เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเรียนรู้ใน การประชุม Policy Dialogue หัวข้อ “ทางเลือกทางรอดของการจัดสรรวัคซีนของประเทศไทย” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และได้เชิญนักวิชาการหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์วิโรจน์ตั้งเจริญเสถียร นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นายแพทย์วิรุฬ ลิ้มสวาท จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ รวมไปถึงผู้บริหารและบุคลากรของ สช. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การประชุม Policy Dialogue หัวข้อ “ทางเลือกทางรอดของการจัดสรรวัคซีนของประเทศไทย” ในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของ สช. ในการที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงนโยบายหรือมาตรการการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ในมุมมองทางวิชาการ เพื่อหนุนช่วยด้านวิชาการหรือข้อเสนอเชิงนโยบายในการดำเนินการจัดสรรควัคซีนโควิด-๑๙ ของภาครัฐ
นายแพทย์วิโรจน์ ได้นำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้ ภาครัฐได้มีการทำงานที่แข็งขัน มาก ในการหามาตรการจัดสรรวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งมีข้อสรุปที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐจะจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ที่ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ผู้เขียนไปค้นหาข้อมูลในเรื่องนี้ พบว่า เหตุที่ ๒ กลุ่มนี้ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙
เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัยรองรับ จึงเป็นความเสี่ยงในการได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ทำให้เหลือประชากรไทย ที่รัฐจัดสรรให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ จำนวนประมาณ ๕๒ ล้านคน แต่เนื่องจากการทดลองวัคซีนโควิด-๑๙ ในสถานการณ์นี้ เป็นการทดลองแบบเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉินจึงเป็นข้อห่วงกังวลถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ดังนั้น การทยอยจัดซื้อ การให้ระยะเวลาทอดออกไปเพื่อสามารถคัดเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด และกระจายการสั่งซื้อวัคซีนจากหลายแหล่ง จึงเป็นการ play safe มากกว่า
โดยประชากรไทย ๔ กลุ่มที่รัฐกำหนดให้ได้รับวัคซีนและจะเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก่อนเป็นอันดับแรก คือ
๑. ผู้ที่มีอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไป
๒. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน
๓. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
๔. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทหาร ตำรวจ ที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด
ซึ่งประชากรไทย ๔ กลุ่มดังกล่าว โดยรวมแล้วมีประมาณ ๑๘ ล้านคน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
นภินทร ศิริไทย
ไม่มีความเห็น