กระบวนการพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียน สอนหลักการจัดการการเปลี่ยนแปลง



การที่ สพฐ. และ สภาการศึกษา ดำเนินการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทย ให้เข้าสู่ competency-based education   เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยิ่ง    และผมเคยไปร่วมให้ความเห็นครั้งหนึ่ง ดังบันทึก (๑)   

แต่เมื่อได้รับเชิญให้ “เป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์(ร่าง)กรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับ ป. ๔ – ๖”    ผมก็ได้เห็นจุดอ่อนของการดำเนินการ    ซึ่งตกหลุมที่ผมเคยกล่าวไว้ใน (๑)ไม่ผิดเพี้ยน คือตกหลุมรายละเอียด    เพราะสภาการศึกษาดำเนินการโดยมีคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภายนอก   

พูดตรงๆ การขับเคลื่อนการศึกษาไทยจาก content-based สู่ competency-based ตกหลุม mis-management    คือจัดการแบบให้น้ำหนักผิดที่    คือให้น้ำหนักที่การกำหนดกรอบสมรรถนะโดย “ผู้เชี่ยวชาญ”    “ผู้ไม่เชี่ยวชาญ” อย่างผมจึงเห็นช่องโหว่ทันที    และน่าจะเป็นช่องโหว่ที่ก่อความล้มเหลวให้แก่ระบบการศึกษามาช้านาน   

ช่องโหว่นี้คือ การให้น้ำหนักแก่ “นวัตกรภาคทฤษฎี”     มากเกินไป    ละเลยการใช้พลังของ “นวัตกรภาคปฏิบัติ”    โดยที่นวัตกรกลุ่มหลังหมายถึงครูผู้มีผลงานเด่นในการสร้างการเรียนรู้คุณภาพสูงแก่ศิษย์    วงการศึกษาไทยละเลยพลังนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่กล่าวอย่างนี้ก็มีส่วนผิด    เพราะผมเห็นในเอกสารว่า รศ. ประภาภัทร นิยม ได้นำประสบการณ์จากโรงเรียนรุ่งอรุณมาเป็นข้อมูลนำเข้าด้วย    เป็นส่วนที่น่าชื่นชม   

ผมไม่ทราบว่า นอกจาก รศ. ประภาภัทร    ทีมงานเขามี “ผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้จริงจากการปฏิบัติ” ท่านอื่นอีกหรือไม่    ซึ่งเท่าที่ผมรู้จักก็มี ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง แห่ง รร. ลำปลายมาศพัฒนา    ครูใหม่ วิมลศรี ษุศิลวรณ์    และครูปาด ศีลวัต ษุศิลวรณ์ แห่ง รร. เพลินพัฒนา     ผอ. ดร. ศุภโชค ปิยะสันต์  แห่งโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี    ดร. แพร นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร  แห่งมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม  เป็นต้น    ท่านเหล่านี้ “ทรงคุณวุฒิ” กว่าผมมากมายนัก ในเรื่องนี้     หากทางสภาการศึกษาและ สพฐ. ใช้ท่านเหล่านี้ หรือท่านอื่นที่เป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิภาคปฏิบัติ” อยู่แล้ว     ข้อวิจารณ์ของผมก็จะตกไป     

ในเชิงของการจัดการให้ระบบการศึกษาไทยพัฒนาสู่ การศึกษาที่ใช้สมรรถนะเป็นฐาน    ผมมองต่างจากทีมของ สพฐ. และ สกศ. มาก    ผมมองว่า ต้องจัดการแบบมี “วงจรการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ”    โดยเน้นที่ความรู้จากการปฏิบัติมากกว่าความรู้เชิงทฤษฎี ในสัดส่วน 60:40 หรือ 70:30    แต่วงการศึกษาไทยดำเนินการในสัดส่วน 100:0    คือไม่ให้น้ำหนักของความรู้จากผู้ปฏิบัติเลย

เรายกย่องนักทฤษฎีมากเกินไป    (อย่าลืมนะครับ ว่าในเรื่องการศึกษา ผมก็เป็นนักทฤษฎี) 

และเรามอง ความรู้ หรือ วิธีการจัดการการเปลี่ยนแปลง แบบ static  หรือแบบ fixed mindset เกินไป     ละเลยพลังการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    ที่เป็นทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ 

Double-loop และ triple-loop learning ไม่มีที่ยืนเลย  ในวงการบริหารการศึกษาไทย     น่าเสียดาย

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679886เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท