๑,๑๗๕ คุณค่าของการรอคอย..คุณค่าที่คู่ควรโรงเรียนขนาดเล็ก


"งานพัฒนาผู้เรียนให้มี “ทักษะชีวิต” มีจิตใฝ่รู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ดื่มด่ำด้านการแสดงออกทาง “นาฎศิลป์”และ “ดนตรี”ผมรอมาหลายปี จนถึงวันนี้ เพื่อที่จะเห็นการเจริญเติบโต"

          ในโลกใบนี้..ไม่มีใครไม่เคยพบปัญหา ทุกคนต้องพบกับความทุกข์ความยากกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย..

      บางคนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก แต่ผ่านอุปสรรคมาได้ก็เพราะความอดทน ผู้ที่รักความก้าวหน้าจึงควรยึดคุณสมบัติ “ความอดทน” ให้อยู่คู่กายตลอดเวลา

          ไม่มีใครสุขสมหวังไปซะทุกเรื่อง อาจพบหัวหน้างานที่ไม่ถูกใจบ้าง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าชื่นชม ไม่สมหวังในความรัก หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมดาโลก แต่ต้องอยู่ให้ได้ด้วยความอดทน

          ผู้รู้ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ..การยืนหยัดอดทนมิได้หมายความว่าให้เราผจญกับปัญหา โดยไม่คิดหาทางแก้ไข หรืออยู่ไปวันๆโดยที่ไม่ทำอะไร..

          แต่หมายความว่า..ในเมื่อยังแก้ปัญหานั้นไม่ได้หรือยังไม่มีทางแก้ปัญหา ก็ให้เรายืนหยัดอดทนไปก่อน อย่ายอมล้มลงง่ายๆ หรืออย่าคิดหนีปัญหาโดยไม่รับผิดชอบ..

          ผมกำลังมองว่า “การรอคอย”เป็นความอดทนแบบหนึ่ง อดทนกับการรอคอยเป็นคำพูดง่ายๆแต่ปฏิบัติยากเหลือเกิน เชื่อว่าทำไม่ได้ทุกคน และอาจมีบางคนไม่คุ้นเคยกับการที่ต้องรอคอยอะไรนานๆ

          ครูทุกวันนี้ ต้องใช้ความอดทนสูงมาก อดทนกับการรอคอย เพื่อให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ..เรียนจบชั้นสูงสุด

          เอาแค่การอ่านออกเขียนได้ กับเด็กสักคนที่ไม่ได้เรื่อง ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ด้วยวิธีสอนรายบุคคล สอนในเวลาและซ่อมเสริมนอกเวลา วันแล้ววันเล่า ผ่านไปในแต่ละเดือนแต่ละเทอม ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความอดทน รอคอยว่าเมื่อไหร่ เด็กจะอ่านคล่องเขียนคล่อง..

          งานพัฒนาผู้เรียนให้มี “ทักษะชีวิต” มีจิตใฝ่รู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ดื่มด่ำด้านการแสดงออกทาง “นาฎศิลป์”และ “ดนตรี”ผมรอมาหลายปี จนถึงวันนี้ เพื่อที่จะเห็นการเจริญเติบโต

          คุณค่าของการรอคอย..อยู่ในระหว่างทางที่รอคอย ผมได้ทำหน้าที่ด้วยอุดมการณ์ ด้วยความรักและศรัทธา มีความสุขที่ได้ทุ่มเทเพื่อศิษย์ ได้ค้นคิดสื่อ วิธีสอน และกิจกรรม ที่ตรงกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ครูที่รอเป็นและเย็นพอ จะเข้าใจในจุดนี้

          แต่ก็ต้องยอมรับในความคิดและความแตกต่างของครูบางท่าน ที่ยังยึดติดกับตำราและปฏิบัติตาม “คำสั่ง”อาจจะไม่สามารถประยุกต์หรือเป็นตัวของตัวเองได้เลย

          ผมคิดว่า..ครูต้องฝึกเด็กอย่างหลากหลาย ใช้การสังเกตและเก็บข้อมูลอย่างจดจ่อ รอคอยความสำเร็จด้วยความอดทน ปลายทางแสงสว่างมองเห็นได้ชัดเจนที่ชั้น ป.๖ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทั้งครูและเด็กจะภูมิใจเสียอีก ว่าเราทำได้แล้ว..

          ในความเป็นจริง..ที่เด็กเรียนรู้ศิลปะวิทยา..และครูเฝ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ “ความพร้อม”ของเด็ก เกิดขึ้นแล้วในแต่ละช่วงชั้น คุณค่าในแต่ละขั้น..ครูย่อมรับรู้ได้

          การรอคอย..เริ่มต้นที่ศูนย์เสมอ จึงต้องเติมความอดทนตั้งแต่เริ่มต้นลงมือ

          ผมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบทเพลงพื้นบ้านและดนตรี..กว่าจะมีผลผลิตสู่สายตาชุมชนผู้ปกครอง ต้องอดทนฝึกหัด เรียนรู้ภาคปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องหลายปี

          ทุกวัน..เฝ้าดูแลและรอคอยการเจริญเติบโต ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายปลายทางจะเป็นเช่นไร แต่หัวใจครู ที่ไม่เคยท้อ..คือคุณค่าที่คู่ควรโรงเรียนขนาดเล็ก..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  พฤศจิกายน  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 686745เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2020 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2020 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท