คุณรู้ไหมว่าจะตายเมื่อไหร่ ?


ถ้ามีคนมาถามผมด้วยคำถามนี้ (ด้วยตาใสๆ ดูจริงใจ ไม่ใช่หน้ากวนทีน) ผมจะไม่ตอบว่า ไม่รู้ครับ และขณะเดียวกันก็จะไม่ตอบว่า รู้ครับ..

แต่ผมจะตอบว่า พอรู้นะ...

ทำไมผมถึงตอบแบบนั้นล่ะ ผมรู้ล่วงหน้าได้เหรอว่าจะตายเมื่อไหร่ ? มีญาณวิเศษหรือไง ?

.

ก่อนอื่นต้องบอกว่า มีน้อยคนที่คิดล่วงหน้าถึงวันเวลาที่จะจากโลกนี้ไป แล้วคิดวางแผนชีวิตเอาไว้ก่อน นั่นแหละน้อยมาก

เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญ มรณานุสติ จะทำให้เราไม่ประมาทในชีวิต จีงเป็นเรื่องที่ควรคิด วางแผน และระลึกไว้เสมอๆ

ฉะนั้น  สำหรับคนที่ยัง... เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว ผมขอเชิญชวนให้เริ่มคิดนะ

.

การคำนวนอายุตัวเอง มี 4 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เรื่องแรกคือ ดูที่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ว่าท่านสิ้นอายุขัย เท่าไหร่กันบ้าง

อายุบรรพบุรุษเราเป็นตัวคำนวนเบื้องต้น เรามียีนเดียวกัน อายุก็จะใกล้เคียงกัน 

สมมุติค่าเฉลี่ยของท่านเหล่านั้น คือ 75 ปี เราก็จะน่าจะมีอายุขัยประมาณนั้นแหละ บวกลบก็คงไม่เกิน  7 ปี

และให้ดูเรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วย เรามีความเสี่ยงจะเป็นโรคเดียวกับท่าน ทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ดูทั้งหมด

นอกจากคำนวนเวลาชีวิตแล้ว ให้เตรียมรับมือกับโรคเหล่านั้นด้วย ทั้งด้านการเงิน การมีคนดูแล และดูแลตัวเอง...

ข้อนี้ผมขอเรียกว่า ประมาณการเบื้องต้น

.

ปัจจัยที่สอง และสาม คือสุขภาพ และการนิสัยการใช้ชีวตของเราเอง

ถ้าเราเป็นคนดูแลสุขภาพ กินระวัง ออกกำลังกาย ระวังความเครียด(ข้อนี้สำคัญ) ชีวิตเราก็จะยืนยาว 

ส่วนนิสัยการใช้ชีวิตคือ เรามีความเสี่ยงแค่ไหน เช่น อยู่ในที่อากาศเป็นมลพิษ กินเหล้าสูบบุหรี่หนักแค่ไหน 

หรือชอบเที่ยวแบบแอดเแวนเจอร์รึเปล่า หรือนิสัยกวนทีน ไม่ค่อยยอมคนอื่น นี่ก็เป็นปัจจัยให้อายุสั้นลงทั้งนั้น

นั่นแหละ เราก็บวกหรือลบจากอายุจากข้อแรกเอา ประมาณๆ เอานะ

เรามีความเสี่ยงมาก แน่นอน อายุก็จะลดจากที่ประมาณการเบื้องต้น เอาไว้หลายปี อาจจะเป็น 10- 20 ปี เลยทีเดียว

ส่วนนิสัยกวนทีน ถ้ากวนมาก ก็คงอยู่บนโลกนี้ไม่นาน

.

ปัจจัยข้อสุดท้าย ข้อนี้เราคำนึงคำนวนไม่ได้เลย คือ กรรมครับ

กรรมอาจจะทั้งกรรมปัจจุบันชาติ หรือกรรมเก่า ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว เป็นปัจจัยที่เราคาดไม่ได้ 

ข้อนี้ เราทำอะไรไม่ได้ครับ นอกจากประโยคเดียว อย่าประมาท 

เราอาจนอนคืนนี้แล้วไม่ตื่นอีกก็ได้ หรือ อยู่ดีๆ ยานอวกาศตกใส่หัวก็ยังเป็นไปได้เลย จริ๊ง ไม่ได้พูดเล่น ดูโควิดซิ อยู่ดีๆ มาจากไหนไม่รู้ แพร่ไปทั่วโลก...

คิดถึงข้อนี้แล้วก็อย่าพึ่งท้อแท้  เรามีชีวิตอยู่วันนี้ ยังหายใจได้ ให้เร่งทำความดีทุกวันเวลาเถิดครับ ทำเสียก่อนจะไม่มีวันเวลาให้ทำความดี 

ถ้าไม่มีกรรมหนักมาตัดรอน เราก็จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ตามแผนที่เราคำนวนไว้ได้อย่างเป็นสุข นี่คือ ไม่ประมาท

.

เรื่องแผนการตายต้องระลึกบ่อยๆ นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสถามพระอานนท์ว่า ท่านระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง 

พระอานนท์ท่านตอบว่า  7 ครั้งขอรับ ผมก็รู้สึกว่าเยอะมากๆ แล้วนะ ผมเองหลายวัน จะระลึกสักที 

แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า น้อยไป ท่านระลึกทุกลมหายใจเข้าออก .. นี่แหละผู้รู้ท่านไม่ประมาททุกวินาที

ท่านจึงได้พระนามว่า  สุคโต : ผู้ไปแล้วด้วยดี (มีชีวิตด้วยสุข)

.

ผมเองเริ่มเขียนแผนที่ชีวิตตั้งแต่อายุ 48 คือ 6 ปีที่แล้ว (ถือว่าเริ่มค่อนข้างช้านะ ดีไม่ตายซะก่อน)  

วางแผนไว้หมดว่า จะใช้ชีวิตยังไง ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ช่วงชีวิตนี้ตต้องทำอะไร ทำยังไง ทำเมื่อไหร่ 

วางหมดเรียบร้อย จนถึงว่าจะตาย(ประมาณ)เมื่อไหร่ ตายยังไง ต้องจัดการอะไรบ้าง ตลอดชีวิตผมที่คำนวนแล้วว่าไม่น่าเกิน 80 ปี

.

ผมบอกเลยว่าชีวิตจริงมันไม่ค่อยตรงกับแผนนักหรอกครับ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ ดีกว่ามาก 

เพราะแม้ไม่ตรง แต่มีมากกว่า 50% ที่เป็นตามแผน  อะไรไม่ตรงผมก็ปรับใหม่ ปรับอยู่เสมอ

แล้วชีวิตเราก็ดี มีทิศทางที่ชัดเจน มันดีมากนะ  ดีจนอธิบายไม่ถูก ไม่ทำไม่รู้

  .

ที่สำคัญไม่ประมาทครับ ผมพูดเสมอๆ ว่าถ้าผมตายวันนี้ ผมก็ไม่มีกังวล ตายได้เลย อะไรที่อยากทำก็ทำหมดแล้ว ทำประโยชน์สังคมก็ทำพอสมควรแล้ว ดูแลบุพการีแล้ว ดูแลคุณตาด้วย ...ตายสบายๆ ชัวส์  ไม่เป็นภาระคนข้างหลังด้วย 

และการมีชีวิตอยู่ในวันนี้ มีความสุขดี คนรู้จักผมมักอิจฉาชีวิตผม ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร แต่สุขสบาย

ตายเมื่อไหร่นี่ไม่สำคัญแล้วสำหรับผม สำคัญว่า อยู่ นี่อยู่ให้ดี มีความสุข ซึ่งก็ทำได้แล้ว

ผมเห็นคนรอบข้างหลายคนเลย ที่บ่นถึงความทุกข์ในชีวิต ผมก็สงสารนะ และขอบอกตรงนี้ คิดครับ คิดวางแผนตามที่ผมบอกไปนี่แหละ

คิดแล้วลงมือทำ แรกๆ จะงงๆ ไม่เป็นไร คิดไปก่อน ทำไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับไป แล้วหนทางชีวิตจะค่อยๆ กระจ่างขึ้นเอง 

แล้วชีวิตจะดีขึ้น ที่บ่นๆ นี่จะน้อยลงเอง


อ่านจบแล้ว ลองถามตัวเองนะ วางแผนชีวิตจนลมหายใจสุดท้ายหรือยัง...  ถ้ายัง เริ่มเลยดีไม๊

หมายเลขบันทึก: 680433เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2020 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2020 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท