๑,๑๕๐ ๑๔ ปีผ่านไป..ในโรงเรียนขนาดเล็ก


" แน่นอนที่สุด..มองไปทางไหน..ก็จะเห็นในสิ่งที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน อาคารห้องสมุด อาคารประกอบและกิจกรรมหลากหลายที่น้อมนำคำที่พ่อสอน... ผมก็ได้แค่ความภูมิใจและสุขใจ ไม่เคยทะนงตนว่าเก่ง เพราะมันเป็นหน้าที่ การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอะไรมันก็ฉุดไม่อยู่..การทุ่มเททั้งกายและใจ ให้เวลากับโรงเรียนล้วนเป็นมงคลของชีวิต"

           ผ่านไปอย่างที่รู้สึกว่ารวดเร็วเหลือเกิน..ถามตัวเองว่าที่ผ่านมาอยู่ทนหรือทนอยู่ ความจริงก็คือทั้งสองอย่าง เพราะต้องการพิสูจน์ตนเองว่าเราก็ทำได้..

      แล้วที่ทนอยู่..ก็เพราะจะไปไหนได้ ในเมื่อมีอาชีพเดียวคือรับราชการ ก็ต้องทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่มีอาชีพใดในชีวิตนี้ที่จะมีรายได้ดีเท่านี้อีกแล้ว

          จำได้อย่างขึ้นใจในวันนั้น..๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เดินเข้าสู่รั้วโรงเรียนเล็กด้วยความสมัครใจ ไม่เคยคิดว่าจะไปตายดาบหน้า..เพราะพกพาศาสตร์พระราชามาเต็มกระเป๋า

          สัมผัสแรกที่เห็นดินและสระน้ำ..บอกได้เลยว่าความขยันอดทน และพอเพียงเท่านั้น จะนำพาให้ที่นี่อยู่รอด ถึงแม้จะมีครูแค่ ๓ คน และเด็กไม่ถึง ๕๐ คนก็ตาม

          อาคารเรียนและแหล่งเรียนรู้ก็มีไม่เพียงพอ ชุมชนต้องไปงอนง้อถึงจะเข้ามาร่วมพัฒนา หน้าตาเด็กก็ดูมอมแมม แถมอ่านหนังสือไม่ออกเพราะถูกปล่อยปละละเลย..มานาน

          ภาพในตอนนั้น..โรงเรียนเล็กๆเริ่มจะถอยหลังเข้าคลองแล้ว มันจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า จะปล่อยให้เป็นอีกโรงเรียนที่มีปัญหาและล้าหลัง ดั่งที่เขาว่ากระนั้นหรือ?

          ทำไม..ไม่ทำงานบนอุปสรรคและความขาดแคลนทั้งหลายเล่า จะรอและเรียกร้องสิ่งใดให้เสียเวลา..พระบรมราโชวาทของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เมื่อจำใส่ใจ..ก็ต้องรีบเร่งปฏิบัติให้จงได้..

          ในเส้นทางการพัฒนา..ที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องแข่งหรือดีกว่าใคร เพียงแค่ว่าเอาตัวให้รอด บนความสง่างาม สะอาดและร่มรื่นก็พอแล้ว ยอมทุ่มสุดตัวแบบทรีอินวันกันเลยทีเดียว

          ดำรงตำแหน่ง ผอ.รร. ครูผู้สอนและภารโรง..ในวันเดียวกัน..จนเคยชินมาถึงทุกวันนี้ ถามว่าถ้าไม่ยอมลุยกันถึงขนาดนี้ มันจะเป็นโรงเรียนไหม? จะได้รับการยอมรับจากชุมชนผู้ปกครองหรือไม่? จึงไม่เคยแยแสในคำพูดหรือสายตาผู้คน..หัวโขนบางครั้งก็กระจอกงอกง่อย..ไม่จำเป็นเลย

          ผมไม่เคยพูดว่าผมโชคดี เพราะทุกอย่าง..มีแผนและลงมือปฏิบัติล้วนๆ สร้างและพัฒนากับคณะครู แบบพี่งพาตนเองและขอการสนับสนุนช่วยเหลือจากเพื่อนๆและภาคเอกชนทั้งสิ้น

          ผลก็คือดีวันดีคืน..เข้าตาเขตพื้นที่ฯที่เคยยุยงส่งเสริมให้ยุบควบรวมในปีพ.ศ.๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ อะไร?ที่ทำให้มองว่าโรงเรียนมีดีและไปได้สวยงามตามท้องเรื่อง..

          ที่ประจักษ์ชัดเจนก็คือผลสัมฤทธิ์และการอ่านของนักเรียน สภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนรางวัล.Best Practices ...โรงเรียนขนาดเล็กที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี...

          แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาเอกสารมากมาย..แบบไม่ต้องเอาเป็นเอาตายเรื่องรางวัล และผมก็มอบหมายงานครูแต่พอสมควร ให้ครูอยู่ห้องเรียนนานๆ ผู้บริหารก็ทำงานให้ดู อยู่ให้เห็นเท่านั้นเอง

          ปี ๒๕๕๘..เริ่มมีครูมากขึ้น จากเงินรายได้สถานศึกษาที่เอกชนมอบให้อย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๖๐ ผมได้รับรางวัลพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์จากในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ก่อนได้รับรางวัลเพียง ๑ วัน ผอ.เขตฯมอบครูอัตราจ้างให้ ๑ คน..เกิดจากพระบารมีของพระองค์ท่านแท้ๆ

          จากนั้น..อาคารเรียนหลังใหม่ ในชื่อ.."อาคารออมสิน”ก็ตามมา..พร้อมๆกับคณะศึกษาดูงานที่มากันอย่างไม่ขาดสาย..ภูมิใจที่เขาไม่ได้มาดูรางวัล..แต่มาฟังแนวคิดและดูการปฏิบัติจริง ที่ไม่เคยนิ่งดูดาย..ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสเสมอ

          ทุกวันนี้..เด็กเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ถึงขนาดได้ครูเพิ่มทั้งครูประจำการและครูอัตราจ้าง มีครูพิเศษครบครัน รวมผมด้วยก็ ๑๒ คน ซื่งไม่ใช่วิสัยที่โรงเรียนเล็กๆทั่วไปจะทำได้..

          แน่นอนที่สุด..มองไปทางไหน..ก็จะเห็นในสิ่งที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน อาคารห้องสมุด อาคารประกอบและกิจกรรมหลากหลายที่น้อมนำคำที่พ่อสอน...

          ผมก็ได้แค่ความภูมิใจและสุขใจ ไม่เคยทะนงตนว่าเก่ง เพราะมันเป็นหน้าที่ การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอะไรมันก็ฉุดไม่อยู่..การทุ่มเททั้งกายและใจ ให้เวลากับโรงเรียนล้วนเป็นมงคลของชีวิต

          ผมบอกกรรมการโรงเรียนอยู่เสมอว่า..ผมไม่ได้เป็นต้นแบบให้ใคร ไม่ใช่ผอ.รร.ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน..แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้มองก็คือ..ผมเป็นข้าราชการ..ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ ไม่ทำงานพัฒนาโรงเรียน จะให้ผมไปทำอะไร?

          หากไม่เชื่อ..ก็ลองสังเกตและติดตามผมต่อไป..ในอีก ๓ ปีที่เหลือ ถ้าไม่ตายหรือลาออกเสียก่อน..มีอะไรดีๆให้ดูอีกเยอะ..เชื่อดิ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๙  กรกฎาคม  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 679668เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 06:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท