Transformative Learning ฉบับพระสอนศีลธรรม



ผมได้รับ อีเมล์ จากพระมหารูปหนึ่ง บอกว่าเป็นนักวิชาการศึกษา ของสำนักงานพระสอนศีลธรรม ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่ง    กำลังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของ มรภ. แห่งหนึ่ง    ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Transformative Learning เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเป็นที่ปรึกษาโครงงานคุณธรรมของพระสอนศีลธรรม    ขอมาสัมภาษณ์ผม    

ที่จริงการติดต่อแบบนี้ ผมจะไม่ตอบ    เพราะไม่ได้แสดงว่าตนเองได้ค้นคว้าเรื่องนั้นมาแล้วแค่ไหน    และประเด็นที่จะคุยคืออะไร    แต่คราวนี้ไม่รู้อะไรมาดลใจให้ผมตอบรับ    เมื่อใกล้ถึงวันพบกัน ท่านก็ส่ง ๑๐ คำถามมาให้ตอบ    ผมก็ตกใจ    ว่านี่หรือคำถามเพื่อเอาข้อมูลไปใช้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก  

ผมเรียนท่านไปว่า ผมจะไม่ตอบ ๑๐ คำถามนั้น    แต่ยินดีคุยลงลึกในเรื่อง TL ในมิติทางศาสนาพุทธ     “หากพรุ่งนี้เราจะพบกัน ผมขอไม่ตอบ 10 คำถามนี้ แต่จะสนทนาว่าท่านและ อจ. ที่ปรึกษาเข้าใจเรื่อง TL อย่างไร คนเราจะเข้าถึง TL ได้อย่างไร แล้วท่านไปสรุปเอาเอง    ไม่ทราบว่าท่านยังจะนัดพบไหมครับ”    ท่านตอบมาว่า  “อาตมาขอนัดท่าน อจ ตามเดิมครับ เมตตาได้ช่วยแนะนำ ให้ความเห็น ได้เลยครับ อาตมาจะขอนำไปสรุปอีกทีครับ  ได้พบผู้รู้เฉพาะทางจากท่านอาจารย์ถือว่าเป็นมงคล”   ท่านมีจิตวิทยาสูง สมเป็นพระมหานะครับ

ผมตั้งใจไป dialogue กับท่านว่า    TL กับหลักพุทธตรงกัน หรือต่างกัน หรือเสริมกันอย่างไร    เอาไปโยงกับพระสอนศีลธรรม   และโยงกับโครงงานคุณธรรม ได้อย่างไร  

ผมไม่รู้จัก “พระสอนศีลธรรม”  และ “โครงงานคุณธรรม” จึงได้โอกาสเรียนรู้ไปในตัว จึงได้รู้ว่าโครงการพระสอนศีลธรรม เวลานี้ดำเนินการโดยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย    ได้รับงบประมาณแผ่นดิน    มีพระสอนศีลธรรมอยู่ ๑๘,๐๐๐ รูป ทั่วประเทศ    สอนศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน โดยสอนแบบโครงงาน     

สอน / เรียนจากการปฏิบัติ    ตามด้วยโยนิโสมนสิการ    หรือ active learning    โดยเรียนและคิดร่วมกัน ฟังความคิดความเข้าใจหรือการตีความที่ต่างจากของตัวเรา     ตีความเข้าหาหลักการ    ซึ่งในทางพุทธคือหลักการละตัวตน ตัวกูของกู    คือละกิเลสเครื่องเศร้าหมอง    ทำให้มีความสุขจิตใจโปร่งโล่งสบาย    และมีปัญญาแก่กล้าเข้มแข็งเฉียบคม   

มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องต่างจากมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป    ที่ต้องเน้นการลดละตัวตนเป็นแก่แกน    TL ของมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงควรเน้นที่การเปลี่ยนแปลง การใช้เครื่องมือทุกชนิด เพื่อเป้าหมายการลดละตัวตน   

ตัวอย่างเครื่องมือเช่น อิทธิบาท ๔   ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อาจใช้เพื่อเพิ่มพูนกิเลสก็ได้  หรือใช้เพื่อลดกิเลสก็ได้    พระสอนศีลธรรมต้องมีทักษะในการออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผ่านความยากลำบาก    แล้วร่วมกันตีความ ทำความเข้าใจคุณค่าของอิทธิบาท ๔ ว่า    มีคุณค่าต่อการทำงานให้สำเร็จอย่างไร    มีคุณค่าต่อการยกระดับจิตใจของตนอย่างไร    พระสอนศีลธรรมต้องมีชุดคำถามตามแนวอิทธิบาท ๔ ให้ผู้เรียนได้ร่วมกันใคร่ครวญ  จากมุมมองของแต่ละคน ที่อาจจะแตกต่างกันได้แบบสุดขั้ว     

กิจกรรมเดียวกัน  อาจนำมาโยนิโสมนสิการ จากมุมของฆราวาสธรรม สัจจะ  ทมะ  ขันติ  จาคะ    หรือจากมุมของ  พละ ๕ คือ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา   หรือจากมุมของ บารมี ๑๐ อันได้แก่ ทาน  ศีล  เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา  

การสอนศีลธรรมแก่คนรุ่นใหม่คงต้องใช้กิจกรรม หรือกรณีตัวอย่าง เพื่อการโยนิโสมนสิการ ที่ตรงกับจริตและความคุ้นเคยของคนรุ่นใหม่    รวมทั้งภาษาก็ต้องไม่ยึดภาษาพระมากเกินไป

วิจารณ์ พานิช

หมายเลขบันทึก: 687939เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2020 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2020 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท