ว่าด้วยนโยบายการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ของไทย (ตอนจบ)


ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓

          ประเด็นที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

          ๑. ได้เห็นวิธีคิดของประเทศอื่น ๆ ที่มีนโยบายในการจัดสรรวัคซีนที่แตกต่างกันไป บางประเทศเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางก่อน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต บางประเทศเน้นไปที่กลุ่มวัยแรงงานและคนทำงาน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อได้มาก เนื่องมาจากเป็นกลุ่มคนทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศนั้น ๆ  มีกิจวัตรที่ต้องเดินทางออกมาทำงานนอกบ้าน และมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคให้กับคนในครอบครัวได้อีกด้วย บางประเทศเน้นไปที่กลุ่มครู-อาจารย์ เนื่องจากต้องการให้นักเรียน-นักศึกษาได้กลับมาเรียนหนังสือตามปกติโดยเร็ว

         ๒. สำหรับประเทศไทย เนื่องจากอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันมีไม่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ และระบบการรักษา
ผู้ป่วยสะสม ระบบการติดตามเฝ้าระวัง มาตรการการดูแลและกักตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ไม่มีอาการ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และศักยภาพของระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรับมือและจัดการได้ อีกทั้งประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น ด้วยฐานคิดและศักยภาพในด้านนี้ ภาครัฐของไทยจึงมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ แบบถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน (ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี) 

         ๓. ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในสังคม และเห็นความแข็งขัน (Active) ของภาครัฐ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสาธารณสุข ที่ทำงานและตัดสินใจบนข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ (Evidence based) ทำให้ได้รับความเชื่อถือเชื่อมั่นจากภาคการเมืองและภาคส่วนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก

         ๔. ทำให้มีความเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นคนไทย (Non-Thai) มากขึ้น ว่ามีความซับซ้อนและมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งในมิติของนโยบาย มิติของการปฏิบัติ มิติทางด้านเศรษฐศาสตร์/การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มิติทางการเงินการคลังของไทย มิติทางด้านความมั่นคงของประเทศ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน หากจะต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายใด ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

         ๕. เรื่องสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การสื่อสารสังคม ด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงของนโยบายหรือแนวทางการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ของไทยให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนในสังคมมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีน การบริหารจัดในการกระจายวัคซีน รวมไปถึงแนวทางหรือมาตรการ Post-COVID-19 Vaccine ด้วย

         นภินทร ศิริไทย

    คำสำคัญ (Tags): #km#COVID19#วัคซีนโควิด
    หมายเลขบันทึก: 688559เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2021 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2021 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท