ADHD ตีความใหม่



หนังสือ Elastic : Flexible Thinking in a Time of Change(2018) หน้า ๖๑ – ๖๔ อธิบายเรื่อง ข้อค้นพบใหม่เกี่ยวกับ เด็ก ADHD (Attention Deficit / Hyperactivity Disorder)    ว่าการที่พบเด็กเหล่านี้มากขึ้นอาจเป็นการปรับตัวของวิวัฒนาการของมนุษยชาติต่อชีวิตสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอน  

รวมทั้งให้มุมมองว่า อาการดังกล่าว เป็นสภาพที่เอื้อให้เกิดความสามารถพิเศษด้านการคิดแบบที่ ๓ คือ คิดยืดหยุ่น    ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการมีชีวิตที่ดี    

มนุษย์เราใช้วิธีคิด ๓ แบบคือ (๑) คิดในกรอบ หรือตามแบบแผน  (๒) คิดตามเหตุผล เป็นตรรกะ  (๓) คิดยืดหยุ่น ซับซ้อน แหวกแนว    แต่ละคนใช้ความคิดสามแบบในสัดส่วนที่ต่างกัน    และคนที่ถนัดคิดแต่ละแบบถนัดทำงานต่างชนิดกัน    หนังสือเล่มนี้เล่ารายละเอียดของความก้าวหน้าในความเข้าใจเรื่องกลไกการคิดแบบที่ ๓    จากศาสตร์ด้านสมอง และด้านจิตวิทยา    น่าตื่นตาตื่นใจมาก    ความคิดแบบที่สามได้แก่ idea generation, pattern recognition, divergent thinking, imagination, integrative thinking    เป็นความคิดของอัจฉริยะ    แต่ในบันทึกนี้จะจับเฉพาะเรื่อง ADHD  

หัวข้อย่อยในหนังสือเล่มนี้บอกว่า เด็กเป็น ADHD มีความคิดแบบที่ ๓ เหลือเฟือ หรือมากล้น 

ตรงกับแนวคิดของคนไทยว่า เด็กจำนวนหนึ่งเป็น “เด็กล้น”    คือไม่เข้ากรอบ (คิดแบบที่ ๑)    หนังสือบอกว่า เด็ก ADHD กับเด็กอัจฉริยะ มีลักษณะซ้อนทับกัน    กล่าวใหม่ได้ว่า เด็ก ADHD จำนวนหนึ่งเป็นเด็กอัจฉริยะ    เขามีวิธีทดสอบทางวิทยาศาสตร์สมอง  

นักวิจัยที่จุดพลุเรื่องนี้คือ Bonnie Cramond    ที่ทดสอบพบว่าหนึ่งในสามของเด็ก ADHD เข้าเกณฑ์เด็กอัจฉริยะ    และหนึ่งในสี่ของเด็กที่ได้รับเลือกเข้าเรียนในโปรแกรมเด็กเก่งพิเศษ เข้าเกณฑ์เป็น ADHD คืออุบัติการณ์สูงกว่าในประชากรเด็กทั่วไปสี่ห้าเท่า   

ความแตกต่างอยู่ที่สมองส่วนที่เรียกว่า reward system – ให้ความรู้สึกพึงพอใจ   ที่เป็นกลไกตามธรรมชาติของสมอง    และเวลานี้เขารู้ว่าสมองส่วนไหนทำหน้าที่นี้ ด้วยกลไก dopamine receptor    และค้นพบว่า เด็ก ADHD มีความบกพร่องของกลไกนี้    ทำให้กิจกรรมตามปกติในชีวิตประจำวันหรือในห้องเรียน ไม่สร้างความพึงพอใจให้แก่เด็กเหล่านี้    เขาจึงแสวงหาความพึงพอใจ (reward) จากกิจกรรมอื่นๆ    และผู้ใหญ่มองว่าเขาเป็นเด็กอยู่นิ่งไม่เป็น   

เด็กเหล่านี้จึงไม่มีสมาธิอยู่กับกิจกรรมที่ครูจัดให้    (เพราะมันไม่น่าสนใจสำหรับเขา)    แต่หากพบสิ่งที่สนใจ เขาจะมีสมาธิพุ่งความสนใจเป็นพิเศษ ที่ฝั่งเรียกว่า hyperfocus   และแสดงความคลั่งใคล้ต่อเรื่องนั้นเป็นพิเศษ    ลักษณะทางชีววิทยาชนิดนี้ จึงอาจเพิ่มขึ้นพร้อมกันกับโลกและสังคมที่มีสิ่งเร้ามากล้นเกิน    ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีได้ในสังคมมโนสาเร่

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาจากการวิจัยในชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ เร่ร่อนย้ายถิ่น ชื่อ Ariaalในประเทศเคนยา    ที่มีทั้งกลุ่มที่ยังย้ายถิ่น  กับกลุ่มที่ตั้งหลักแหล่ง    เขาตีความว่า ลักษณะ ADHD (ยีน dopamine receptor DRD4) เป็นคุณต่อชีวิตย้ายถิ่นที่ต้องเผชิญสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ตลอดเวลา     และศึกษาพบว่า คนที่มียีน DRD4-7R ที่รู้กันว่า มีอิทธิพลให้ผู้นั้นเป็นคนชอบแสวงหาค้นคว้า    ในกลุ่มย้ายถิ่นมีภาวะโภชนาการดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม    แต่ในกลุ่มตั้งถิ่นฐาน คนมียีนนี้มีภาวะโภชนาการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย   

เขาบอกว่า ADHD เป็นลักษณะของสมองที่ยังเจริญไม่เต็มที่    เมื่อโตขึ้นอาการนี้ก็หายไปเอง    แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกอาชีพหรือหน้าที่การงาน    เมื่อห้าสิบปีมาแล้ว Michael Kirton เสนอเรื่อง Cognitive Styles   บอกความแตกต่างระหว่างคนทำงานแบบ adaptor  กับแบบ innovator   จะเห็นว่า คนที่คิดแบบที่ ๓ เหมาะที่จะเป็น innovator  

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ม.ค. ๖๔

       

หมายเลขบันทึก: 688714เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท