พลังที่ถูกมหาวิทยาลัยลืม



บ่ายวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง มหาวิทยาลัย ๔.๐    ที่ทำงานวิจัยแบบ foresight    เสนอ ๔ ฉากทัศน์   เชื่อมสู่การทำความเข้าใจ driving forces 26 ตัว   และเลือก strong driving forces 15 ตัว    เชื่อมโยง มช. 2040 กับการการปรับครึ่งแผน มช. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔   และ มช. ๒.๐ ที่ท่านอุปนายกสภา มช. ศ. นพ อาวุธ ศรีสุกรี เสนอไว้เมื่อ ๒ ปีก่อน    นำสู่การมองอนาคตว่า มช. ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง  

เป็นงานวิจัยที่มีพลังมาก    ในการขับเคลื่อนการ transform มหาวิทยาลัย   

ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า ยังมีอีก ๒ พลังที่ทีมวิจัยยังไม่ได้กล่าวถึง    เพราะต้องเปลี่ยนวิธีคิด จึงจะเห็นพลังทั้งสองนี้   หากยังคิดแบบเดิม ก็จะไม่เห็น    ต้องเปลี่ยน mindset จึงจะเห็น

พลังทั้งสองคือ พลังนักศึกษา    กับพลังความรู้ปฏิบัติ

พลังนักศึกษารูปแบบใหม่ เชื่อมโยงกับการ transform การเรียนการสอน  การวิจัย  และการบริการสังคม    หากไม่ transform วิธีคิดเกี่ยวกับ นศ.    ไม่ transform การเรียนการสอน  การวิจัย  และการบริการสังคม ไปพร้อมๆ กัน    พลังนี้ก็ไม่เกิด  

มหาวิทยาลัยยุคเก่า มองนักศึกษาเป็นผู้เข้ามาดูดซับความรู้ หรือรับการถ่ายทอดความรู้ จากมหาวิทยาลัย จากอาจารย์  ทำอย่างนี้มากว่าร้อยปี    บัดนี้หมดยุคนั้นแล้ว    ต้องมองนักศึกษาใหม่  เป็น co-creator    นักศึกษาเรียนรู้จากการทำงานสร้างความรู้ใส่ตัว    มหาวิทยาลัยทำหน้าที่สร้าง learning platform ที่เป็น working platform ให้ นศ. ทำงานหรือปฏิบัติการ เพื่อการเรียนรู้ของตน ที่เป็นการเรียนรู้หลายมิติ    และในขณะเดียวกันก็เป็นการรับใช้สังคมไปพร้อมๆ กัน   

แนวความคิดใหม่นี้ มาจาก learning science ที่บอกว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์เราเกิดจากการปฏิบัติ เพื่อสร้างความรู้ใส่ตัว    โดยปฏิบัติแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดออกมาเป็นหลักการหรือทฤษฎีด้วยตนเอง และร่วมกับเพื่อนๆ  

หากมหาวิทยาลัยจัดการเรียนรู้ตามแนวของ learning science ให้แก่นักศึกษา    สิ่งที่นักศึกษาจะได้พัฒนาใส่ตัวด้วย คือความเป็น “ผู้ก่อการ” (agent  หรือ change agent)    เป็นสมรรถนะเชิงลึกที่สร้างความเป็นผู้นำ เป็นคนที่เมื่อเห็นปัญหาแล้วไม่นิ่งดูดาย ต้องเข้าไปร่วมดำเนินการ    รวมทั้งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการทำงาน    และได้ฝึกทำงานรับใช้สังคม    ฝึกจิตสาธารณะ  

พลังความรู้ปฏิบัติ    มาจากศาสตร์ด้าน learning science และ knowledge management    ว่าความรู้มี ๒ ด้าน คือความรู้ทฤษฎี กับความรู้ปฏิบัติ    มหาวิทยาลัยเก่งด้านความรู้ทฤษฎี หย่อนด้านความรู้ปฏิบัติ    ในขณะที่สถานประกอบการเก่งความรู้ปฏิบัติ  ไม่เก่งความรู้ทฤษฎี    นักศึกษาควรได้รับการฝึกฝนพัฒนาทั้งสองด้าน คือความรู้ปฏิบัติกับความรู้ทฤษฎี    นี่คือที่มาของ WIL (Work Integrated Learning) และสหกิจศึกษา   

นอกจากนักศึกษาได้รับประโยชน์จากความรู้ปฏิบัติแล้ว  ตัวมหาวิทยาลัยเองก็ควรหาทางได้รับประโยชน์ด้วย    เพื่อนำความรู้ปฏิบัติมาตกผลึกเป็นความรู้ทฤษฎี   ยกระดับความรู้ของสังคมขึ้นไป    ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมสร้างความรู้เองได้    ไม่ใช่ตั้งหน้าแต่รับถ่ายทอดความรู้มาจากโลกตะวันตก   

มหาวิทยาลัยจะเชื่อมโยงกับความรู้ปฏิบัติได้ ต้องเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับภาคประกอบการ ไม่ว่าภาคธุรกิจเอกชน  ภาคราชการ  ภาคประชาสังคม  และภาคประชาชน    ในภาษาวิชาการเรียกว่า university social engagement    แทนที่จะสมาทานแนวคิดบริการสังคม ต้องเปลี่ยนไปใช้แนวคิดหุ้นส่วนสังคม   

ต้องเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์การเข้าไปช่วยเหลือสังคม เพราะตนเป็นผู้รู้ดีกว่า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง     เป็นเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับภาคประกอบการ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบ    หรือสัมพันธ์บนความเท่าเทียมกัน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน    โดยที่มหาวิทยาลัยเก่งความรู้ทฤษฎี  ภาคประกอบการเก่งความรู้ปฏิบัติ    เมื่อมาร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์  

จะใช้พลังทั้งสองได้   มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน working platform ใหม่    ตามที่เสนอไว้ในหนังสือ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 686684เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2020 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2020 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท