“อบต.ตากตก” ใช้ยาแรง เปิด “ศาลาวัด” กักตัว


การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สบู่ แชมพู และ ปรอทวัดไข้


อบต.ตากตก แจงลูกหลานที่กลับบ้านต้องปฏิบัติตามกฎ กักตัวเอง แยกบ้าน 14 วัน หากไม่มีบ้านให้แยกต้องอยู่ศาลาวัดที่จัดให้ เพื่อแยกตัวเองจากครอบครัว เผยไม่ได้รังเกียจ แต่ต้องป้องกันไม่ให้นำเชื้อมาแพร่สู่ครอบครัวที่คุณรัก

นายสุขเกษม โคสอน นายกเทศมนตรี องค์การบริการส่วนตำบลตากตก อ.บ้านตากตก จ.ตาก

กล่าวถึงการับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่ ว่าเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต), ตำรวจ และ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำในชุมชน โดยเรียกกลุ่มทำงานร่วมกันนี้ ว่า 4 ทหารเสือ จะทำงานร่วมกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด ทั้งในเรื่องการวางแผนรับมือ การป้องกัน และ การให้ข่าวสารข้อมูลกับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจ แต่ไม่วิตกจนใช้ชีวิตปกติไม่ได้

เนื่องจากตนเองได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เกิดโรคนี้ในประเทศจีน จึงเตรียมการเฝ้าระระวังมาตลอด โดยระยะแรกให้ข้อมูลความรู้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำเพื่อเป็นการเตรียมตัว หลังจากนั้นจึงเริ่มให้ข้อมูลและให้ความรู้แก่ชาวบ้านเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และหนักหน่วงเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ เช่น เพิ่มความถี่การให้ข้อมูลเสียงตามสาย เป็นวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ทำให้ชาวบ้านที่นี่เข้าใจ และทราบถึงอันตรายหากได้รับเชื้อโควิด-19 ทุกคนจึงให้ความร่วมมือและปฏิบัติตัวเคร่งครัด เพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกเหนือจากการสอนให้ชาวบ้านป้องกัน และระวังตัวแล้ว ก็สอนให้ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน เริ่มจาการเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง โดยอบต.เตรียมผ้าที่ตัดเสร็จแล้ว พร้อมเข็ม และด้ายไว้ให้ เอาไปเย็บมือได้เลย จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มระบาดหนัก กลัวว่าจะไม่ทัน อบต.จ้างเย็บหน้ากากแจกให้ชาวบ้านคนละ 3 ชิ้น เพื่อเอาไว้หมุนเวียนใช้ ส่วนเรื่องเจล และ แอลกอฮอล์ ก็สอนชาวบ้านให้ทำเองก่อน แต่พออุปกรณ์เริ่มหายาก จึงแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้สบู่เพื่อล้างมือบ่อย ๆ แทนการใช้เจลหรือแอลกอฮอล์

ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สบู่ แชมพู และ ปรอทวัดไข้ มาส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้นำแจกจ่ายให้ชาวบ้าน และนำไปให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ขณะปฏิบัติหน้าที่

นายกฯ สุขเกษม กล่าวต่ออีกว่า ในพื้นที่ อบต.ตากตก มีประชากรอยู่ประมาณ 6,000 คน แต่มีประชากรอยู่จริงในพื้นที่ประมาณ 3,000 คน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ออกไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ที่กรุงเทพฯ หรือ ต่างจังหวัด ปกติจะกลับมาช่วงปิดเทอม หรือ ช่วงที่มีวันหยุดยาวเทศกาลสำคัญ แต่ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังระบาดนี้ มีกฎเคร่งครัดต้องกักตัวเอง 14 วัน หากกลับมาบ้าน จึงแนะนำว่า ทางที่ดียังไม่ควรกลับ เพราะเกรงว่าอาจนำความเสี่ยงมาสู่ครอบครัวได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ห้ามกลับบ้าน หากใครต้องการกลับ ก็ต้องทำตามกฎ

เมื่อมาถึง ต้องรายงานตัวที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เป็นจุดคัดกรองจุดแรก ทางผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งให้ 4 ทหารเสือทราบ และลงพื้นที่เข้าไปดู เก็บข้อมูล ตรวจสุขภาพ หลังจากนั้นก็ต้องกักตัว 14 วัน กรณีที่มีบ้านก็จะถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวจะแยกไปอยู่บ้านอื่น หน้าบ้านนั้นจะมีป้ายติดเขียนบอกไว้ชัดเจนว่า บุคคลนี้อยู่ระหว่างการกักตัวระหว่างวันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่

ส่วนกรณีคนไม่มีบ้าน หรือคนที่ไม่อยากรบกวนครอบครัว ทางอบต.ได้จัดสถานที่กักตัวไว้ คือ ศาลาวัด ในชุมชน เพื่อจะได้ห่างไกลผู้คน เหตุผลที่ต้องแจ้งให้ทราบเช่นนี้ ฟังดูเหมือนฉีดยาแรง แต่ก็ต้องยอมรับ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและให้รู้ว่าพื้นที่นี้เอาจริง เป็นห่วงคนในชุมชน ไม่อยากให้เกิดการนำความเสี่ยงเข้ามาโดยไม่ระมัดระวัง จึงแจ้งกับผู้ปกครอง หรือ คนในครอบครัว ให้บอกลูกหลานว่า ถ้ากลับมาแล้วไม่มีบ้านให้แยกอยู่ ต้องไปอยู่ศาลาวัด ซึ่งที่ผ่านมามีกลับมาบ้านแล้วประมาณ 300 คน และก็ปฏิบัติตามกฎที่ว่านี้อย่างเคร่งครัดทุกคน

“เป็นความโชคดี ที่ชาวบ้านที่นี่ ตื่นตัว และเข้าใจ พร้อมสู้ไปด้วยกัน ให้ความร่วมมือทุกอย่าง เริ่มจากดูแลตนเองและคนในครอบครัวก่อน เพื่อให้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้คนอื่นติดเชื้อจากเขาด้วย เวลาให้คำแนะนำอะไรไป เขาก็ทำตามหมด ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นด้วย” นายกฯ สุขเกษม กล่าว

สำหรับคนที่กักตัว 4 ทหารเสือ ก็จะเข้าเยี่ยมตลอด และมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัตาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทุกวันจนครบกำหนด จึงให้กลับไปอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้

ในพื้นที่นี้ มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 200 คน สามารถดูแลทุกครอบครัวได้อย่างทั่วถึง เพราะปกติเขาก็ทำหน้าที่ลงให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ชาวบ้านอยู่แล้ว โดยเขาจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน เช่น ชาวบ้าน 10 หลังคาเรือนตรงนี้ จะเป็นความรับผิดชอบของ อสม.ท่านนี้ ดังนั้นการทำงานลงพื้นที่ดูแลชาวบ้านเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ อสม.คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว การปรึกษา การให้คำแนะนำต่าง ๆ จึงไม่ยาก

นอกจากนั้น 4 ทหารเสือ ยังได้ทำงานร่วมกัน ด้วยการจัดเวรยามลาดตะเวนในหมู่บ้านต่าง ๆ ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง ตี 4 ด้วย โดยจะรวมตัวกันที่ อบต.ช่วงประมาณ. 3 ทุ่ม เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครในหมู่บ้านของตนเอง ที่จัดกันมาคืนละ 10 คน เพื่อช่วยกันลาดตะเวนในหมู่บ้านของตัวเอง หากมีปัญหาหรือมีใครไม่ปฏิบัติตามช่วงเคอร์ฟิว ก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีใครทำผิด หรือแหกกฎ และยังไม่พบการติดเชื้อโควิดในพื้นที่ ซึ่งถือว่า โชคดีมาก และเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนทุกคนในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือ และร่วมกันต่อสู้กับโควิดเป็นอย่างดี แม้ชุมชนจะเงียบเหงาบ้างในช่วงนี้ แต่ทุกคนรู้ดีว่า เรายังรักกัน และห่วงใยกัน ช่วยกันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

หมายเลขบันทึก: 683975เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท