มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้



 วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ผมไปเสพปิติ จากการได้มีส่วนร่วมจิ๋วๆ (ระดับ pico  ซึ่งหมายถึงหนึ่งส่วนใน หนึ่งล้านล้านส่วน) ในการร่วมคิดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย     ความคิดนี้เริ่มจากสมัยท่านอธิการบดี ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์     และมาเป็นจริงสมัยท่านอธิการบดี ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์     โดยผู้รับดำเนินการสร้างความสำเร็จคือ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี  

ทีมงานของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอจองเวลาล่วงหน้าราวๆ ๒ เดือน ว่าขอให้ไปเยี่ยมในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๙.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.    และเมื่อไปถึงก็พบว่า เป็นการ “เยี่ยมชม และให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช และ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และคณะ”    โดยมีทีมจาก กสศ. ๓ ท่าน   และจาก สป. อว. ๒ ท่าน 

ผมตีความว่า เป็นการจัดเวที reflection หลังจากดำเนินการบรรลุ milestone สำคัญ    คือผลิตบัณฑิตรุ่นแรกออกมา ๘๐ คน    และได้รับการต้อนรับจากตลาดแรงงานอย่างดี     รวมทั้งโรงเรียนสาธิตก็มีนักเรียน ม. ปลายเป็นปีแรก   

มองมุมหนึ่ง นี่คือการจัดกิจกรรมให้ผมได้เฉลิมฉลองตัวเองอยู่ในใจ    ว่าผมได้มีส่วนส่งเสริมผลักดันให้เกิดความสำเร็จนี้ ราวๆ 1 pico part                 

เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งคณะนี้    ผมต้องพึ่ง “สมองส่วนความจำนอกกาย”  คือ Gotoknow     ย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว     ที่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การก่อตั้งคณะนี้  ดังบันทึก (๑),  (๒)   ที่ช่วยฟิ้นความจำว่า สมัยท่านอธิการบดี ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์  และ ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์  ผมได้รับเชิญไปพูดให้ที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฟัง ว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นอย่างไร     นำไปสู่การประชุม (๑)    ที่นำไปสู่การตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำประโยชน์แก่ประเทศด้านการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร    และมีการประชุมหารือกันหลายครั้ง    ครั้งหนึ่งผมอยู่ในที่ประชุมด้วย     ท่านอธิการบดี ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตั้งคำถามว่า เมื่อมีเป้าหมายตั้งคณะใหม่ด้านศึกษาศาสตร์แนวใหม่ หรือแนวนวัตกรรม จะหาใครมาเป็นคณบดีทำฝันให้เป็นจริง    ผมโพล่งออกไปว่า อ้าว! ก็นั่งอยู่นี่ไง    มาร่วมคิดการณ์กันมาสองปีแล้ว    พร้อมกับชี้ไปที่ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่ไปเติบโตที่มหาวิทยาลัยมหิดล   

Fast forward มาเจ็ดแปดปี    บัดนี้เราเริ่มเฉลิมฉลองความสำเร็จของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการริเริ่มสร้างสรรค์ของการทำงานสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ให้แก่ประเทศ     จึงขอร่วมแสดงความยินดี ด้วยการสะท้อนคิด ว่าทำไมความสำเร็จนี้จึงเกิดขึ้นได้ 

  • เลือกคนมาเป็นผู้นำดำเนินการถูกคน    คือ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี    เพราะท่านผู้นี้เป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง    มีพลังสร้างสรรค์สูง    มีประสบการณ์สูงมากในการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ     ในลักษณะที่ไม่ตกร่องแนวคิดและวิธีการเดิมๆ ที่ไร้ผล  
  • “วาง ตำแหน่งแห่งที่” (positioning) ของหน่วยงานใหม่อย่างถูกต้อง    คือวางไว้ที่ “ขอบ” ของระบบ    ไม่หลงกระโจนเข้าไปในระบบ    ที่เป็นระบบที่เดินทางผิดมากว่ายี่สิบปี    แต่ก็ไม่ถึงกับปฏิเสธระบบ    ดังกรณีชื่อคณะ Faculty of Learning Sciencs and Education    และที่สำคัญหลักสูตรปริญญาตรี ที่ไม่ผลิตครูตามแนวอนุรักษ์นิยม ที่จะต้องปฏิบัติตามระบบวิชาชีพที่ผิดพลาดตกยุค    คือประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้จบการศึกษา ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาการการเรียนรู้  จะไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครูตามที่หน่วยที่มีอำนาจกำหนด    เพราะไม่ต้องการปฏิบัติตามระบบที่ตกยุค     แต่ในจำนวนบัณฑิตรุ่นแรกที่ได้งานแล้ว ไปเป็นครูในสัดส่วนสูงสุด    แต่เป็นครูในโรงเรียนทางเลือก 
  • ดำเนินยุทธศาสตร์ด้านอาจารย์ถูกต้อง    คือคัดเลือกอาจารย์ที่มีพื้นฐานหลากหลาย (interdisciplinary team) ให้มาทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน    เป็นการหลีกจุดอ่อนของคณะศึกษาศาสตร์ครุศาสตร์ทั้งหลายในประเทศไทย     ที่มีแต่คนที่คิดเหมือนๆ กัน    ขาดพลังของความแตกต่างหลากหลาย    เพราะมีแต่คนที่เรียนมาทางด้านศึกษาศาสตร์
  • เริ่มกิจกรรมหลักอย่างถูกต้อง    คือทำ “จากบนลงล่าง”    เปิดหลักสูตรปริญญาโท Learning Sciences and Education Innovation    ตามด้วยหลักสูตรปริญญาตรี Bachelor of Arts in Learning Sciences    และตามด้วยการเปิดโรงเรียนสาธิต ระดับมัธยม  
  •  มีการทำงานวิจัย “การเรียนรู้” ในหลากหลายรูปแบบ    รวม ๖ กลุ่ม  ๖๘ โครงการ    ได้แก่กลุ่ม classroom inquiry and teacher development; Technology, innovation and digital learning; Learning across lifespan spaces and context; Diversity, equity and inclusion; Facilitation, pedagogies and assessment; Theory, practice, and policy    สำหรับใช้การวิจัยขับเคลื่อนการทำงาน    
  • งานวิจัยข้างต้น จำนวนหนึ่งเป็นงานเชิงพัฒนา ที่มีฐานอยู่ในสังคมหรือชุมชน     เป็นกลไก social / community engagement    และขับเคลื่อนสังคม ขับเคลื่อนระบบการศึกษา  เช่น โครงการมายาคติการศึกษาไทย    โครงการ ออกแบบเกม ออกแบบสังคม    โครงการผู้นำแห่งอนาคต    โครงการก่อการครู    โครงการสร้างสำนึกพลเมืองผ่านโครงการเพื่อชุมชนและการโค้ช  เป็นต้น   
  • จัดกระบวนการเรียนรู้ ในรูปแบบที่ถูกต้อง     คือเน้นสร้างแรงบันดาลใจเป็นปฐม    ให้ได้เรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด วกเข้าทำความเข้ใจทฤษฎีในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง     เท่ากับเป็นการเรียนคิดเพื่อเข้าใจสาระในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   ไม่ใช่เน้นความจำสาระ ซึ่งจะได้แค่รู้แบบตื้น         

ผมจึงมีความยินดีเป็นยิ่งนัก ที่ได้รับเชิญไปรับรู้ความสำเร็จในระยะแรก    ผมเชื่อว่าแนวทางการดำเนินการวิชาการแนว engagement เช่นนี้    จะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้อีกมาก    ผมได้เสนอต่อท่านคณบดี ดร. อนุชาติว่า  ต่อไปนี้ต้องจัดให้คณาจารย์ร่วมกัน reflect งานพัฒนา ที่เป็นงานวิจัยเชิง engagement กับหน่วยปฏิบัติ    สกัดความรู้เชิงทฤษฎีออกมาเขียนรายงานวิชาการในวารสารวิชาการระดับโลก    การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ก็จะครบวงจร

วิจารณ์ พานิช

๖ ส.ค. ๖๓

           

หมายเลขบันทึก: 680904เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2020 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2020 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท