๑,๑๘๙ ปัญหาของคนทำงานไม่สำเร็จ...


พอลดละเลิกความเป็นช่างแข่งขันลงได้ จึงพบว่า..ขยะในโรงเรียนลดลง งานเอกสารบ้าบอคอแตกไม่ต้องทำ เอาเวลามาทำงานแข่งกับตัวเอง ตั้งเป้าหมายแบบพอดีและพอเพียง ค่อยๆคิดค่อยๆทำ ก้าวช้าๆแต่ไม่หยุดก้าว ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะชื่นชมหรือไม่ ไม่จ่อมจมกับลาภยศ รางวัลและคำสรรเสริญเยินยอ

          โดยหลักการและทฤษฎีก็จะเป็นประมาณนี้ ผมเคยทำงานไม่สำเร็จ เพราะติดกับปัญหาหลายข้อ เลยคิดว่าชีวิตราชการที่เหลือจะต้องตัดปัญหา หรือไม่ทำตนให้เป็นคนเจ้าปัญหา

      คนที่ทำงานไม่สำเร็จ มีกันทุกองค์กร และที่ผมอยู่เขาเรียกโรงเรียนขนาดเล็ก ก็มีสิทธิ์ทำงานไม่สำเร็จเหมือนกัน เป็นเรื่องปกติที่เห็นกันโดยทั่วไป..

          บุคลากร..ในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ทำให้งานการศึกษา ไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่คุณภาพได้ ผมไม่ได้ว่าใคร..แต่ฟังมาจากต้นสังกัดที่มักเอ่ยอ้าง จากนั้นก็ทำท่าจะยุบควบรวม

          อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ไม่ได้หมายความว่า..ทุกท่านทำกันอย่างนี้ จึงเป็นเช่นนั้น..แต่ต่อไปนี้ ให้ทุกท่านทุกคน รวมทั้งบุคคลในโรงเรียนขนาดเล็กด้วย จงมองไปข้างหน้า...

          ศึกษาปัญหาของคนที่ทำงานไม่สำเร็จ..โดยที่ผมจะยกกรณีของผมเอง..ว่าคิดอย่างไรและจะทำอย่างไร? ไม่แน่เหมือนกันในสิ่งที่ผมพูดนี้ มันอาจเป็นปัญหาสากลของคนทั่วไป..ที่น่าสนใจยิ่งนัก

          เท่าที่ผมศึกษา คนที่ทำงานไม่สำเร็จ จะมีด้วยกัน ๔ ช่าง.....

          ช่างบ่น  เมื่อก่อนผมบ่นหนักมาก..ตั้งคำถามอยู่เสมอ..บ่นพึมพำกับตัวเองและระบายคำบ่นให้คนบางคนได้รับรู้..ใจความว่า..”.คนก็น้อย...งานก็มากมาย ทำไมไม่ช่วยกันทำงาน (วะ)”

          จากนั้นงานของผมที่เป็นงานของโรงเรียน ก็ใช่ว่าจะสำเร็จ ทั้งที่บ่นจนรู้สึกเบื่อ

          ต่อมา..ผมปรับเปลี่ยนใหม่ กระโดดลงไปช่วยแนะนำ และลงมือช่วยทำ หยุดพร่ำบ่นแต่เพิ่มการนิเทศติดตามช่วยเหลือและให้ขวัญกำลังใจคนทำงานมากขึ้น...จึงได้พบความสำเร็จมากขึ้น

          ช่างติ  ผมเคยเป็นครูมาก่อน และแน่นอน..ผมนี่แหละเคยตำหนิติติงผู้บริหาร ตั้งแต่สากกระบือยันเรือรบ ทำดีไม่ดีขอติไว้ก่อน แบบว่าเชื่อมั่นในตัวเองเสียเหลือเกิน

          แต่โชคดี ที่ติเขาแล้ว ก็มานั่งทำงานสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ตัวเองและโรงเรียน..

          พอมาเป็นผู้บริหาร จึงสำนึกได้ว่าการติติงไม่ดี ไม่สร้างสรรค์ ใช่ว่ากลัวเพื่อนครูจะติ เพียงแค่ระวังตัวไม่ไปตำหนิติติงใคร ทั้งในและนอกองค์กร มันสะท้อนบุคลิกภาพความเป็นผู้บริหาร

          ยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็กด้วยแล้ว การติ..ย่อมจะไม่ช่วยให้งานดีขึ้น..เพราะข้อจำกัดมากมายที่จะต้องช่วยกันประคับประคองให้อยู่รอด แต่เราเป็นผู้บริหาร มานั่งเป็นช่างติ..มันจะเหลืออะไร?

          ช่างเปรียบเทียบ รับรองได้ว่าเป็นกันเกือบทกคน จะมากหรือน้อยเท่านั้น ในช่วงครึ่งทางของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ผมเปรียบเทียบบ่อยมาก ทำไมเขาทำได้เราทำไม่ได้ ทำไมโรงเรียนเขามีเราไม่มี...ทำไมและทำไมเขาพร้อม แต่โรงเรียนเราสะกดคำว่าพร้อมไม่เป็น...เสียที

          เห็นช้างขี้ก็จะขี้ตามช้าง หรือเตี้ยอุ้มค่อมนั่นเอง จนบ้างครั้งวิ่งตามแบบขี่ช้างจับตั๊กแตนก็เคยทำมาแล้ว..เพราะมัวแต่ไปเปรียบเทียบความเด่นความด้อยอยู่นั่นเอง รู้สึกไร้สาระสิ้นดี

          ตอนหลังคิดได้..กลับมามองบนบริบทตัวเอง ศึกษาปัญหาและความต้องการจำเป็น จึงมองเห็นศักยภาพของตนเองและเพื่อนร่วมงาน ไม่ฝันลมๆแล้งๆ แต่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงมีโอกาสได้ทักทายความสำเร็จได้มากขึ้น

          ช่างแข่งขัน เสียดายเวลาที่เคยเอาเป็นเอาตายในจุดนี้ ประกวด ประชัน ขันแข่ง ทั้งส่วนตนและโรงเรียน..พอมุ่งเอาชนะ รู้สึกเหนื่อยและสมเพชตัวเอง เหมือนดวงใจมืดบอด มองไม่เห็นแสงสว่าง ทำให้จิตใจขุ่นมัว ผลที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เกิดเนื้อนาบญต่อการศึกษาของโรงเรียนแต่อย่างใด

          พอลดละเลิกความเป็นช่างแข่งขันลงได้ จึงพบว่า..ขยะในโรงเรียนลดลง งานเอกสารบ้าบอคอแตกไม่ต้องทำ เอาเวลามาทำงานแข่งกับตัวเอง ตั้งเป้าหมายแบบพอดีและพอเพียง ค่อยๆคิดค่อยๆทำ ก้าวช้าๆแต่ไม่หยุดก้าว ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะชื่นชมหรือไม่ ไม่จ่อมจมกับลาภยศ รางวัลและคำสรรเสริญเยินยอ

          แต่มุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอน อย่างเต็มที่เต็มเวลา ผลที่ตามมาคือครูและเด็กเก่งขึ้น..ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน...เกิดความรักความภาคภูมิใจ โดยที่ไม่มีใครต้องเดือดร้อน..

          ดังนั้น..ปัญหาของคนที่ทำงานไม่สำเร็จ จะมีประมาณนี้  หากไม่ฝึกจิตฝึกใจ ไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม สนิมร้ายเหล่านี้จะก่อให้เกิดนิสัยถาวร บั่นทอนความสำเร็จของทุกคน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  มกราคม  ๒๕๖๔


         

         

หมายเลขบันทึก: 688492เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2021 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท