โรงพยาบาลบ้านตาก เริ่มก่อตั้งเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยปี 2516
ปรับเป็นโรงพยาบาลอำเภอปี 2519 ปรับเป็นโรงพยาบาลชุมชน 10 เตียงปี
2527 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงปี 2539
ยกฐานะโดยการพึ่งพาชาวบ้านเป็น 60 เตียงปี 2544
นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 32 ปี
ในเวลาดังกล่าวนี้มีแพทย์ที่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากถึง
23 คน คือ
1. นพ.ทองถม ชลอกุล พ.ศ.2516 - 2517
2. พญ.นันทนา อังศุมาลิน พ.ศ.2517 -
2518
3. นพ.นิรันดร์ ตัณฑชุณห์ พ.ศ.2518 - 2519
4. นพ.ไพรัช ธุวเศรษฐกุล พ.ศ.2519 ( 4 เดือน )
5. นพ.สุปรีชา ธนะมัย พ.ศ.2519 ( 4 เดือน
)
6. นพ.นันทศักดิ์ โชติวนิช พ.ศ.2519 ( 4 เดือน
)
7. นพ.วทัญญู ปรัชญานนท์ พ.ศ.2519
- 2520
8. นพ.ธเนศ
เศรษฐพงษ์วนิช พ.ศ.2520 – 2521
9. นพ.สุรชัย
ว่องวิไลรัตน์ พ.ศ.2521 – 2522
10. นพ.ละลิ่ว
จิตต์การุณ พ.ศ.2522 – 2523
11. นพ.อภิศักดิ์
เหลืองเวชการ พ.ศ.2523 – 2525
12. นพ.สุวัฒน์
จันทรเบญจกุล พ.ศ.2525 – 2527
13. นพ.สุทธิชัย
โชคกิจชัย พ.ศ.2527 – 2529
14. นพ.ประเสริฐ สีทองส่งแสง พ.ศ.2529 –
2530
15. พญ.ปริญญา คล่องวราการ พ.ศ.2530 –
2531
16. นพ.ประกิจ
เปี่ยมเพชรกุล พ.ศ.2531 – 2532
17. นพ.มรุต พนธารา พ.ศ.2532 – 2533
18. นพ.สมชาย
ตระกูลโชคเสถียร พ.ศ.2533 – 2534
19. นพ.สัญชัย
โกศลกิติวงศ์ พ.ศ.2534 – 2535
20. นพ.โสภณ
ตันชัยเอกกูล พ.ศ.2535 – 2536
21. นพ.วีระเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล พ.ศ.2536 –
2538
22. นพ.อนุเวช
วงศ์มีเกียรติ พ.ศ.2538 – 2540
23. นพ.พิเชฐ
บัญญัติ พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน
ก็เป็นสิ่งที่น่าแปลกเหมือนกันเพราะโรงพยาบาลบ้านตากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแค่
24 กิโลเมตร เดินทางประมาณ 15-20 นาที ก็ถึงตัวเมืองแล้ว
แต่หมอก็หมุนเวียนเปลี่ยนบ่อยมาก
ยิ่งแพทย์ประจำด้วยแล้วจะเปลี่ยนเกือบทุกปี เมื่อ2-3 ปีก่อนเปลี่ยนทุก
2-3 เดือนเพราะเป็นแพทย์หมุนเวียน
ผมรู้สึกว่าต้องมีอะไรแปลกๆ
พอมาอยู่จริงก็เริ่มรับรู้ว่าการจัดสรรทรัพยากรที่ได้รับจะน้อยเพราะจังหวัดตากมีพื้นที่อำเภอชายแดนที่ต้องดูแลเยอะ
การจัดสรรทรัพยากรต้องไปแก้ไขปัญหาชายแดนไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ
สิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์
ผมมาอยู่ที่บ้านตากเป็นโรงพยาบาลที่ไม่มีแฟลตพยาบาลเลยทั้งๆที่มันน่าจะอยู่ในแพ็คเกจของการขยายโรงพยาบาล(ทราบทีหลังว่าโยกไปให้โรงพยาบาลอื่นก่อน)
บ้านพักมีน้อย
รถส่งผู้ป่วยมีคันเดียวเมื่อปีก่อนผมมาได้งบซื้อรถอีกคัน
สสจ.ขอไปให้โรงพยาบาลข้างเคียงก่อน เป็นโรงพยาบาลเดียวของประเทศ ณ
ขณะนี้ก็ (ปี 2548) ยังไม่มีแฟลตพักพยาบาล ต้องปรับปรุงบ้านพัก1-2
ให้มีห้องยูนิตละ 3 ห้องเพื่อให้พยาบาลอยู่กันคนละห้อง
ในขณะที่บางโรงพยาบาลมีบ้านพักและแฟลตมากขนาดที่อยู่กันคนละหลังก็ยังมีเหลือว่างอีก
ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลเดียวของจังหวัด
เครื่องมือทางการแพทย์ไม่ค่อยมีเพราะหากบริการไม่ได้คนไข้ก็ไปโรงพยาบาลจังหวัดใกล้นิดเดียว
ทำให้โรงพยาบาลไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่แถวหน้าแม้ในจังหวัดเดียวกัน
หัวหน้าพยาบาล(พีปริญฎา)
เคยคุยให้ฟังว่าอดีตผู้อำนวยการท่านหนึ่งเคยพูดว่า
โรงพยาบาลบ้านตากนี่พัฒนายากเพราะพื้นที่มันเป็นเหว (เหวล้อมรอบเลย)
กว่าจะโผล่พ้นเหวมาได้ก็หมดแรงแล้ว แต่ตอนนี้ผมถมเหวเกือบหมดแล้ว
คนที่เคยอยู่และย้ายไปที่อื่นกลับมาจะงงมากกว่าทำไมพื้นที่มันเปลี่ยนไป
แต่สิ่งที่พูดนี้ก็ไม่ใช่ว่าตอนนั้นที่ผมมาอยู่ใหม่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลบ้านตากจะแย่มาก
ก็มีการพัฒนาอยู่ต่อเนื่องโดยเฉพาะคุณหมออนุเวช
ที่เป็นผู้อำนวยการก่อนผมจะพัฒนาไว้มากโดยการหาเงินบริจาค
เพิ่มบริการต่างๆ พอผมมา 6 เดือนแรกผมก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร
ทำตามและต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้ว
(ช่วงที่มาก็เครียดเหมือนกันกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอกับที่คุณหมออนุเวชได้ทำและฝากฝังไว้)
ทำให้ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่
เพราะหลายที่เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ก็เลิกของเก่าแล้วทำตามใจผู้บริหารใหม่
เผอิญผมเป็นผู้อำนวยการคนเดียวของบ้านตากที่เคยเป็นผู้อำนวยการมาก่อนแล้ว
จึงมีประสบการณ์อยู่บ้าง และใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัวถึง 6
เดือนกว่าจะริเริ่มอะไรใหม่ๆ
ข้อจำกัดเหล่านี้ ผมได้นำมาเป็นตัวกระตุ้นใจเจ้าหน้าที่ให้สู้
ให้ฮึกเหิม ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลให้ได้ภายในข้อจำกัดที่มี
เป็นพลังผลักดันในการพัฒนาโดยการพยายามสร้างศรัทธาจากชาวบ้าน
ปรับระบบบริการให้ดีขึ้น ตอบสนองชาวบ้านได้มากขึ้น รักษาคนจนให้ดี
เพราะหากรักษาคนจนดี เขาจะไปพูดต่อให้คนอื่นๆในหมู่บ้านฟัง
ขนาดคนจนรักษาฟรียังดูแลดี
คนมีฐานะเขาก็คิดได้ว่าถ้าจ่ายเงินหรือเบิกได้ก็น่าจะดีด้วยเช่นกัน
จึงเป็นลักษณะ “คนจนศรัทธา พาคนรวยมาบริจาค”
ทำให้เราสามารถพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากด้วยเงินบริจาคกว่า 20
ล้านบาทและล่าสุดสามารถตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากขึ้นมาได้โดยเงินอีกเกือบ
5 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้ที่มากระตุ้นเจ้าหน้าที่
ถือได้ว่าเป็นการเขย่าองค์การ ตามตัวแบบจตุรภาคการจัดการความรู้ของ
Snowden นั่นเอง