โควิด ๑๙ ช่วยเร่งการเปลี่ยนโฉมมหาวิทยาลัย



ที่จริงมหาวิทยาลัยทั่วโลกถึงคราวต้องเปลี่ยนใหญ่ (transform)    โดยที่รู้ๆ กันว่ามหาวิทยาลัยมีธรรมชาติอนุรักษ์นิยม เปลี่ยนแปลงยาก    แม้ในทางทฤษฎีจะพูดกันว่า ยุคนี้เป็นยุค disruption   แต่ก็คาดกันว่าระบบอุดมศึกษาจะเปลี่ยนช้าๆ  

บัดนี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด ๑๙ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของระบบงบประมาณของรัฐบาล    และเดาล่วงหน้าว่างบประมาณในช่วงเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า จะถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ของสังคมและเศรษฐกิจ    มากกว่าเพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาว

เดาว่า งบสนับสนุนอุดมศึกษาจะลดลงอย่างมาก    ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และการปรับตัวที่สำคัญที่สุดคือ ปรับเข้าหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน   เข้าเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศ    ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ    และหารายได้จากการทำงานนั้น  

ยุคหารายได้จากการขายปริญญา ที่เริ่มเมื่อราวๆ สองทศวรรษก่อน ได้จบลงแล้ว   

มนต์ขลังของอุดมศึกษาในการทำหน้าที่แนว diffusion mode ได้จบลงแล้ว    บัดนี้ มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดได้ด้วยการทำงานใน engagement mode (1)    คำทำนายของผมมาเร็วกว่าที่คิด     ด้วยพลังของ โควิด ๑๙

บัดนี้ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยจะขึ้นกับ engagement competencies ของแต่ละมหาวิทยาลัย    ซึ่งหมายถึงสมรรถนะในการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนากิจการต่างๆ ของบ้านเมือง     ทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่    ทั้งกิจการภาครัฐ และกิจการภาคธุรกิจเอกชน      

ผมเอาตัวอย่างของ มช. มาให้ดู    ในการประชุมสภา มช. เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓    มีการนำเสนอวาระเรื่อง ๕ โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่าน สู่วิถีชีวิตใหม่ หลัง Covid-19    ได้แก่  (1) CMU Engagement Plug & Play  (2) Learning & Working with CMU  (3) CMU Start-up  (4) CMU Knowhow for All (5) CMU Pilot Plant for Value-added    จะเห็นว่า ทั้ง ๕ โปรแกรม สะท้อนวิธีคิดแบบ outside-in    คือเอาความต้องการของผู้คนในสังคมเป็นตัวตั้ง    เอาความเข้มแข็งภายในมหาวิทยาลัยไปหนุนชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว     ที่สำคัญ มีการสร้าง platform การทำงานเพื่อเป้าหมายนั้น

 จาก ๕ โปรแกรม สามารถสร้าง learning loop และพัฒนาเป็น Engagement Platform ได้    สู่การเป็น socially-engaged university   ซึ่งหมายความว่า มช. ใช้ engagement partners เป็นพลังในการทำภารกิจหลักร่วมกับภาคีหุ้นส่วนเหล่านั้น    ช่วยสร้าง relevance ให้แก่ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย  

ผมขอเสนอว่า  การจัดการการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้หลักการ Pareto ที่เรียกว่า กฎ 20:80    คือผลงานสำคัญร้อยละ ๘๐ ดำเนินการโดยคนร้อยละ ๒๐ ขององค์กร    คนเหล่านี้เป็น change agent    ผู้บริหารที่ต้องการหนุนการเปลี่ยนแปลงต้องสร้างกลไกหนุนคนร้อยละ ๒๐ นี้ ให้ทำงานสะดวก    ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๘๐ ไม่ต้องไปบีบคั้นเขามากนัก    เพื่อจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง    เพียงแต่สร้างกิจกรรมเพื่อเปิดช่องให้คนกลุ่มร้อยละ ๘๐ ให้ปรับตัวเข้ากลุ่ม change agent เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ     

    

จะเห็นว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด ๑๙    สร้างความยากลำบากของบ้านเมือง ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อย่างรุนแรง    มีการลงทุนภาครัฐเพื่อใช้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกบรรเทาความยากลำบากนั้น    และสร้าง นิวนอร์มัล ของสังคม    ช่วยให้มหาวิทยาลัยได้เรียนรู้และพัฒนา social engagement platform     รวมทั้งพัฒนาวัฒนธรรมการทำหน้าที่หลักแบบทำร่วมกับหุ้นส่วนสังคม   

มีคนเตือนว่า ในสภาพความยากลำบากด้านการเงินของรัฐบาล    จะเกิดสภาพ “รัดเข็มขัด” และเงินสนับสนุนอุดมศึกษาจะลดลงอย่างรุนแรง    ทำให้ผมนึกในใจว่า นั่นคือลมส่งการ transform อุดมศึกษา    ให้เข้าสู่การดำรงอยู่โดยมีรายได้จากการทำงาน   ที่เป็นงานพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาพื้นที่ ร่วมกับหุ้นส่วน

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679535เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท