ผู้นำก่อการครู กับการผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑



วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการผู้นำแห่งอนาคต สานพลังเครือข่ายผู้นำร่วมสร้างสุข ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส    ติดใจงานส่วนที่เรียกว่า ผู้นำก่อการครู    ที่สื่อว่า ต้องการพัฒนาครูให้เป็นผู้กระทำ (agent) หรือผู้ก่อการ   

ผมเคย reflect เรื่องหน้าที่ของการศึกษาในการสร้างคนที่เป็น agent ที่ (๑)    สื่อว่า สถาบันผลิตครูทั้งหมด ควรทำหน้าที่ผลิต “ผู้ก่อการครู”   

ผมตีความ (ไม่ทราบว่าตีความถูกหรือไม่) ว่า ครูที่สถาบันผลิตครูไทยผลิตอยู่ในปัจจุบัน  เป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๐    ผลิตตามชุดความคิดการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐   คือ สร้างคนออกไปเป็นแรงงาน ทำงานในระบบอุตสาหกรรม    ที่ต้องทำงานตามมาตรฐาน    ทำตามกฎกติกาที่ผู้อื่น (หน่วยเหนือ) กำหนด

แต่ในศตวรรษที่ ๒๑ เราต้องการคนที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์  เป็นคนกล้าคิดกล้าลอง    ไม่กลัวผิด     และที่สำคัญ เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต  ที่เรียนรู้จากการ่กระทำ  ซึ่งก็คือเรียนรู้จากการเป็น “ผู้ก่อการ”   

ซึ่งไม่ใช่ผู้ก่อการแนวล้มล้าง    แต่เป็นผู้ก่อการแนวสร้างสรรค์    คือก่อการเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑    เป็นผู้ก่อการดี  ไม่ใช่ก่อการร้าย    

ซึ่งคุณลักษณะสำคัญที่สุดคือ มีจริต และมีทักษะ ในการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง (วิมังสา)    โดยมีเป้าหมายที่การทำประโยชน์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป    ไม่ใช่เน้นเรียนรู้เพื่อเอา  แต่เน้นเรียนรู้เพื่อให้   

สถาบันผลิตครู สร้างผู้ก่อการครูที่มีจริต (ฉันทะ) และทักษะ ในการเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู    นำมาปรับปรุงการทำหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่อง    โดยทำหน้าที่ครูแนวพัฒนาต่อเนื่องร่วมกับเพื่อนครู  ผู้บริหาร  นักเรียน  ผู้ปกครอง  นักวิชาการด้านการศึกษา  และคนในชุมชน

CQI (Continuous Quaity Improvement) เป็นแนวความคิดที่ไม่มีวันล้าสมัย   ยั่งยืนข้ามกาลเวลา     โดยความหมายต่อคุณภาพการศึกษาก็คือ    ผู้ปฏิบัติ (ครู) สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้เหนือความคาดหมายของนักวิชาการ    ในหลายกรณี ความรู้มาจากการปฏิบัติ    และความรู้จากการปฏิบัติมีส่วนปรับปรุงหรือปรับแปลงความรู้ทฤษฎี   

นั่นหมายความว่า ระบบการศึกษาไทยต้องให้เกียรติครู เสมอกับนักวิชาการด้านการศึกษา     ในส่วนที่เป็นเกียรติในโอกาสสร้างสรรค์ระบบการศึกษา และระบบการจัดการการศึกษา (Learning Management Systems)     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการชั้นเรียน    เพื่อให้นักเรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ลึกยิ่งขึ้น เชื่อมโยงยิ่งขึ้น   

หากมองจากมุมของผู้มีอำนาจ ครูเหล่านี้เป็น “กบฏ”    คือไม่ทำตามคำสั่งอย่างตายตัว โดยไม่ต้องคิด    แต่มองจากมุมของนักเรียน ครูเหล่านี้คือ แม่พระ พ่อพระ ของศิษย์    เพราะลมหายใจเข้าออกของท่านอยู่ที่การหนุนหรือส่งเสริมให้ศิษย์เรียนรู้ออกไปมีชีวิตที่ดี   เป็นคนดีของสังคม  ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง   

เราอยากได้ครูที่มีจิตใจใฝ่ลูกศิษย์  มากกว่าจิตใจใฝ่ผู้มีอำนาจเหนือ (อย่างในปัจจุบัน) 

แต่พูดอย่างนี้ก็ผิด    เพราะเป็นวิธีคิดแบบเลือกข้าง     มองสรรพสิ่งด้วยสายตาขั้วตรงกันข้ามที่ขัดกัน    โลกสมัยนี้ไม่ใช่โลกแห่ง either … or …   แต่เป็นโลกแห่ง both … and …     ซึ่งหมายความว่า ผู้มีปัญญาต้องมองเห็นวิธีทำให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) ระหว่างขั้วตรงกันข้าม   

ครูเพื่อศิษย์ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นอริต่อระบบ หรือต่อผู้บงคับบัญชา     ครูเพื่อศิษย์สามารถเป็น “ผู้ก่อการดี” ที่น่ารักได้    เป็นได้ทั้งขวัญใจศิษย์ และขวัญใจผู้บังคับบัญชา   

ระบบพัฒนาครูประจำการ ที่เรียกว่าระบบ professional development     จึงควรดำเนินการพัฒนาครูผู้ก่อการดี    สร้างครูที่เป็น agent ของการพัฒนาวิธีทำหน้าที่ครู ที่ศิษย์เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคุณลักษณะ จิตวิญญาณ ทักษะ และความรู้ ยิ่งๆ ขึ้นไป    เป็น CQI ต่อเนื่อง

PLC (Professional Learning Community) ของครู ก็เพื่อการนี้    PLC ใด ไม่เชื่อมโยงกับที่กล่าวมาข้างต้น เป็น PLC ปลอม

เราไม่ต้องการครูเฉื่อย ที่ทำงานตามที่ได้รับคำสั่งเท่านั้น    แต่ต้องการครูผู้ก่อการ

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 678392เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท