“เวียงมอก” บูรณาการทั้งตำบล สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อผู้สูงวัย


การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้แสดงออกถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจของตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น ได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุข


ผู้สูงอายุ คือวัยที่อยู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงลดน้อยถอยลงทั้งด้านสมรรถภาพทางร่างกาย ความคิดความอ่านตอบสนองได้ช้าลง ส่งผลต่อสุขภาพจิตย่ำแย่ลงไปด้วย เช่น เหงา ซึมเศร้า เพราะไม่สามารถดูแลตนเองได้เหมือนเมื่อก่อน ทำให้น้อยใจและขาดความภูมิใจในตัวเอง

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้แสดงออกถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจของตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น ได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุข

ที่ตำบลเวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งมีผู้สูงอายุมากถึง 1,397 คน จากประชากรทั้งหมด 10,320 คน ถือว่ามากสุดเป็นอันดับ 3 ของจังหวัดลำปาง แน่นอนว่าส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ มีการเจ็บป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และโรคมะเร็ง ซึ่งสาเหตุมาจากการกินและขาดการดูแลเอาใจใส่การออกกำลังกาย เช่นเดียวกับการที่ต้องอยู่เพียงลำพัง เพราะลูกหลานออกไปทำงานต่างจังหวัด ส่งผลให้ผู้สูงอายุ ต.เวียงมอก มีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด ซึมเศร้า

การที่จะทำให้ผู้สูงอายุ ต.เวียงมอก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้นั้น จึงต้องมีการฟื้นฟูชมรมผู้สูงอายุ มุ่งสร้างกิจกรรมการทั้งทางกาย ใจ การบริโภค มุ่งเน้นร่วมกลุ่มผู้สูงวัยทุกคนได้มีส่วนร่วม

“ตำบลเวียงมอก มี 14 หมู่บ้าน แต่เดิมทุกหมู่บ้านมีชมรมผู้สูงอายุ ทว่าไม่มีการดำเนินกิจกรรมความเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน ไม่มีบทบาทในสังคม จึงทำให้กลุ่มผู้สูงอายุของแต่ละหมู่บ้านไม่มีการดูแลเท่าที่ควร” นายสมชาย ปัญญา ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านหอรบ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง บอกถึงสาเหตุที่ทำให้กิจกรรมของผู้สูงอายุ ต.เวียงมอก ขาดหายไป

เมื่อรู้ถึงสาเหตุนี้แล้ว ในปี 2561 ทาง เครือข่าย รพ.สต. หน่วยงาน อปท. และท้องถิ่น จึงฟื้นชมรมผู้สูงอายุตำบลเวียงมอกขึ้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุขึ้นเพื่อกำหนดกิจกรรมและทิศทางการขับเคลื่อนชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็ง

หลังจากนั้น คือการออกเยี่ยมเพื่อนเพื่อชักชวนมาร่วมกิจกรรม ซึ่ง ผอ.รพ.สต.บ้านหอรบ ชี้ว่า แม้จะมีหน่วยงานติดตามก็คงไม่เท่ากับเพื่อนได้ออกไปเยี่ยมเพื่อน ไปเสริมกำลังใจในการใช้ชีวิต ผู้สูงอายุก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ด้วยรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่ค่อยห่วงใย ไม่ทิ้งกัน นี่คือการสร้างการยอมรับกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ ทั้ง 14 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายชมรมละ 30 คน

กลไกสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการบูรณการแผนงานร่วมกันของ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) เพื่อกำหนดทิศทางและการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นายสมชาย ผอ.รพ.สต.บ้านหอรบ อธิบายถึงการบูรณาการทำงานร่วมกันในส่วนนี้ว่า พชต. เกิดจากภาคี 3 ส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ หน่วยงานต่างๆ ท้องถิ่นหรืออปท. มาบูรณาการแผนการทำงานร่วมกัน ตามเป้าหมาย ทุกภาคส่วนจะต้องมากางแผนงานของตัวแล้วแล้วมาหาจุดเชื่อมโยง ส่งเสริมและสนับสนุนงานมีภาระหน้าที่ร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากการทำงานในอดีต ที่ต่างฝ่ายต่างทำงานในภาระหน้าที่ของตัวเอง ทำให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไร้ทิศทาง และไม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยจัดการระดับจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง (Node Flagship) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุ

กิจกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การปลูกผักและบริโภคผักปลอดสารเคมี การเข้าวัดฝึกสมาธิพัฒนาจิตใจ การส่งเสริมภูมิปัญญาวัฒนธรรมและประเพณี การออกเยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง

“จากการดำเนินการมาเป็นระยะหนึ่ง พบว่าผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีขึ้น เหมือนเพื่อนมาเยี่ยมเพื่อนด้วยกัน แม้จะไม่ได้ช่วยให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายแต่ก็ได้มีกำลังในการต่อสู้โรค หรือการไปออกกำลังกายเราพบว่ามีการออกมาทำกิจกรรมมากขึ้น ที่สำคัญยังพาลูกหลานออกมาด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของคนหลายวัย ทุกคนต่างมีรอยยิ้ม กินได้ มีความสุข” ผอ.รพ.สต.บ้านหอรบ กล่าว

ด้าน นายอภิรักษ์ ศรีเพชร ผู้อำนวยการกองสาธาณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเวียงมอก ได้พูดถึงกลไก พชต.ที่ส่งผลดีต่อผู้สูงอายุ ว่า พชต.ถอดแบบมาจาก พชอ. มีคณะกรรมการ มีแผนการทำงานเป็น 4 ระยะ มีความยืดหยุ่นปรับแก้ทุกปีเวลามีปัญหา ทำให้การทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิมมีมิติรอบด้านมากขึ้น ไม่เป็นภาระหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์สมัชชาสุขภาพอำเภอ ผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการกำหนดไว้ โดยขณะนี้มีจำนวนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต.เวียงมอก มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ละหมู่บ้านกระจัดกระจายอยู่ห่างไกลกัน ดังนั้นทางเทศบาลตำบลเวียงมอกจึงมองประเด็นหลักในการสร้างชมรมผู้สูงอายุของแต่ละหมู่บ้านให้เข้มแข็ง เพื่อให้เขาสามารถจัดการผู้สูงอายุภายในหมู่บ้านได้เอง

ขณะที่นายจรัส ยะฟู นายกเทศมนตรีตำบลเวียงมอก กล่าวว่า เทศบาลตำบลเวียงมอก มีพื้นที่รับผิดชอบ 592 ตร.กม. ซึ่งยอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมาอาจจะไม่ครอบคลุมมากนัก แต่เมื่อมีการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานจะเป็นผลดีทำให้ผู้สูงอายุได้รับบริการทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในกลุ่มที่มีปัญหาคือ ผู้สูงอายุติดเตียง ที่เราดูแลอยู่ 30-40 คน โดยได้วางนโยบายไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลโดยตรง

“เราเห็นผู้สูงอายุเริ่มมีความสุข มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เวลามีงานเขาจะนั่งเป็นกลุ่มเป็นวงบ้านใครบ้านมัน บ้านนั้นไม่รู้จัก แต่เดี๋ยวนี้เวลามีงานเขารู้จักกันหมดไม่ว่าจะหมู่บ้านไหน” นายกเทศมนตรีตำบลเวียงมอก กล่าว

ส่วน นายสรรเสริญ นาครินทร์ ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลเวียงมอก กล่าวว่า ผู้สูงอายุได้รวมตัวกันทุกหมู่บ้าน ได้คำแนะนำจาก รพ.สต ทั้ง 5 แห่ง สร้างกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น เต้นบาสโลป มีกิจกรรมด้านการปลูกผักสวนครัวเพื่อสุขภาพ มีกิจกรรมรวมกลุ่มกันแต่ละชมรมไปเยี่ยมผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อให้กำลังใจกัน พอมารวมกลุ่ม ได้มาพบปะกัน ก็มีความสุข ใครมีความสามารถอะไรก็เอามาทำ เช่น งานจักสาน หรือสมุนไพร

เมื่อหน่วยงานหลายฝ่ายทุกระดับชั้นบูรณาการงานร่วมกัน ย่อมดีกว่าต่างคนต่างทำ อย่างเช่นกลไกการดูแลผู้สูงอายุตำบลเวียงมอกที่ทุกฝ่ายร่วมคิดร่วมทำ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “สูงวัย สูงคุณค่า พัฒนาครอบครัว เตรียมชุมชน บนมาตรการรองรับสังคมสูงวัย”

หมายเลขบันทึก: 683970เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท