อาหารกลางวันรับปิดเทอมยาว “ท้องถิ่น”พร้อมเสิร์ฟให้เด็ก ศพด.


เมื่อมีสถานการณ์วิกฤตชุมชนต่างๆ ในเครือข่ายจะสามารถจัดการได้ทันที ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เรารู้จักชุมชนของเราดี


วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เพราะโรงเรียนเลื่อนกำหนดเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.2563 และไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันนั้นแล้วจะเปิดการเรียนการสอนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่

นอกโอกาสทางการเรียนที่หายไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดโอกาส คือ อาหารกลางวัน และอาหารเสริม เช่น นม เพราะเมื่อโรงเรียนปิดเท่ากับว่าเด็กจะไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน สำหรับเด็กบางคนนี่อาจเป็นอาหารมื้อที่ดีที่สุดเต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการ จำเป็นต่อการเจริญเติบโต

เพื่อไม่ให้เด็กต้องขาดโอกาสอาหารกลางวัน ท้องถิ่นแต่ละแห่งจึงต้องปรับรูปแบบการบริการอาหารกลางวันให้เหมาะสม โดยประสานโรงเรียน และผู้ปกครองเพื่อร่วมกันหาทางออกของ “อาหารกลางวัน” ว่าควรจะออกมารูปแบบไหน

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีสมาชิกเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ ได้จัดเสนวนาออนไลน์ ถึงความพร้อมในการจัดการอาหารกลางวันในช่วงปิดเทอมยาวนานแบบนี้

เริ่มที่ มนสิชา ไชยทน ปลัดเทศบาลตำบลสถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย บอกถึงการดำเนินการว่า ทต.สถาน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในสังกัด 3 แห่ง มีจำนวนเด็ก 80 คน ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้ปกครองว่าจะรับอาหารกลางวันที่ ศพด. จัดให้หรือไม่ ซึ่งทุกคนเห็นด้วยจากนั้นก็ให้ ศพด.เป็นคนจัดเตรียมอาหารแล้วให้ผู้ปกครองมารับเอง และยังได้กระจายไป 3 จุด ใน 5 หมู่บ้าน ใครสะดวกจุดไหนก็ให้ไปรับจุดนั้น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ปกครองบางรายที่อยู่ไกล และยังรู้สึกเป็นภาระที่จะมารับอาหาร

“ไม่เพียงแต่อาหารกลางวันเด็ก เรายังมีคลังอาหารชุมชน ที่เปิดรับบริจาคจากชุมชนเพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวที่มีฐานะยากจน เช่นเดียวกับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยครัวเรือนยากจนที่มีเด็กอาศัยอยู่ด้วย และประสานไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เพื่อมอบเงินช่วยเหลือ” มนสิชา กล่าว

ขณะเดียวกัน ปลัด ทต.สถาน ให้ความเห็นว่า ทางทต.สถานยังห่วงใยเด็กที่ปิดเทอมนานขึ้น ทำให้เด็กมีเวลาในการเล่นมือถือ ดูทีวีมากขึ้น แทนที่จะได้มาเรียนรู้พัฒนาการ เด็กจึงขาดโอกาสในส่วนนี้ เพราะการเรียนออนไลน์มันใช้ไม่ได้กับเด็กทุกคนและไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย จึงอยากเสนอว่า ถ้าไม่ผิดระเบียบมากไป คือ อยากจัดให้เด็กมาพบมาเรียนกับครูเป็นกลุ่มเล็กๆ 5-7 คน ดีกว่าปล่อยให้เด็กอยู่กับบ้าน และขาดโอกาสมากกว่า 2 เดือน

ส่วนที่ อบต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส มีการปิด 2 หมู่บ้าน เพราะพบผู้ติดเชื้อ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตในช่วงที่ปิดหมู่บ้าน และมีการบริการจัดการที่ดีด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน วิกฤตอาหารจึงไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก โดยเฉพาะ ศพด.ทั้ง 2 แห่ง ที่มีเด็กในความรับผิดชอบ 75 คน และนอกความรับผิดชอบอีกเกือบ 300 คน

มูรณี หะมิ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบาลากา ต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส บอกว่า ไม่เพียงแต่จะทำอาหารกลางวันสำหรับเด็กใน ศพด. เท่านั้น ทางศพด.ยังทำอาหารเผื่อสำหรับเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดด้วย โดยจะทำอาหารเผื่อสำหรับให้ทานได้ 2-3 คน ต่อ 1 ถุง และอาหารว่าง ให้ผู้ปกครองมารับที่ ศพด.ทั้ง 2 แห่งตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 11.00น.-15.00 น. ผู้ปกครองบางรายไม่มีรถมารับก็จะให้ครูเอาไปให้ที่บ้าน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะก็ได้รับจากครัวชุมชน ซึ่งเป็นนครัวกลางทำอาหารสำหรับคนทั้งสองหมู่บ้าน

“ข้อมูล เมื่อเกิดวิกฤตสามารถนำข้อมูลและทุนหรือศักยภาพที่มีอยู่ไปใช้ได้ทันที ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดความรุนแรงลง ประการต่อมาคือการเป็นชุมชนมุสลิม ใช้หลักการแบ่งปันน้ำใจ หลักศาสนาบอกว่าต้องช่วยกันและกัน ทำให้เราไม่ละทิ้งคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง” มูรณี กล่าว

ส่วน อบต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นอีกท้องถิ่นที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับ ความอิ่มท้องของเด็ก และการดูแลสุขภาพในช่วงวิกฤตโควิด-19

ทองคำ สิทธิโชติ ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.แก้งแก เผยถึงการทำอาหารกลางวันส่งมอบให้เด็กๆ สำหรับทานได้ 2 คน ว่า มีเด็กใน ศพด. 98 คน หลังจากทำอาหารเสร็จแล้วก็จะให้ครูทั้ง 10 คนนำไปแจกจ่ายเป็นรายบุคคลใน 10 หมู่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการมารวมตัวกันเยอะซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรค นอกจากนั้นยังเป็นการไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุขดิบ ส่วนนมได้มีการแจกจ่ายไปก่อนล่วงหน้าตามจำนวนวันให้แล้ว

ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.แก้งแก บอกด้วยว่า ครูเปลี่ยนบทบาทจากการสอนมาทำกิจกรรมสนับสนุนให้เด็กดำเนินชีวิตอยู่ได้ แม้เรื่องพัฒนา การเรียนรู้จะได้ไม่เต็มที่ แต่ครูก็มีวิธีการอยู่ เช่น การมอบใบงานเพื่อติดตามผล การแนะนำผู้ปกครองที่บ้านให้ส่งเสริมการเล่นที่บ้าน การเล่านิทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดเทอมแล้วก็จะต้องมีการชดเชยเวลาเรียนหรือพัฒนาการที่ขาดหายไปให้ครบตามหน่วยที่กำหนดไว้

“เช่นเดียวกับการให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับเด็กทุกคน” ผอ.กองการศึกษา อบต.แก้งกา เผย

แม้ว่าหลายๆ ท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว อย่างไรก็ตาม ครอบครัวยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก และควรใส่ใจมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าผลักภาระให้กับโรงเรียนแต่พียงฝ่ายเดียว เพราะทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนจะต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย

รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ล้วนผ่านกระกวนการขับเคลื่อนมาด้วยกัน สามารถพิเคราะห์หรือพิจารณากลุ่มต่างๆ ในชุมชนได้ และรู้ด้วยว่าใครบ้างที่สามารถช่วยงานเราได้ ดังนั้นเมื่อมีสถานการณ์วิกฤตชุมชนต่างๆ ในเครือข่ายจะสามารถจัดการได้ทันที ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เรารู้จักชุมชนของเราดี

ขณะที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้นวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การดูแลเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน อาหาร ผู้ปกครองละเลยบทบาทและหน้าที่ตรงนี้มานาน คิดแต่ว่ามีโรงเรียน มีครูช่วยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งท้องถิ่นนั้นจะต้องมีวิธีในการส่งเสริมบทบาทส่วนนี้ เช่นเดียวกับเด็กที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ปฐมวัยก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน

“เมื่อเจอวิกฤติจะเป็นการพิสูจน์ว่าเราเข้มแข็งแค่ไหน ซึ่งวิกฤตโควิด-19 คราวนี้ ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมาจัดการจนสถานการณ์ของประเทศไทยดีขึ้น เทียบกับประเทศอื่นเราอยู่ในกลุ่มแชมป์ในการควบคุมโรคร้ายนี้ จนมีชื่อเสียงระดับโลกในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศของเรา ชุมชนท้องถิ่นจงภูมิใจว่าเราเป็นฐานสำคัญในการจัดการปัญหานี้” ผู้ช่วยผู้จัดการ (สสส.) กล่าว

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส และทำให้เรามองเห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการนำพาชุมชนฝ่าวิกฤติและอยู่รอดไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับการใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องมือทำให้ท้องถิ่นและชุมชนใกล้ชิดกันมากขึ้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท