พืชสมุนไพร ใบย่านาง



         ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels. เป็นพืชอยู่ในวงศ์ (Family) Menispermaceae พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบกระจายอย่างกว้างขวางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ เรียกว่า จ้อยนาง (Joy-Nang)ภาคกลางเรียกว่า เถาย่านาง (Tao-Ya-Nang) เถาวัลย์เขียว (Tao-Wan-Keaw) และ Tao-Pakinee ในภาคใต้รู้จักกันในชื่อ Wan-Yo ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี) ย่านางมักพบในป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง(อุดมการณ์ และ ปาริชาติ, 2549; Smitinand and Larsen,1991).เป็นพืชปีนเขาที่มีใบสีเขียวเข้มและดอกไม้สีเหลืองมักถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารหลายชนิดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’sDemocratic Replublic) เช่น ในน้ำซุปหน่อไม้(bamboo Shoot soup) (Singthong et al, 2009 อ้างอิงใน ดร.ดวงสุรีย์ แสนสีระ และคณะ, 2557 :10)

          ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) เป็นไม้เลื้อยที่อยู่ในวงศ์ Menispermaceae และอยู่ในตระกูลเดียวกับเถาวัลย์ ต้นย่านางมีลักษณะเป็นเถาขึ้นอยู่ตามป่าของไทย โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสามารถขึ้นได้ในทุกภูมิประเทศและทุกภูมิอากาศ เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายและสามารถเจริญเติบโตเลื้อยพันต้นไม้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ใบของย่านางมีสีเขียว เงามัน มีดอกเล็กๆ สีเหลือง มีผลขนาดเล็ก กลมรี นิยมนำใบราก และเถามาใช้เป็นยาพื้นบ้าน การบริโภคใบย่านางนั้น นิยมนำใบมาตำให้ละเอียดและคั้นเอาแต่น้ำ โดยน้ำจากใบย่านางนิยมนำมาใส่ในอาหารที่มีหน่อไม้ เช่น ซุปหน่อไม้ แกงหน่อไม้ และแกงเปรอะ (แกงลาว) เป็นต้นเพราะน้ำย่านางจะช่วยลดรสขื่น รสขม ช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันของหน่อไม้ส่วนการบริโภคใบสดไม่นิยมเนื่องจากใบย่านางมีความหนาและหยาบ ไม่นุ่มเหมือนใบพืชชนิดอื่น (โชติรส, 2553) มีประชากรบางกลุ่มนิยมดื่มน้ำใบย่านาง โดยมีรายงานว่าน้ำย่านางมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ลดไข้ แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, มปป.) ด้วยเหตุนี้ย่านางจึงนิยมปลูกเป็นพืชสมุนไพรประจำบ้านทั่วไป และมีแนวคิดของการส่งเสริมเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สำหรับสรรพคุณการป้องกันโรคต่างๆ ของย่านาง นั้นยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันชัดเจนนัก อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าใบย่านางมีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ เบต้า-แคโรทีน แซนโทฟิลล์ วิตามินซี วิตามินอี แทนนิน และสารประกอบฟีนอลิก (อัญชนา, 2544) โดยสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายและลดความเสื่อมของเซลล์ที่เป็นผลจากฤทธิ์ของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความแก่ชราและโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันโรคมะเร็ง โรคต้อกระจก และข้ออักเสบจากโรครูมาตอยด์ เป็นต้น (ประสงค์, 2553. อ้างอิงใน จิราภัทร โอทอง และคณะ : คำนำ)

           ย่านางเป็นพืชสมุนไพรของไทยที่มีสารออกฤทธิ์ทางยา ส่วนที่ใช้ในการรักษาโรค เช่น รากแห้ง ใช้แก้ไข้ทุกชนิดหรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ สารเคมีที่พบในรากย่านางได้แก่สารในกลุ่ม isoquinolone alkaloid เช่น tilacorine, tiacorinine, nortiliacorinine A, Tiliacotinine 2-N-Oxide, และ tiliandrine,tetraandrine, D-isochondrodendrine(isoberberine) (http://www.rspg.or.th
/plants_data/herbs/herbs_09_13.htm) และมีรายงานการพบสาร Triterpenes, Flavonoids,Saponins และ Tannins (Phadungkit et al.,2012) นอกจากนี้มีรายงานพบว่า สารสกัดจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม ใบใช้ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้รากสาด แก้ไข้เซื่องซึมไข้พิษ ไข้หัว ไข้กลับซ้ำ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดง เถารากใช้แก้เบื่อเมา กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ แก้เมาสุรา ถอนพิษ
สำแดง ถ้าเอาไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ จะเป็นยาแก้ไข้รากสาด แก้ไข้กลับ แก้ไข้เหือด แก้ไข้สันนิบาตไข้สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ แก้พิษเมา บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้กำเดา แก้ลม ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ อีกด้วย (อุดมการณ์ และ ปาริชาติ, 2549; http://www.ใบย่านาง .com อ้างอิงใน ดร.ดวงสุรีย์ แสนสีระ และคณะ, 2557 :10)

อ้างอิง

จิราภัทร โอทอง และคณะ.การพัฒนาชาสมุนไพรย่านางและสมบัติด้านเคมีกายภาพ ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด.    
             บทความ. ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.

ดวงสุรีย์ แสนสีระ และคณะ. (2557). โครงการการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และปริมาณของน้ำมันหอม   
              ระเหย และสารสกัดจากต้นย่านางในเขตพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2557. สำนักบริหาร   
               โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

หมายเลขบันทึก: 680614เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2020 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2020 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท