๑,๑๕๒ การเรียนรู้ว่า...กว่าจะมาเป็นข้าว..


กิจกรรมการทำนาในปีการศึกษานี้ ผมตั้งใจจะใช้แปลงนาเป็นสื่อสอนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และจะใช้ระบบนิเวศน์จากแปลงนาเป็นสื่อเสริมกระบวนการเรียนการสอนด้วย

          กิจกรรมการทำนาของโรงเรียน ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเห็นว่ามีที่ดินมีน้ำเพียงพอ จึงไม่ต้องรออะไรมาก ทุกอย่างดูพร้อมไปหมด

      เคยทำทั้งนาโยน นาหว่านและนาดำ..นาดำได้ผลดีที่สุด ถ้ามีน้ำสมบูรณ์ มีเว้นว่างอยู่ปีเดียวที่หยุดทำนา คือปีการศึกษา ๒๕๖๒ เนื่องจากภัยแล้งรุนแรงมาก น้ำในสระไม่พอที่จะวิดน้ำเข้านา

          การทำนาทุกครั้ง พันธุ์ข้าวจะได้จากผู้ปกครองและผู้ปกครองอีกนั่นแหละ ที่มาช่วยชี้แนะให้กิจกรรมมีความราบรื่นและประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆเลยว่า ถ้าไม่มีชุมชนผู้ปกครองเข้ามาช่วยก็ไม่มีทางทำได้

          ช่วงเวลาที่เหมาะมากในการทำนาโรงเรียน ก็คือเดือนสิงหาคม จึงเป็นที่มาของพันธกิจที่สำคัญของงาน “วันแม่” ถ้าได้ทำนาวันแม่ก็จะได้เก็บเกี่ยวในวันพ่อนั่นเอง

          จึงเริ่มต้นเตรียมการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จะทำนาแบบไหน จุดเริ่มต้นจะเหมือนกัน ต้องไถเตรียมดิน จากนั้นก็ไถปั่นจนผืนดินในนาเละเหลว แล้ววิดน้ำเข้าไปเติมเต็มให้พอดี เพื่อให้ปักดำได้ง่าย

          ก่อนทำนา..บริเวณแปลงนาจะปลูกผัก บางปีจะใช้เป็นที่ทิ้งใบไม้ทับถมให้เน่าเปื่อย ตั้งใจเอาไว้เป็นปุ๋ยคอกให้ต้นข้าว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นแบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ประหยัดมากๆ

          กิจกรรมทำนาในแต่ละปี อาจดูไม่ยุ่งยาก เพราะพื้นที่ปลูกข้าวมีไม่มาก ทำเป็นแปลงเล็กๆคล้ายๆแปลงสาธิต แต่หากเป็นผืนนากว้างใหญ่เหมือนของชาวบ้านทั่วไป ผมคิดว่าน่าจะยุ่งพอสมควร

          อย่างไรก็ตามเมื่อดำนาไปแล้วนั้น กระบวนการหรือขั้นตอนระหว่างทาง ต้องดูแลและบำรุงรักษา เพื่อมิให้ข้าวขาดน้ำ เมื่อข้าวตั้งท้องและออกรวงเต็มที่ ก็ต้องสังเกตเพื่อหาช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

          เท่าที่ผ่านมา ก็ได้สังเกตพบความสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ หลังจากดำนาเสร็จแล้ว ต้นกล้าดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อต้นข้าวเติบโต กอข้าวจะโบกสะบัดพริ้วไหว และเมื่อออกรวงเหลืองอร่าม ก็ยิ่งงดงามนัก

          ๔ – ๕ ปีมานี้ การปลูกข้าวเริ่มมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่สื่อให้นักเรียนเห็นถึงกระบวนการผลิตข้าว..กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากินนั้น ผ่านกระบวนการอย่างไรบ้าง ยากลำบากแค่ไหน

          คำกล่าวที่ว่า..”ข้าวทุกจานอาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่า” ก็คงทราบกันดี แต่ถ้าได้ลงมือปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ให้เห็นภาพที่มาของข้าว นักเรียนก็จะมีความตระหนักยิ่งขึ้น

          นอกเหนือจากความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้ลงน้ำย่ำดินเลน นักเรียนยังได้รับประสบการณ์ตรง จากที่เคยเห็นชาวนา..ทำงานกันอยู่ในนา..แต่นักเรียนไม่มีโอกาสได้ทำ..วันนี้ได้ดำนากับมือ..จึงดูตื่นเต้นไม่น้อย

          ผู้ปกครองที่เป็นมืออาชีพจะมาช่วยแนะนำและลงมือดำนาไปด้วยกัน..จะบอกตลอดว่าถือต้นกล้าอย่างไร ปักดำอย่างไรต้นกล้าจึงจะไม่ล้ม ควรจะปักดำถี่ห่างแค่ไหน และเพื่อความสวยงามจะต้องไม่รีบร้อน

          ทุกปี..ผมจะคอยส่งเสริมและให้กำลังใจนักเรียนอยู่บนคันนา คอยบัญชาการให้ผลงานการดำนาออกมาดี..หลายคนก็คงคิดว่า ผอ.เก่งมากๆ รู้ทุกอย่างเลย..แต่แท้จริงแล้ว ผอ.ก็ดำนาไม่เป็นเหมือนกัน

          นักเรียนชั้น ป.๖ บางคน เก่งกว่า ผอ.เสียอีก ดำนาอย่างทะมัดทะแมง แถมยังแนะนำเพื่อนๆได้อีกด้วย ปีนี้ เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา ไหนๆก็ใกล้จะเกษียณแล้ว ตั้งใจเรียนรู้ไปกับผู้ปกครองและนักเรียนนี่แหละ

          ด้วยความกลัวเศษหินเศษไม้ที่อยู่ในน้ำ ผอ.ก็เลยใส่รองเท้าบู๊ท เหยียบย่ำลงไปในน้ำ ยืนให้มั่นคงและแข็งแรง คว้าต้นกล้ามาได้ สายตาก็มองผู้ปกครองว่าเขาดำนาอย่างไร จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติตามทันที

          ก้มลงปักดำอย่างช้าๆ และเนิ่นนาน พอเงยหน้าและยืดตัวขึ้น รู้สึกปวดหลังมากมาย..จึงเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือที่มาของคำว่า..ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ..อย่างแท้จริง

          ไม่ไหวแล้ว..ต้องรีบก้าวเท้าขึ้นไปบนคันนา เท้าเหยียบคันนา แต่รองเท้าบู๊ทยังติดอยู่ในดินเลนใต้น้ำ ผลที่ตามมาก็คือลื่นล้มตกน้ำ เรียกเสียงฮาเฮจากนักเรียนมิใช่น้อย

          กิจกรรมการทำนาในปีการศึกษานี้ ผมตั้งใจจะใช้แปลงนาเป็นสื่อสอนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และจะใช้ระบบนิเวศน์จากแปลงนาเป็นสื่อเสริมกระบวนการเรียนการสอนด้วย

          เมื่อถึงช่วงเติบโตเต็มวัย ข้าวชูช่อใบเขียวไสวไปจนถึงออกรวง จะน้อมตัวลงก็คงจะต้องบอกนักเรียนให้เข้าใจคุณธรรม ให้เข้าถึง..ความอ่อนโยน..แต่จะต้องไม่อ่อนแอ..

          ดำนาเสร็จแล้ว..ทิ้งไว้ซึ่งข้อคิดที่ว่า..”การเรียนรู้”ไม่ได้สำคัญว่าอายุมากหรือน้อย..แต่อยู่ที่ความพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับความไม่รู้ของตนเองมากน้อยแค่ไหน..และใส่ใจต่อการมีวินัย เพื่อฝึกฝนตนอย่างสม่ำเสมอเพียงใด?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๒  สิงหาคม  ๒๕๖๓

หมายเลขบันทึก: 680427เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2020 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2020 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท