้าเมือง    ข้าราชการสมัยก่อนจึงต้องใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์    การค้าขายอาจเข้าหุ้นกับคหบดีในพื้นที่    ในลักษณะเอื้อประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่    ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา     ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ววัฒนธรรมนี้มันต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน    หรือมันเป็นเรื่องใหม่ที่บังเอิญคล้ายคลึงกัน    แต่หลักการสมัยใหม่เราไม่ยอมรับเรื่อง “ผลประโยชน์ขัดกัน” (conflict of interest)          

เนื้อหาเรื่องส่วยอยู่ในบทที่ ๓    บอกว่าส่วยที่เป็นเงินเริ่มปี พ.ศ. ๒๓๗๐  เก็บจากเลกคนละ ๔ บาทบ้าง  ๗ บาทบ้าง แล้วแต่เมือง    แต่ต่อมาเก็บอัตราเดียว คนละ ๔ บาท    ส่วยที่เป็นสิ่งของที่สะกิดตาคือเร่ว ซึ่งใช้เป็นเครื่องเทศและสมุนไพร    เก็บเป็นส่วยเพื่อเอาส่งไปขายที่เมืองจีน    การเก็บส่วยนี้ เก็บเป็นอะไร มากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับพื้นที่    แต่ที่แน่ๆ คือต้องมีระบบเร่งรัด และระบบทวงหนี้ด้วย จากกรุงเทพไปยังหัวเมือง

รายการส่วยที่เป็นสิ่งของได้แก่ เร่ว,  ขี้ผึ้ง,  งาช้าง,  นอแรด,  ครั่ง,  ป่าน,  ผ้าขาว,  แลกเกอร์,  ปลาและไข่ปลา,  กระวาน,  เงิน,  ทอง,  ไหม

ปัญหาการส่งส่วยที่เกิดเป็นประจำคือส่งไม่ครบ    เพราะวัดที่น้ำหนัก    ตอนชั่งที่เมืองต้นทางสิ่งของยังสด    ระหว่างเดินทางน้ำหนักลดเพราะแห้ง    เมื่อถึงกรุงเทพชั่งใหม่น้ำหนักลดลงไปเท่าไร ก็จดไว้ว่ายังเป็นหนี้อยู่เท่านั้น    แปลกมากที่ไม่ได้ตกลงกันว่า ถือน้ำหนักที่ปลายทาง     และต้นทางต้องส่งสิ่งของน้ำหนักมากกว่าข้อตกลง เอาไว้เผื่อน้ำหนักลด   

ทศวรรษ พ.ศ. ๒๓๙๐ เริ่มมีการเรียกส่วยเป็นวัวควาย เพราะในภาคกลางมีการทำนาข้าวมากขึ้น    และการค้าของป่ากับจีนเริ่มโรยราลง    แสดงให้เห็นพลวัตของการเรียกส่วย    มีข้อความบอกว่าในปี ๒๔๐๑ ควายในภาคกลางล้มตายมาก   จึงมีการเร่งรัดเรียกส่วยควายจากอีสานเป็นพิเศษ   

สำหรับผม เรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจในหนังสือ ไม่ใช่เรื่องส่วย    แต่เป็นเรื่องความยากลำบากในการเดินทางสมัยก่อน ที่จริงๆ แล้วไม่นานมานี้เอง    คือ ๑๒๐ ปีเท่านั้น    ผมนึกในใจว่า น่าจะหยิบยกบางตอนในหนังสือมาให้นักเรียนสมัยนี้อ่านทำความเข้าใจ    เพื่อจะได้ตระหนักความแตกต่างของชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือเรื่องทาส    การล่าจับตัวทาส ในภาคอีสาน ลาวและเขมรสมัย ร้อยสี่สิบปีก่อน    มีการไปล้อมหมู่บ้าน ฆ่าคนที่ต่อสู้และจับผู้หญิงและเด็กไปขายเป็นทาส   ราคาขายทาสเท่ากับราคาควาย ๒ - ๗ ตัว    การค้าขายทาสเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมบ้านป่าสมัยนั้น    และมามีมาตรการยกเลิกในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยพระบัญชาของ ร. ๕  

หนังสือบอกว่า ระบบส่วยในอีสาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเศรษฐกิจ ๓ ด้านคือ (๑) เศรษฐกิจทาส  (๒) ตลาดค้าวัวควาย  (๓) การค้าภายใน    ข้อความในหนังสือตอนนี้อ่านแล้วเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของผู้คน    ที่ได้จากบันทึกของคนฝรั่งเศสที่เดินทางสำรวจ    น่าอ่านมาก

ผลกระทบต่อการเมืองท้องถิ่นอยู่ในหน้า ๑๔๖ – ๑๕๘    อ่านแล้วเห็นสองภาพใหญ่    คือภาพการร่วมแสวงประโยชน์ส่วนตนของข้าราชการส่วนกลาง กับข้าราชการกึ่งเมืองขึ้น    ที่ปฏิบัติกันเป็นปกติ

อีกภาพหนึ่งที่สะดุดตาผมมากคือการขอตั้งเมืองใหม่เพื่อหนีหนี้ส่วยเมืองหลวง  และเพื่อหลบหลีกเจ้าเมืองใหญ่ ในพื้นที่ ที่เรียกเก็บส่วยในอัตราสูงเกินไป    สภาพปัญหานี้หมดไปเมื่อ ร. ๕ ปฏิรูปการบริหารประเทศ    

ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ที่ให้รายละเอียดสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชาวบ้านธรรมดา ชัดเจนดีมาก                      

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 688825เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2021 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2021 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท